นักเศรษฐศาสตร์ ประเมินเศรษฐกิจไทยถดถอยแบบชะลอตัว แต่ไม่ถึงขั้นก่อให้เกิดวิกฤต แนะรอดูจีดีพีไตรมาส 3 บอกทิศทางอนาคต ขณะที่รองนายกฯ “กิตติรัตน์” ยันเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยไม่ถดถอย มั่นใจเงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีต่อตัวเลขการส่งออก ย้ำเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
นายกิตติศักดิ์ พรหมรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพล เปิดเผยว่า กรุงเทพโพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ จากองค์กรชั้นนำ 32 แห่ง จำนวน 62 คน โดยถามถึง “เศรษฐกิจในปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ท่านคิดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงใดของวัฏจักรเศรษฐกิจ” พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 63% เห็นว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงถดถอย รองลงมา 13% เห็นว่า อยู่ในช่วงขยายตัว และ 8% เห็นว่า อยู่ในช่วงรุ่งเรือง และ 3% เห็นว่า อยู่ในช่วงตกต่ำ ส่วน 13% ไม่ขอแสดงความคิดเห็น
ทั้งนี้ ในมุมมองของกรุงเทพโพล มองว่า เศรษฐกิจถดถอย กับวิกฤตเศรษฐกิจเป็นคนละเรื่องกัน ถ้าเศรษฐกิจถดถอยกินเวลานาน อาจมองว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจก็ได้ ส่วนการถดถอยทางเศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจขาลงนั่นเอง ทั้งนี้ นับจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปี 2009 ทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปีนั้น ติดลบ 3 ไตรมาสรวด หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทย ขยายตัวมาตลอด และมาติดลบอีกครั้งเมื่อไตรมาส 4 ปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ แต่ในปีนี้ จีดีพีติดลบต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาสรวด แตกต่างจากรูปแบบของการขยายตัวในปีก่อนๆ
ดังนั้น กรุงเทพโพล สรุปได้ว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอยในลักษณะชะลอตัว ไม่ใช่หดตัว การถดถอยที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการถดถอยตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ไม่ใช่การถดถอยที่จะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ และการถดถอยที่เกิดขึ้นจะใช้ระยะเวลาสั้น หรือยาว ข้อมูลของจีดีพีไตรมาสที่ 3 ปีนี้ น่าจะบอกถึงทิศทางในอนาคตได้
โดยวานนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” กรณีสำนักข่าวบีบีซี รายงานเศรษฐกิจประเทศไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยระบุว่า ส่วนตัวเข้าใจว่าน่าจะมาจากการดูตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนปี 2556 นำไปเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งออกมาเป็นลบ และเป็นตัวเลขประกอบ เนื่องจากเดือนเมษายนเป็นช่วงเทศกาลหยุดยาวประจำปี ประกอบกับไทยหยุดรับแก๊สธรรมชาติจากประเทศพม่ากว่า 2 สัปดาห์ และเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต้องชะลอการผลิต จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ได้ แต่ขณะนี้เงินบาทแข็งค่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ จึงส่งสัญญาณว่าประเทศไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด
สำหรับไตรมาส 3 ของปี 2556 ไทยยังมีโอกาสขยายตัวได้จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยสิ่งสำคัญคือ การใช้จ่ายภาครัฐที่ต้องเดินหน้าให้ได้ต่อเนื่อง ตลอดจนความมั่นใจต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะต้องพยายามเดินหน้ากลไกที่มีอยู่อย่างจริงจัง ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐ และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน
“อยากให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และสร้างบรรยากาศที่ดีร่วมกัน ยืนยันว่า ไทยมีพื้นฐานที่ดี ทั้งการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราการว่างงาน ที่สำคัญคือ ประเทศไทยต้องเดินหน้าในโครงการลงทุนที่สำคัญของประเทศ และอยากบอกว่าจะมองประเทศไทย ขอให้มองยาวๆ อย่ามองเป็นสถานการณ์ระยะสั้นเท่านั้น”
สำหรับปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ไทยยังเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก จึงได้รับผลกระทบจากต่างประเทศด้วย แต่ไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดี เช่น มีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงมาก ขณะที่กองทุนน้ำมันฯ ยังมีฐานะที่แข็งแกร่งเพียงพอจะดูแลสถานการณ์พลังงานได้ดี สิ่งที่ประเทศต้องการคือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะกลายเป็นศักยภาพของประเทศ
ในสายตาของต่างชาติ ไทยยังคงได้รับความสนใจ ดูได้จากการขอรับส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่วนประเทศเพื่อนบ้านก็คาดหวังให้ไทยเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงตลาดอาเซียนเข้าด้วยกัน และในแง่ตลาดทุน แม้ว่าจะมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำ ส่วนการไหลออกของเงินทุนต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าไม่เป็นผลกระทบมากนัก เพราะที่ผ่านมา เงินต่างชาติอาจถือได้ว่าเข้ามามากเกินความเหมาะสม ประกอบกับเงินสำรองของไทยยังถือว่าสูงมาก
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจอยู่ระหว่างการปรับสมดุล โดยปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นมาจากการบริโภคในประเทศ หลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มคุณภาพบุคลากร การพัฒนาต่อยอดสินค้า