xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯคูเวตเตือน จะเกิดหายนะใหญ่หากน้ำมันหมดประเทศ ชี้ทั้งรัฐ-ปชช.ต้องเลิก “ใช้จ่ายเกินตัว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชีค ญาเบอร์ อัล-มูบารัค อัล-ฮาหมัด อัล-ซาบาห์  นายกรัฐมนตรีคูเวต
เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - นายกรัฐมนตรีคูเวตชี้ ต้องเร่งตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐ และเลิกค่านิยมการบริโภคแบบเกินตัว โดยระบุ คูเวตจะเผชิญหายนะใหญ่เมื่อน้ำมันหมดประเทศ หากรัฐบาลและประชาชนคูเวตไม่รู้จักใช้จ่ายอย่างมีสติ

รายงานข่าวระบุว่า “ชีค ญาเบอร์ อัล-มูบารัค อัล-ฮาหมัด อัล-ซาบาห์” นายกรัฐมนตรีคูเวตออกโรงเรียกร้องในวันอังคาร (29) ให้มีการพิจารณาตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐลงอย่างเป็นระบบ พร้อมขอให้มีการทบทวนระบบ “รัฐสวัสดิการ” ของประเทศเสียใหม่ ตลอดจนขอให้ประชาชนละทิ้งค่านิยมในการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยระบุว่า แนวทางที่คูเวตกำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้เต็มไปด้วยความ “ไม่ยั่งยืน”

ชีค ญาเบอร์ อัล-มูบารัค อัล-ฮาหมัด อัล-ซาบาห์ วัย 71 ปี ซึ่งก้าวขึ้นครองอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีคูเวตมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2011 ย้ำว่า ทุกวันนี้รัฐบาลและประชาชนคูเวตกำลังลุ่มหลงกับรายได้มหาศาลจากทรัพยากรล้ำค่าของประเทศอย่างน้ำมัน โดยไม่ได้ตระหนักถึงอนาคตว่าคูเวตจะตกอยู่ในวิกฤตที่เลวร้ายสาหัสหากน้ำมันหมดไปจากประเทศ

“เรากำลังอยู่บนเส้นทางแห่งความไม่ยั่งยืน คูเวตจะต้องเผชิญหายนะที่เลวร้าย หากเรายังไม่เลิกใช้จ่ายเกินตัวอย่างทุกวันนี้” นายกรัฐมนตรีคูเวตกล่าว

ท่าทีล่าสุดของนายกรัฐมนตรีคูเวตมีขึ้น หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกโรงเตือนรัฐบาลคูเวตให้เร่งหาทางยับยั้งยอดการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้เร่งหาทางตัดลดงบประมาณมหาศาลที่รัฐบาลคูเวตทุ่มลงไปในโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ โดยไอเอ็มเอฟระบุว่า ยอดการใช้จ่ายของคูเวตกำลังจะแซงหน้าเงินรายได้จากการขายน้ำมันของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้ เป็นที่คาดกันว่า ทางการคูเวตซึ่งมีรายได้ร้อยละ 80 มาจากการขายน้ำมัน อาจต้องทบทวนหรือยกเลิกโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ ในไม่ช้า โดยเฉพาะการอุดหนุนด้านน้ำมันต่อประชาชน การให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาราคาถูก ตลอดจนการที่คูเวตเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่ยอมจัดเก็บภาษีเงินได้จากประชาชนของตัวเอง

ด้านแหล่งข่าวในกระทรวงการคลังของคูเวตเผยว่า หากรัฐบาลคูเวตไม่เริ่มแผนปฏิรูปการใช้จ่ายของตนภายในระยะเวลา 4 ปีจากนี้ คูเวตก็จะต้องเผชิญกับการมีงบประมาณขาดดุล ซึ่งหมายถึงการมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายเป็นครั้งแรกภายในปี ค.ศ.2021 ขณะที่ยอดการใช้จ่ายภาครัฐก็จะเริ่มแซงหน้าเงินรายได้จากการขายน้ำมันตั้งแต่ปีงบประมาณ 2017/18 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า การปฏิรูปการใช้จ่ายและการลด-เลิกโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆอาจส่งผลให้เกิดวิกฤตทางการเมืองและทางสังคมขึ้นในคูเวต เนื่องจากประชาชนในดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีปริมาณน้ำมันสำรองอยู่มากเป็นอันดับที่ 5 ของโลกแห่งนี้ เคยชินกับการที่ไม่ต้องถูกเก็บภาษีและการได้ใช้ไฟฟ้า น้ำประปา ตลอดจนน้ำมันราคาถูกมาโดยตลอด ขณะที่ประชาชนในคูเวต ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ไม่เคยถูกปลูกฝังค่านิยมเรื่องการประหยัดและการใช้จ่ายอย่างมีเหตุผลมาก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น