รองโฆษก พท. ยันนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลประชาชนได้ประโยชน์ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง ช่วยภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น
น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงกรณีพรรคฝ่ายค้าน อภิปรายโจมตีนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลระหว่างการประชุมสภาไม่เป็นความจริง โดยขอยืนยันว่านโยบายนี้เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ดังนี้
1. นโยบายนี้เป็นนโยบายสาธารณะที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะคนทำงานให้ สามารถมีรถเป็นของตัวเอง เดินทางไปไหนสะดวก ซึ่งเป็นนโยบายระยะสั้นระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการอยู่ ก็อยากให้ฝ่ายค้านเห็นใจพี่น้องประชาชนบ้าง มีบางคนมีความจำเป็นจริงๆ
2. การดำเนินนโยบายดังกล่าวนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องให้มีการขยายตัวได้ดี ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ หลังจากโครงการรถคันแรก อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เจริญเติบโตขึ้น ต้องไม่ลืมว่าเราสามารถส่งออกได้ กว่าจะสำเร็จออกมาเป็นรถ 1 คัน ต้องมีส่วนประกอบหลายพันชิ้น ลองนึกภาพรถยนต์ดู และจะทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องมีการขยายตัวได้เป็นอย่างดีอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมแร่โลหะและอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ซึ่งนับว่าเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งการผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศหรือแม้แต่อุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น ธุรกิจฟิล์มกรองแสง ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจสินเชื่อและบริการเกี่ยวกับรถยนต์สามารถขยายตัวได้ดีขึ้นโดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2556 ยอดขายของธุรกิจปลายน้ำจะสูงถึง 5,000 ล้านบาท จึงนับได้ว่าเป็นการเพิ่มผลบวกหลายรอบกับระบบเศรษฐกิจไทย หรือ Multiplier Effect เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย
3. โครงการนี้ยังสามารถทำให้มีการจัดเก็บภาษีของรัฐที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นการกระตุ้นให้มีการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นอีกด้วย
การดำเนินนโยบายนี้เป็นการคิดมุมกว้างดูที่ภาพใหญ่เชื่อว่าพรรคฝ่ายค้านคงทำไม่ได้อย่างแน่นอนอยากให้มาฝึกวิธีคิดและการทำงานของพรรคเพื่อไทยดูบ้างหากยังค้านไปเรื่อยๆเดินเกมนอกสภากลัวว่าเลือกตั้งคราวหน้าจะตกที่นั่งลำบาก
น.ส.อนุตตมา ยังกล่าวถึงมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจีดีพีอาจเพิ่มได้ เกือบ 1% หากมาตรการดังกล่าวทำได้ตามเป้า ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกนโยบายมา 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ มาตรการการบริโภคภาคเอกชน มาตรการการลงทุนภาคเอกชน มาตรการด้านการใช้จ่ายภาครัฐ และ มาตรการด้านการส่งออก