xs
xsm
sm
md
lg

นักลงทุนผวาประชานิยมไทย กูรูเตือนรัฐเร่งสร้าง ศก.ที่แข็งแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กูรูเศรษฐกิจแนะรัฐบาลอย่าก่อประชานิยมเพิ่ม หวั่นกระทบฐานะการคลัง พร้อมมองปัญหาการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐฯ จะตกลงกันได้ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ประเมินในระยะกลาง 1-2 ปีนี้ fund flow อาจไหลกลับ เหตุประเทศไทยไม่น่าลงทุน

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เราเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะสามารถตกลงการแก้ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะให้มีการปรับเพิ่มเพดานขึ้นได้ ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมองว่าเป็นการต่อรองระหว่างทางการเมืองกับพรรคเดโมแครต และริพับลิกัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีแนวโน้มการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้จ่ายด้านสวัสดิการเพื่อสุขภาพให้แก่ประชาชน โดยการแก้ปัญหาเพิ่มเพดานหนี้ในครั้งนี้จะเป็นการขยับเพดานหนี้เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยก่อนขยับเพดานหนี้ขึ้นอีกรอบในภายหลัง

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกนับจากนี้ไปจะมีการขยายตัวได้ดีขึ้น โดยเห็นได้จากสัญญาณประเทศผู้นำเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯ จีน และยุโรป มีทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าติดตามความผันผวนในตลาดเงินทั่วโลก เนื่องจากหากสหรัฐฯ แก้ปัญหาเพดานหนี้ได้ช้าอาจจะทำให้มีเงินทุนไหลเข้าและไหลจากทั่วโลกได้ง่าย สำหรับประเทศไทย ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการควบคุมในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันการไหลเข้าของเงินทุนแล้ว

สำหรับความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อรัฐบาลไทยในประเด็นการใช้จ่ายภาครัฐของไทย โดยเฉพาะในโครงการประชานิยมต่างๆ ที่มีผลต่อภาระงบประมาณของประเทศให้สูงขึ้น เนื่องจากโครงการประชานิยมที่ทำให้เกิดกระแสการทวงสิทธิของประชาชนที่ได้รับสิทธิจากนโยบายของรัฐบาล เช่น กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ยางพารา และข้าวโพด รวมถึงกลุ่มอื่นๆ ซึ่งจะนำมาสู่ความอ่อนแอทางการคลัง และนำไปสู่วิกฤตทางการคลังในอนาคตได้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ไทยถูกลดอันดับเครดิตของประเทศในระยะต่อไป ดังนั้น รัฐบาลควรต้องหยุดโครงการประชานิยมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุน และโครงการสวัสดิการต่างๆ ของประชาชนลงก่อนเกิดภาวะวิกฤตดังกล่าว

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลจะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้เพื่อนำมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้น รัฐบาลควรออกพันธบัตรเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนและนำเงินที่ได้ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าการนำเงินทุนสำรองออกมาใช้ โดยสามารถนำเงินบาทแลกเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศได้ เพราะตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่สามารถซื้อพันธบัตรจากรัฐบาลโดยตรงได้ เพราะจะเกิดความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางที่เหมือนการพิมพ์ธนบัตรให้รัฐบาลโดยตรง

นางรุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส ผู้อํานวยการสํานักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนของระยะสั้นนั้นเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยบ้าง เนื่องจากจะมีการต่ออายุมาตรการ QE ต่อไป ขณะที่หลายฝ่ายประเมินว่าการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้น่าจะมีการตกลงกันได้ สำหรับระยะกลางในช่วง 1-2 ปีเม็ดเงินจากประเทศพัฒนาแล้วจะไหลกลับ เนื่องจากนักลงทุนยังจับตามองว่าเศรษฐกิจไทยจะพัฒนาในระดับใด ส่วนระยะยาวนั้นประเทศเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้วจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่เชื่อว่าจะมีผลไม่มากเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดี แม้บางช่วงจะมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจแต่เสถียรภาพยังดี ขณะที่ภาคการส่งออกนั้นต้องยอมรับว่าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่ส่งออกเทคโนโลยีได้ ดังนั้น เอกชนไทยต้องเร่งพัฒนาคุณภาพการผลิตเพื่อต่อยอดการส่งออกไทยให้ขยายตัวได้มากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น