xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ ถกร่าง พ.ร.บ.งบฯ 57 วันที่ 2-3 กันยาฯ กมธ.วิสามัญ ตั้ง 22 ข้อสังเกต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิคม ไวยรัชพานิช (แฟ้มภาพ)
ประธานวุฒิสภา นัดสมาชิกประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2557 วันที่ 2-3 กันยายน ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนฯ ด้าน กมธ.วิสามัญฯงบฯ ตั้ง 22 ข้อสังเกตเสนอที่ประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 2-3 ก.ย.นี้ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 วงเงิน 2.525 ล้านล้านบาท ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรค 3 กำหนด ให้วุฒิสภาพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ภายใน 20 วันนับตั้งแต่ที่ได้รับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2557 ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 57 ที่มี นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร เป็นประธาน ได้พิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2557 แล้วเสร็จและได้เสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาให้พิจารณา ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ ได้มีข้อสังเกตในภาพรวมของการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย คือ 1. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเร่งการตรวจร่างกฎหมายว่าด้วยการกำหนดวินัยทางการเมืองการคลังที่อยู่ในความรับผิดชอบให้แล้วเสร็จ และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรค 3 และมาตรา 303 ที่ระบุให้มีกฎหมายและจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนับตั้งแต่ที่รัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้ แต่ขณะนี้เวลาผ่านไปกว่า 6 ปีแล้วร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

2. รัฐบาลควรขับเคลื่อนประเทศตาม 4 ยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต 3. โครงการประชานิยมของรัฐบาล เช่น มาตรการลดภาษี, โครงการรถยนต์คันแรก โครงการบ้านหลังแรก โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร สร้างผลกระทบต่องบประมาณและเศรษฐกิจของประเทศจำนวนมาก ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งศึกษาผลดี-ผลเสียและผลกระทบ และควรมีการจำกัดวงเงินงบประมาณให้ชัดเจน ที่สำคัญต้องมีระบบตรวจสอบ ประเมินผลความคุ้มค่าของโครงการที่ชัดเจน

4. รัฐบาลควรจัดทำแผนบริหารจัดการและแนวทงการใช้เงินคืนกรณีทีเกิดจากการกู้ยืมและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล 5. งบลงทุนที่จัดสรรไว้ในปี 2557 ที่มีเพียงร้อยละ 17.5 ซึ่งน้อยกว่าปี 2556 สะท้อนให้เห็นว่าโครงการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ชะลอตัว 6. การจัดสรรงบลงทุนไว้นอกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 ทำให้งบลงทุนในอนาคตไม่ครอบคลุมจากทุกแหล่งทุน 7. รัฐบาลควรมีแผนกู้เงินที่เหมาะสม หลังจากที่กำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 57เพียง 2.5 แสนล้านบาท

8. รัฐบาลควรมีแนวทางการจัดระบบและบริหารความเสี่ยงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีแผนลดการขาดดุลภายในช่วงระยะเวลาดำรงตำแหน่งของรัฐบาล ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังและความจำเป็นของการใช้จ่ายภาครัฐ 9. รัฐบาลควรจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีโดยให้ความสำคัญกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้เป็นกรอบในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งเน้นให้มีการบูรณาการ การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของประเทศด้วย

10. รัฐบาลควรมีการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี โดยให้ความสำคัญกับการบริหารเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหาภาค ที่สอดคล้องกับสัญญาณการอ่อนตัวและแรงกดดันของค่าเงินบาท 11. รัฐบาลต้องหามาตรการลดผลกระทบจากมาตรการการคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก และเร่งผลักดันการส่งออกให้สามารถฟื้นตัวได้ตามเป้าหมาย ตลอดจนเตรียมพร้อมเร่งรัดการเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ในไตรมาสสุดท้ายของปี

12. ควรเร่งรัดโครงการลงทุนภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเร่งรัดแผนการพัฒนาพื้นที่เศรฐกิจใหม่ เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี และลดอุปสรรคด้านการค้าการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม กระทรวงการคลังควรดำเนินการกับการหลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยเฉพาะการนำเข้ารถที่สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โดยจะต้องเสนอแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และดำเนินคดีกับผู้ที่ทำผิด

13. กระทรวงการคลังต้องศึกษาหามาตรใหม่ๆ ทางภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

14. ควรมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ เช่น การประสานงานกับสำนักตรวจคมเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้เกิดการรองรับนักท่องเที่ยว และช่วยเหลือดูแลเกี่ยวกับ การจ่ายภาษีอากรของนักท่องเที่ยว เพื่อให้มีความสะดวกมากขึ้น

15. รัฐบาลควรให้ความสำคัญและผลักดันงบประมาณเพียงพอ ในเรื่องการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ โดยฌพาะการหาเครื่องมือเพือให้สามารถจัดเก็บภาษีได้ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ 16. ควรให้ความสำคัญต่อการขยายฐานภาษีในการจัดเก็บให้กว้างขึ้น โดยควรพิจารณากำหนดฐานภาษีให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับปริมาณหนี้สาธารณะ

17. ควรกำหนดเป้าหมายและภารกิจของการจัดตั้งองค์การมหาชนอย่างชัดเจน เพื่อการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนขององค์กรมหาชนที่จัดตั้งมาใหม่ เช่น สำนักงานพัฒนาพิงคนคร, สำนักส่งเสริมและการจัดประชุมนิทรรศการ โดยรัฐบาลควรมีมาตรการสำคัญในการกำกับดูแลผลประกอบการขององค์การดังกล่าวด้วย 18. รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานส่วนจังหวัดเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดของรัฐบาล

19. ควรเร่งตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่ คือ กระทรวงสหกรณ์ โดยแยกออกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับคนทุกกลุ่มสาขาอาชีพ 20. รัฐบาลควรระบุตัวชี้วัดเพิ่มเติมในการจัดเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้งบประมาณ

21. ในโครงการที่มีการทำงานแบบต่อเนื่อง รัฐบาลควรทำเอกสารแสดงภาพรวมของโครงการทุกมิติ และงบประมาณที่จะใช้ในแต่ละปี และ 22. แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในรูปแบบตั้งกรรมการ รัฐบาลต้องคำนึงถึงการระดมความเห็นของบุคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะดาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการประสานงานและการติดตามประเมินผล


กำลังโหลดความคิดเห็น