คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดย เศรณี นาคธน
ทีมจัดการกองทุนบัวหลวง
หลายคนต้องเคยได้ยินข่าวหรือข้อถกเถียงเกี่ยวกับหนี้สาธารณะทั้งในบ้านเราและต่างประเทศกันมามากพอดูแล้ว ซึ่งก็มีทั้งคนเชียร์และคนแช่งในทุกประเทศ ดังนั้น การที่บ้านเราเห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องนี้จึงไม่ได้แปลกอะไรเลย อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มักมองว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย จึงเป็นเรื่องห่างไกลตัวเราแต่ละคน แต่ Investopedia ระบุว่า “หนี้สาธารณะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงและมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
Investopedia ชี้ว่า เมื่อรัฐบาลมีค่าใช้จ่าย เช่น เงินเดือนข้าราชการ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายต่างๆ มากกว่ารายได้ซึ่งโดยหลักมาจากภาษี นั่นก็คือรัฐบาลเลือกดำเนินงบประมาณขาดดุล และเมื่อรายได้ไม่พอ รัฐบาลก็ต้องเติมส่วนที่ขาดไปด้วยการกู้ยืมในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล กู้จากธนาคาร ซึ่งจะเป็นหนี้ของภาครัฐที่ใช้ชื่อเรียกว่า “หนี้สาธารณะ”
คำว่า “หนี้สาธารณะ” ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าสาธารณชนเป็นเจ้าของ เป็นผู้รับผิดชอบ จะเปลี่ยนรัฐบาลไปกี่ชุด กี่พรรค หนี้สาธารณะก็จะเป็นหนี้ของประชาชนทุกคนอยู่ดี ประชาชนทุกคนจึงต้องมีภาระในการชำระหนี้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในรุ่นปัจจุบันหรือแม้แต่รุ่นลูกรุ่นหลาน
ดังนั้น การก่อหนี้สาธารณะที่ดีจึงต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศให้เกิดผลดีในระยะยาว เช่น การลงทุนในระบบสาธารณูปโภค การศึกษา เป็นต้น ไม่ใช่เพื่อนำมาสนับสนุนการบริโภคในปัจจุบันด้วยการให้รัฐสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีเพียงคนในรุ่นปัจจุบันเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์
ด้วยเหตุผลดังกล่าว การวัดว่าเงินที่กู้มานั้นคุ้มค่าและมีระดับที่เหมาะสมหรือไม่จึงควรเทียบกับผลประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคตจากการก่อหนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเมินได้ยาก นักเศรษฐศาสตร์จึงนิยมใช้ GDP เป็นฐานในการวัดระดับหนี้สาธารณะแทน
เรื่องนี้ Investopedia ชี้ว่า ที่จริงแล้ว GDP อาจไม่ใช่ตัวแทนที่เหมาะสม เนื่องจาก
1. GDP เป็นฐานที่กว้างเกินไป เนื่องด้วยหนี้สาธารณะเกิดขึ้นจากองค์ประกอบเพียงส่วนเดียวของ GDP ได้แก่ การใช้จ่ายภาครัฐบาล (G : Government Spending) เท่านั้น
2. ตัวเลข GDP อาจคลาดเคลื่อนจากการเก็บข้อมูลไม่ถูกต้อง นอกจากนั้น ตัวเลข GDP ยังไม่ได้รวมเอาผลกระทบอื่นๆ ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม เช่น ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยี ผลจากการทำลายสิ่งแวดล้อม ผลจากการทำผิดกฎหมายของภาคธุรกิจ เข้าไปด้วย
3. เงินที่รัฐบาลนำมาชำระหนี้ส่วนใหญ่มาจากรายได้ภาษี ไม่ใช่ GDP ถึงแม้ว่า GDP จะได้ชื่อว่าเป็นรายได้ประชาชาติก็ตาม
ทั้งนี้ มีบางกลุ่มเสนอวิธีการอื่นๆ ที่ควรนำไปวัดระดับหนี้สาธารณะได้ดีกว่า ได้แก่ การนำเอาหนี้ที่มีมาหารเฉลี่ยด้วยจำนวนประชากร เพื่อให้ประชาชนสามารถเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าตนเองมีภาระหนี้ที่ต้องร่วมรับผิดชอบอยู่เท่าไหร่
ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา รัฐบาลได้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอัตราการขยายตัวของหนี้สาธารณะสูงกว่าการเติบโตของประชากรไปแล้ว ซึ่งหมายความว่าภาระหนี้ที่ประชาชนแต่ละคนต้องร่วมกันชดใช้ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้นแล้ว Investopedia ยังระบุว่า หนี้สาธารณะยังเกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อชีวิตของเราโดยตรงอย่างน้อย 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่
1. ผลกระทบต่อมาตรฐานการดำรงชีวิต
การที่รัฐบาลก่อหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความเสี่ยงที่รัฐบาลจะผิดนัดชำระหนี้ก็เพิ่มขึ้นในสายตาของเจ้าหนี้และนักลงทุน ดังนั้น การที่รัฐบาลจะกู้ยืมต่อไปได้อีก รัฐบาลก็ต้องเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงให้แก่เจ้าหนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเงินภาษีที่เราต้องจ่ายให้รัฐบาลทุกปีกลับต้องนำไปจ่ายดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ แทนที่จะถูกนำมาพัฒนาประเทศหรือลงทุนในด้านอื่นๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนในประเทศ
2. อาจก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
เมื่ออัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมของรัฐบาลที่ถือว่าเป็นองค์กรที่มั่นคงที่สุดในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของบรรดาธุรกิจต่างๆ สูงขึ้นตามไปด้วย ท้ายสุดภาคธุรกิจจะผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้มาให้ผู้บริโภค ด้วยการเพิ่มราคาสินค้าและบริการ ทำให้เงินเฟ้อภายในประเทศสูงขึ้น
3. ผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ
การที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น อาจส่งผลเสียต่อภาวะอุปสงค์โดยรวมของประเทศ ตัวอย่างในกรณีของสหรัฐอเมริกาก็คือการที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อบ้านและราคาบ้านในตลาดตกลง ส่งผลให้ความมั่งคั่งของครอบครัวชาวอเมริกันลดลงตามไปด้วย เนื่องจากบ้านมีสัดส่วนประมาณ 25% ของสินทรัพย์ทั้งหมดในครัวเรือน และท้ายสุดก็ทำให้ชาวอเมริกันเลือกที่จะลดการใช้จ่ายลง
4. ปัญหาต่อการระดมทุนของภาคเอกชน
เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ได้ชื่อว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk-free) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนหันมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลแทนที่จะเลือกลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน หรือที่ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “Crowding Out Effect” และธุรกิจที่มีความต้องการระดมทุนก็จะมีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะต้องบวกค่าชดเชยความเสี่ยง (Risk Premium) ให้มากขึ้นไปอีก ซึ่งอาจทำให้เกิดอุปสรรคในการขยายการลงทุนได้
5. ผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติ
ตามที่ได้กล่าวในข้างต้นว่าเมื่อรัฐบาลมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยในสายตาของเจ้าหนี้และนักลงทุน สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ประเทศสูญเสียอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจและการเมือง จนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติในท้ายที่สุดได้
สรุป การก่อหนี้สาธารณะจะให้คุณประโยชน์ต่อประเทศได้อย่างสูงสุด หากผู้ดำเนินนโยบายมีการบริหารหนี้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาประเทศชาติในระยะยาว พร้อมด้วยการรักษาวินัยทางการคลัง ในทางกลับกัน การบริหารหนี้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไร้การวางแผน หนี้สาธาณะก็คงจะไม่แตกต่างอะไรกับระเบิดเวลาที่รอการปะทุและทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป