xs
xsm
sm
md
lg

ไทยอาจหมดยุคเพลิดเพลินกับการระดมทุนดอกเบี้ยต่ำในตลาดตราสารหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์
ASTV ผู้จัดการ - ไทยอาจหมดยุคเพลิดเพลินกับการระดมทุนดอกเบี้ยต่ำในตลาดตราสารหนี้ “นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์” ชี้ยิลด์พันธบัตรคลังสหรัฐฯ อายุ 10 ปีได้ปรับตัวขึ้นไปแล้วก่อนหน้า 0.75% สะท้อนเศรษฐกิจอเมริกาเริ่มดีจริง ส่งผลให้ยิลด์บอนด์ต้องปรับขึ้นตามอีก 0.5% คาดน่าจะขึ้นได้อีก 50 เบซิสพอยต์ในสิ้นปีนี้ ด้านเงินลงทุนระยะสั้นลดเหลือ 21% จากที่เคยพุ่งสูงสุด 30% ตามแรงเก็งกำไร ส่วนเงินลงทุนยาวยังไหลเข้ามาเพิ่มอีกเกือบ 1 แสนล้านบาท ส่งผลมูลค่าเงินลงทุนสุทธิต่างชาติปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6 แสนล้านบาทจากกว่า 5 แสนล้านบาทเมื่อปีก่อน ย้ำเฟดเลิกใช้ QE ไม่น่ากระทบตลาดตราสารหนี้มากนัก เหตุสัดส่วนวงเงินลงทุนถ้าจะมีก็แค่ราวๆ 400 ล้านเหรียญสหรัฐตามน้ำหนักดัชนีการลงทุนตลาดโลก เปรยในอนาคตหาก “คลัง-ธปท.” จำต้องออกมาตรการอะไรใหม่ขอร้องให้ส่งสัญญาณต่อตลาดให้ชัดๆ และอย่าทำมาตรการคลุมเครือเหมือนมาตรการคุมเงินลงทุนระยะสั้นที่ทำให้นักลงทุนในตลาดหมดความมั่นใจอีก

นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ ได้บอกเล่าถึงภาพความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้รอบกว่า 1 เดือนที่ผ่านมานี้ว่ามีเงินไหลออกจากตลาดไปแล้วประมาณ 80,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการไหลออกของตราสารระยะสั้นมากกว่าการไหลออกของเงินทุนบางส่วนจากนักลงทุนที่ถือตราสารพันธบัตรระยะยาว

ส่วนสาเหตุการไหลออกของเงินลงทุนของนักลงทุนกลุ่มหลัง กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยได้อธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นไปตามปัจจัยหนุนของแนวโน้มการปรับตัวขึ้นในอัตราผลตอบแทนพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ได้เริ่มดีดตัวขึ้นมายืนอยู่ที่ระดับราวๆ 2.51% แล้วจากก่อนหน้าที่เคยอยู่ในระดับต่ำเพียง 1.75%

โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.76% หลังเศรษฐกิจอเมริกาเริ่มที่จะดีขึ้นตามแรงหนุนส่งของมาตรการอัดฉีดเม็ดเงิน QE เข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่องเดือนละ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) บวกกับคำประกาศเป้าหมายการยกเลิกการใช้มาตรการอัดฉีดเงิน QE ในกลางปีหน้าก็อาจถือได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณจากเฟดเพื่อให้ตลาดรู้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้นแล้วจริงๆ

ทั้งนี้ ผลจากการปรับตัวขึ้นในยิลด์พันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อายุ 10 ปีดังกล่าวนี้ยังผลักดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีต้องปรับตัวตามจนขึ้นมายืนอยู่ที่ระดับ 4.005% โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรชนิดนี้ได้เขยิบขึ้นไปแล้วประมาณ 0.50%

แต่แม้จะยังมีส่วนต่างจากระหว่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยกับดอกเบี้ยพันธบัตรกระทรวงการคลังอเมริกาในอายุ 10 ปีอยู่อีก 1.5% ก็ตาม แต่การปรับตัวขึ้นของยิลด์ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องเริ่มขายตราสารระยะยาวของไทยออกไปเพื่อถือครองเป็นเงินสดและป้องกันผลขาดทุนอันเนื่องมาจากการปรับลดลงของราคาตราสารพันธบัตรตามการเริ่มปรับตัวขึ้นของยิลด์ในผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีด้วย

“ในเดือนที่ผ่านมาใครลงทุนในพันธบัตรจะขาดทุนมากกว่าการลงทุนในตราสารหุ้นกู้ ที่พวกเราดูๆ กันอย่างยิลด์บอนด์ 10 ปีตอนนี้มันขยับขึ้นไปประมาณ 50 สตางค์แล้ว ช่วงเวลาที่จะถือตราสารไว้จริงๆ (duration) ก็ประมาณแถวๆ 6 ปี ยิลด์ขยับ 50 สตางค์ คนที่ถือตราสารหนี้ 10 ปีไว้ตอนนี้ก็อาจจะขาดทุนไปแล้วประมาณ 3-4%” กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้กล่าว

สำหรับแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของยิลด์พันธบัตรระยะยาวของไทยนั้น นิวัฒน์ ประเมินไว้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเห็นการขยับเพิ่มได้อีก 50 เบซิสพอยต์ภายในสิ้นปี 2556 ทั้งยังเปรยให้ได้ยินด้วยว่าประเทศไทยคงหมดยุคการระดมเงินราคาถูกจากตลาดนี้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเขาก็เชื่อว่าภาคเอกชนไทยยังจะเข้าใจและยังคงมีความพร้อมที่จะปรับตัวรับการระดมทุนภายใต้เงื่อนไขใหม่ที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นขาขึ้นแบบนี้ โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมจากภาคเอกชนน่าจะปรับตัวขึ้นไปอีก 20-30 เบซิสพอยต์ตามระยะเวลาการกู้ยืม

ภาพรวมตลาดตราสารเริ่มปรับสมดุล
มีเงินลงทุนยาวไหลเข้าเกือบแสนล้าน

กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า อันที่จริงแล้วเงินลงทุนไหลเข้ามาจากมาตรการ QE ของเฟดนั้นต้องบอกว่ามีอยู่เยอะที่เข้ามาลงทุนในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของไทย (real sector) หากพิจารณาจากตัวเลขเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นในตลาดตราสารหนี้ก็จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (NR) ในปี 2555 นั้นเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นซึ่งมีอยู่ประมาณ 150,000 ล้านบาทจากมูลค่าโดยรวมของตลาดที่มีอยู่กว่า 500,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

แต่พอมาถึงในช่วงเดือนมกราคมจนถึงปลายๆ เดือนเมษายนของปี 2556 ตัวเลขมูลค่าการลงทุนระยะสั้นของพวก NR ขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 180,000 ล้านบาทจากมูลค่าโดยรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยที่เติบโตขึ้นมาอยู่ที่ประมาณกว่า 700,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากเมื่อเปรียบเทียบเฉพาะตัวเลขการเปลี่ยนแปลงของการลงทุนในตราสารระยะสั้นในปี 2555 กับปี 2556 กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยถือว่ายังมีไม่มากเท่าไหร่ อีกทั้งเขาก็มองว่าเงินทุนระยะสั้นที่ไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ก็เริ่มมีภาพความสมดุลมากขึ้นเมื่อเทียบกับตราสารระยะยาวซึ่งเคยมีสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอยู่ราวๆ กว่า 70%

โดยพิจารณาง่ายๆ จากความเปลี่ยนแปลงของตัวเลขในรูปเปอร์เซ็นต์การลงทุนในตราสารระยะสั้นจากพวก NR เมื่อปี 2555 ที่เคยมี 28% และก็ปรับขึ้นมาเรื่อยๆ จนสูงสุดอยู่ที่ 30% ในเดือนกันยายน ก่อนจะไหลกลับลงมาอยู่ที่ 24% เมื่อถึงสิ้นปี

แต่พอมาถึงช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2556 ที่ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว นักลงทุนมาลงทุนในตราสารตัวสั้นก็เริ่มมีเข้ามามากขึ้น โดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขจาก 24% เมื่อสิ้นปี 2555 ก็ปรับตัวขึ้นใหม่มาอยู่ที่ 29% และดีดขึ้นต่อได้สูงสุดถึง 30% ก่อนที่จะเริ่มไหลกลับลงมาอย่างหนักจนมายืนปักหลักอยู่ที่ 23% เมื่อถึงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่กระทรวงการคลังเริ่มออกมาพูดถึงเรื่องการหารือเพื่อเตรียมออกมาตรการควบคุมเงินลงทุนระยะสั้นกันอย่างมากมาย สัดส่วนการลงทุนตราสารระยะสั้นจึงยังคงลดลงต่อเนื่องจนไหลรูดลงมาเหลือแค่ 21% ในช่วงเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมานี้เอง

“สัดส่วนเงินลงทุนระยะสั้นที่ลดลงมาอยู่ที่ 21% ของมูลค่าตลาดตราสารหนี้โดยรวม 800,000 ล้านบาท ผมมองว่ามันอยู่ในสัดส่วนที่ดีนะ” กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยกล่าว

ทั้งนื้ สัดส่วนเงินลงทุนระยะสั้นที่ลดลงนี้นอกจากจะเกิดจากการไหลออกของพวกเข้ามาเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้แล้ว บางส่วนยังเป็นเงินไหลออกของพวกนักลงทุนที่แท้จริง (real investor) ซึ่งก็ถือตราสารหนี้ระยะสั้นไว้ด้วย เนื่องจากผลการส่งสัญญาณการใช้มาตรการควบคุมเงินลงทุนระยะสั้นที่ไม่ชัดเจนและเต็มไปด้วยความคลุมเครือของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเวลานั้นได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในกลุ่มนักลงทุนที่เป็น real investor ว่าทางการไทยกำลังจะทำอะไรกันแน่ และการใช้มาตรการจะครอบคลุมการลงทุนในตราสารตัวสั้นของพวกเขาด้วยหรือเปล่า real investor จึงเริ่มขายตราสารหนี้ระยะสั้นออกไปเพื่อป้องกันตัวเองไว้ก่อน

สำหรับด้านเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิ (net flow-in) ในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ระบุว่ามีทั้งสิ้นเกือบ 100,000 ล้านบาท โดยจะอยู่ในตราสารระยะยาวทั้งหมด ส่วนพวกที่เข้ามาเล่นเก็งกำไรตราสารระยะสั้นนั้นเขาเชื่อว่าน่าจะไหลออกไปจนหมดแล้ว ดังนั้น ส่วนที่เหลืออยู่ในตลาดปัจจุบันจะเป็นการเข้ามาลงทุนในตราสารระยะสั้นของกลุ่ม real investor จริงๆ แต่เพียงกลุ่มเดียว แต่ไม่มีพวกที่เคยเข้ามาเล่นเพื่อเก็งกำไรเหมือนดั่งเช่นที่ผ่านมาแล้ว และบรรยากาศการลงทุนในตลาดก็ยังคงมีการซื้อขายตราสารระยะสั้นกันอยู่ตามปกติ เพียงแต่ปริมาณนั้นอาจจะมีไม่มากเหมือนอย่างในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

สิ่งที่เห็นตอนนี้จะหมายถึงอะไร เราก็ต้องลองมาเทียบดูว่าการลงทุนเมื่อก่อนตัวยาวสุทธิโดยรวมจากที่มีกว่า 500,000 ล้านบาทหักลบกับตัวสั้นกว่า 100,000 ล้านบาทตัวยาวมันก็จะมีประมาณกว่า 300,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันการลงทุนโดยรวมสุทธิเฉพาะในตัวยาวได้ปรับตัวขึ้นมาถึงประมาณ 600,000 ล้านบาทจากที่มีเงิน flow in ใหม่เข้ามาตั้งแต่ต้นปีมานี้อีกเกือบ 100,000 ล้านบาทแล้ว
เพราะฉะนั้นตอนนี้การลงทุนตัวยาวมันยังมีเข้ามาอยู่และมันก็เป็นการลงทุนที่แท้จริง (real investment) แล้วด้วย ยกเว้นในช่วงต้นปีนี้ที่มีเข้ามาทางตัวสั้นเยอะ แต่ตอนนี้ก็ลดลงมาเหลืออยู่แค่ 150,000 กว่าล้านบาทแล้วจากที่เคยมีอยู่ 180,000 กว่าล้านบาท” นิวัฒน์ขยายความเพิ่มเติม

กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ยังมองว่ามันเป็นสัดส่วนที่ดี แม้จะมีปัญหาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลไทยมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นแล้ว และนักลงทุนต่างชาติต้องถอยออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยเพื่อโยกเงินกลับไปลงทุนในตลาดอเมริกากันแล้ว

เฟดเลิกใช้ QE ไม่กระทบตลาดตราสารหนี้
ชี้สัดส่วนเงินลงทุนมีแค่ 400 ล้านเหรียญ

อย่างไรก็ตาม นิวัฒน์ยังให้ภาพอนาคตของตลาดตราสารหนี้ไทยตามคำประกาศเป้าหมายยกเลิกมาตรการ QE จากเฟดในกลางปี 2557 ว่า เขาไม่คิดว่าตลาดตราสารหนี้ไทยจะมีปัญหาอะไรมากนัก เมื่อพิจารณาจากขนาดตลาดที่มีมูลค่ารวมกันแค่เพียงกว่า 700,000 ล้านบาท หรือประมาณกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่หากพิจารณาต่อไปถึงมูลค่าการอัดฉีดเงิน QE ของเฟดเดือนละ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และด้วยความที่น้ำหนักการลงทุนของตลาดในเมืองไทยที่ถ่วงอยู่ในดัชนีการลงทุนของโลก (global index) นั้นโดยประมาณแล้วจะมีเพียงแค่ 0.5% หรืออาจจะต่ำกว่านั้น

แม้อาจจะมีเม็ดเงินในส่วนของ QE ที่ถูกอัดฉีดไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ของไทยจริงๆ ก็ตาม แต่มูลค่าโดยรวมนั้นก็ยังถือว่าน้อยมากคือมีแค่เพียง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หากเฟดจะยกเลิก QE ในกลางปีหน้าเม็ดเงินลงทุนที่จะหายไปจากตลาดตราสารหนี้ของไทยจากมาตรการดังกล่าวนี้ก็จะมีเพียง 400 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นเอง

“ผมคิดว่าที่เฟดประกาศแผนหรือเป้าหมายยกเลิก QE ส่วนหนึ่งก็คงอยากจะทดสอบตลาดด้วย เพราะขนาดยิลด์พันธบัตรระยะยาวกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มันปรับขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้นะ แถมเฟดยังลดวงเงิน QE ลงมาแล้วด้วย แต่ตัวเลขเศรษฐกิจหลายๆ ตัวก็ยังดีอยู่ ซึ่งนั่นแสดงว่าการปรับตัวขึ้นของยิลด์ระยะยาวไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ QE ที่ออกมาเพื่อใช้กดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำๆ ก็อาจจะไม่จำเป็นแล้ว เฟดจะค่อยๆ ทยอยลดหรือเลิกไปเลยก็ได้” นิวัฒน์ ให้ความเห็น

“คลัง-ธปท.” ควรศึกษาแผนก่อนเฟดเลิก QE
แต่ขอให้พูดชัดๆ-อย่าทำมาตรการคลุมเครือ

อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังกล่าวด้วยว่าประเทศไทยเคยได้รับบทเรียนความผันผวนจากการประกาศแผนยกเลิกการใช้มาตรการ QE มาแล้ว เขาเห็นว่าทางการควรต้องศึกษาหามาตรการเตรียมรับมือล่วงหน้าในอนาคต แต่หากจะมีมาตรการใดใหม่ๆ ออกมาอีกกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยก็ขอร้องให้ควรพูดให้ชัดเจนและอย่าออกมาตรการที่คลุมเครือจนทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจความเคลื่อนไหวของทางการดั่งเช่นกรณีการประกาศมาตรการควบคุมเงินทุนระยะสั้นในครั้งที่ผ่านมา

นิวัฒน์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความคลุมเครือในมาตรการดังกล่าวว่า ประมาณ 3 ใน 4 ข้อของมาตรการที่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดระยะเวลาการถือครองตราสาร 3 เดือน 6 เดือนที่ไม่มีความชัดเจนว่าจะครอบคลุมเฉพาะในส่วนพวกที่เข้ามาเล่นเพื่อเก็งกำไรอย่างเดียวหรือจะรวมถึงพวกการลงทุนในตราสารของกลุ่ม real investment ด้วย

หรือการกำหนดให้นักลงทุนต้องทำประกันความเสี่ยงล่วงหน้าบาท (forwards) ต่อดอลลาร์ สำหรับการลงทุนนั้นก็ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเห็นว่าหากจะต้องทำ forwards แบบนั้นก็เท่ากับเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดตราสารหนี้ไทย จึงไม่สมเหตุสมผลหากนักลงทุนจะต้องเข้ามาลงทุนเพื่อแบกต้นทุนในการทำ forwards ตามมาตรการดังกล่าวนี้อีก นอกจากนี้ การกำหนดมาตรการเก็บภาษี ค่าธรรมเนียมก็เป็นอีกประเด็นที่ยังคงมีความคลุมเครือจากที่ไม่มีการระบุรายละเอียดว่าทางการจะเก็บอย่างไร

“พวกเราพูดเรื่องมาตรการนี้กันมากและก็พูดกันมาเรื่อย แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่ามาตรการจะเป็นอย่างไร อันที่จริงตั้งแต่ช่วงเดือนกว่าๆ มาแล้วนักลงทุนเขาชะลอการซื้อขายตราสารเพราะไม่มั่นใจพวกเรากำลังจะทำอะไรกัน ขนาดในวันที่ กนง.ลดดอกเบี้ยแล้วนะพวกเราก็ยังพูดกันเรื่องมาตรการอยู่เลย พอมีข่าวทางเฟดเข้ามานักลงทุนเลยหยุดซื้อเลย วันนั้นตลาดจึงไม่มีการซื้อขายตราสารหนี้ตัวสั้นกัน

“ผมเคยบอกไปแล้วว่าไอ้เรื่องเงินลงทุนเราต้องพูดต้องส่งสัญญาณถึงตลาดให้ชัดๆ นะ เพราะถ้านักลงทุนไม่มั่นใจเขาจะไม่มากันเลย เพราะอะไรก็ตามที่ซื้อแล้วขายไม่ได้เขาก็ไม่มา พอถึงวันแถลงข่าวออกมาตรการจริงๆ มาตรการที่ออกก็คลุมเครืออีก พอนักลงทุนถามไปก็ไม่มีคำตอบให้เขาอีก”

หากในอนาคตทางการจำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาผมก็ขออย่างเดียวคือขอให้พูดชัดๆ จะส่งสัญญาณถึงตลาดก็เอาให้ชัดเจน ตัวรัฐบาลเองก็มีแผนระดมทุนทำโครงสร้างพื้นฐาน และยิลด์ตอนนี้ก็เริ่มขึ้นแล้ว ต้นทุนก็ต้องเพิ่มตาม ถ้ายังขืนพูดอะไรไม่ชัดเจน ออกมาตรการคลุมเครืออีก เราคงจะระดมทุนจากคนพวกนี้ได้ลำบาก” กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ระบาย

นิวัฒน์ยังกล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายด้วยว่า ก่อนหน้านี้เขาได้เคยเสนอขอให้ ธปท. กำหนดให้โบรก์เกอร์ในต่างประเทศต้องส่งรายชื่อเพื่อระบุตัวตนของพวกซื้อตราสารระยะสั้นที่เป็นลูกค้าของตัวเองต่อทางการไทยด้วยไปแล้ว โดยเขาให้เหตุผลที่ต้องขึ้นรายชื่อของกลุ่มนี้ นั่นก็เป็นเพราะในตลาดตราสารหนี้ไทยนั้นเรื่องการไม่รู้ตัวตนของผู้เข้ามาเล่นซื้อขายตราสารระยะสั้นถือเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะพวกเขาไม่เคยรู้เลยว่าพวกที่เข้ามาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของพวกกองทุนประกันความเสี่ยง (hedge fund) หรือในรูปของบุคคลธรรมดาก็ตาม

“พวกเราไม่รู้เลยจริงๆ นะว่าคนพวกนี้มันเป็นใครกันแน่ เป็นพวก hedge fund อะไร หรือจริงๆ มันอาจจะเป็นคนไทยจากในประเทศหรือจากที่ไหนก็ได้ที่ออกไปเล่นจากข้างนอกเข้ามาซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกัน มันเลยทำให้ตลาดเรามีปัญหามากส่วนทาง ธปท.ก็เป็นห่วงหากทำแบบนี้แล้วมันจะกระทบต่อตลาดหรือเปล่า ตอนนี้เลยยังไม่มีข้อสรุป ธปท.จะทำหรือเปล่า เพราะนอกจาก ธปท. แล้วมันก็ไม่มีหน่วยงานไหนในไทยจะมีอำนาจทำได้ แต่เขาก็บอกว่าจะลองไปพิจารณาดูแล้วกันจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้กระทบอะไรเลยนะ เพราะพวกที่เป็นนักลงทุนจริงๆ เขาไม่ได้มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว และพวกเราก็รู้อยู่แล้วว่าพวกนี้เป็นใคร ก็ไม่จำเป็นต้องไปลิสต์รายชื่อพวกนี้” กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยกล่าวทิ้งท้าย







กำลังโหลดความคิดเห็น