บลจ.วรรณเปิดตัวกองทุน “วรรณ เจแปน ฟันด์ (ONE-JAPAN)” รับจังหวะหุ้นญี่ปุ่นขาขึ้น เน้นลงทุนกลุ่มส่งออกที่รับอานิสงส์เงินเยนอ่อนจากนโยบายภาครัฐ มองผลตอบแทนตลาดพัฒนาแล้วสูงกว่าเอเชีย และตลาดเกิดใหม่
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) วรรณ จำกัด เปิดเผยถึงเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศญี่ปุ่นว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นปีเริ่มฟื้นตัวจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้านของนายกรัญมนตรี ชินโซ อาเบะ (Three Arrow) ได้แก่ 1) นโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจ 2) นโยบายการคลัง 3) นโยบายการเงิน ซึ่งทั้ง 3 นโยบายมองว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการเติบโต และจากการส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น คาดว่าเงินเยนจะอ่อนค่าที่ระดับ 110 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า และที่ระดับ 120 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 2015 และการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะอยู่ในระดับ 3% กว่าจนถึงปี 2016
ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีทิศทางที่ปรับตัวขึ้นตามเงินเยนที่อ่อนค่าลง ทำให้กลุ่มธุรกิจส่งออกได้รับผลประโยชน์จากค่าเงินที่อ่อนลง ทั้งกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มยานยนต์และขนส่ง กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และจะมีการเติบโตที่สูงกว่าบริษัทในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นนิกเกอิ (NIKKEI) ในระยะสั้นอาจขึ้นไปแตะระดับ 16,000 จุด และในระยะยาวอาจปรับตัวไปถึงระดับ 22,976 ได้
“การลงทุนในครึ่งหลังของปี 2556 ยังคงมีความผันผวนอยู่มาก กลุ่มประเทศเกิดใหม่จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และมองว่าค่าเงินประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่น สะท้อนการฟื้นตัวอย่างโดดเด่นมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นปีถึง 29 ส.ค. 56 ได้ให้ผลตอบแทนที่ประมาณ 13.3% และ 29.5% ตามลำดับ ขณะที่ประเทศเกิดใหม่ อย่างเช่นตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงกว่า 7.1%”
นายวิน ยังกล่าวว่า บลจ.วรรณจึงเสนอขายกองทุนเปิด วรรณ เจแปน ฟันด์ (ONE-JAPAN) เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น (Tokyo Stock Exchange) เพื่อสร้างผลตอบแทนต่อพอร์ตการลงทุนเพิ่มเติม โดยกองทุนนี้เน้นการบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่นและการคัดเลือกหุ้นปัจจัยพื้นฐานที่มีแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการ โดยเน้นบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งในพอร์ตการลงทุนจะเน้นลงทุนอยู่ 10-15 บริษัทจากทั้งหมด 20 บริษัทที่เลือกมา กองทุนมีการป้องกันความเสี่ยงอย่างน้อย 90% จากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเสนอขายครั้งแรก (IPO) ในช่วงวันที่ 2-11 กันยายน 2556
ทั้งนี้ บลจ.วรรณมีจุดแข็งการลงทุนในต่างประเทศในด้านความร่วมมือกับสถาบันการเงินต่างประเทศที่หลากหลาย ซึ่งเป็นผลดีต่อการลงทุนของ ONE-JAPAN ในด้านข้อมูลการวิเคราะห์หลักทรัพย์และการคัดเลือกหลักทรัพย์จากสถาบันการเงินชั้นนำ ตัวอย่างเช่น บริษัทหลักทรัพย์ LGT และ Nomura ซึ่งช่วยให้ผู้จัดการกองทุนสามารถบริหารการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเสี่ยงต่อเรื่องของนโยบายการเงินที่จะส่งผลต่อการอ่อนค่าของเยนอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าในช่วงนี้เป็นจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เนื่องจากดัชนี NIKKEI ไม่ได้ปรับตัวสูงเกินไปอย่างในช่วงต้นปีและไม่ได้ต่ำมากจนเกินไปจนสะท้อนภาพเชิงลบ โดยประเมินว่าหากค่าเงินเยนอยู่ที่ระดับ 100 เยนต่อดอลลาร์จะทำให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นมีกำไรต่อหุ้น (EPS) ขยายตัวกว่า 45.2%
ขณะที่มูลค่าหุ้นต่อบัญชี (PBV) ในปัจจุบันของญี่ปุ่นในปีนี้และปีหน้า กล่าวคือ อยู่ที่ 1.47 และ 1.38 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียที่ 1.79 และ 1.64 เท่าตามลำดับ