xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจไทยพ้นภาวะถดถอยทางเทคนิค จับตาสหรัฐฯ ส่งผลต่อโค้งสุดท้ายปี 56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย ผศ.ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์
ผู้อำนวยการหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงิน
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ ผู้พัฒนา NIDA Macro Forecast

    ช่วงครึ่งแรกของปี 2556 เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง จากเดิมที่ขยายตัวในปี 2555 โดยอัตราการเติบโตของ GDP ในลักษณะไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) พบว่าหดตัวร้อยละ -1.67 และ -0.35 ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ทำให้เกิดสถานการณ์ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทางเทคนิค (Technical Recession) แต่เมื่อคิดอัตราการขยายตัวของ GDP เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ยังคงขยายตัวได้ร้อยละ 4.0
    
โดยข้อมูลจากค่าสถิติเบื้องต้นพบว่า  ครึ่งปีแรกการบริโภคภาคประชาชนขยายตัวร้อยละ 3.3 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.3 ภาคการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 0.01 และปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 5.3 มีเพียงแค่การใช้จ่ายภาครัฐด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 และ 16.8 ตามลำดับ
    
จากการวิเคราะห์โดยแบบจำลองเศรษฐมิติมหภาคของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA Macro Model) คาดการณ์ GDP ไตรมาส 3/2556 จะขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2556 สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคแล้ว ส่วนไตรมาส 4/2556 คาดว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3 ในรูปสกุลเงิน USD ทำให้ทั้งปีมูลค่าการส่งออกน่าจะขยายตัวร้อยละ 1  
    
ขณะที่รายได้จากภาคบริการจะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.4 จากปัจจัยการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวอย่างไม่เร็วนัก ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4/2556 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.9 ซึ่งจากปัจจัยลบในปีนี้ทำให้ทั้งปี GDP จะขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่ำกว่าระดับการขยายตัวตามปกติของไทย
    
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อา
จจะต้องหยุดชะงักจากปัญหาความขัดแย้งในรัฐสภาเกี่ยวกับการอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2014 และ พ.ร.บ.เพดานหนี้สาธารณะ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ หากปัญหาการเมืองในรัฐสภาเกิดการยืดเยื้อจะส่งผลต่อความเสี่ยงและความไม่มั่นใจต่อผู้บริโภคและนักลงทุนในการจับจ่ายและการลงทุน
    
จากการวิเคราะห์คาดว่า หากมูลค่าการค้าโลกในไตรมาสที่ 4 ไม่ฟื้นตัวอย่างที่หวังไว้ จะทำให้การขยายตัวของ GDP ในปี 2556 อาจจะลดลงเป็นระดับร้อยละ 2.8 แต่จากการประเมินสถานการณ์ปัญหาการเมืองในสหรัฐฯ คาดว่าจะไม่ยืดเยื้อ ดังนั้น ตัวเลขประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2556 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.7 เป็นหลัก

    ส่วนปี 2557 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประมาณการว่า GDP มีโอกาสขยายตัวร้อยละ 4.9 จากการส่งออกที่ดีขึ้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้มีการขยายตัวของการเติบโตจากภาคอสังหาริมทรัพย์มายังภาคอื่นๆ ทำให้มูลค่าการค้าโลกเพิ่มสูงขึ้นในปี 2557 โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย (ในรูป USD) น่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 8.1 ซึ่งการขยายตัวนี้จะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2556 เช่นกัน โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 และ 10.5 ตามลำดับ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงตามนโยบายของรัฐบาล แต่คาดว่าอัตราการขยายตัวจะชะลอตัวจากปี 2556 โดยคาดว่าในปี 2557 การบริโภคและการลงทุนภาครัฐบาลจะขยายตัวร้อยละ 3.5 และ 7.8 ตามลำดับ
    
สำหรับปัจจัยปัญหาด้านเงินเฟ้อในปี 2556 และปี 2557 นั้น ไม่เป็นปัญหาที่ต้องกังวล เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนักและค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำมีแนวโน้มคงที่ ดังนั้น ผลการประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 และปี 2557 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และ 2.8 ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินคาดว่าจะอยู่ในเป้าหมาย โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.2 และ 1.6 ในปี 2556 และปี 2557 ตามลำดับ ถึงแม้ว่าในปี 2556 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่ต่ำเกินเป้าหมาย แต่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 น่าจะปรับตัวขึ้นมาใกล้เคียงกับเป้าหมาย แม้มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมายที่ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันดิบในตลาดโลกก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น