xs
xsm
sm
md
lg

เลิก QE แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ tisco wealth

บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกยังคงถูกกดดันจากแผนการชะลอ/ยุติมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) ของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ดอกเบี้ยระยะยาวในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอัตราผลตอบแทน (yield) พันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.50% และส่งผลให้เกิดการเทขายสินทรัพย์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ การชะลอ/ยุติมาตรการ QE ของสหรัฐฯ จะส่งผลลบต่อราคาสินทรัพย์ทั่วโลกผ่าน 3 กลไกหลัก ได้แก่

1. ต้นทุนของการกู้ยืมที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกู้ยืมเงินของโลก ซึ่งเมื่อมีการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จึงส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศอื่นๆ รวมทั้งตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย และทำให้เกิดการเทขายตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ไทยและเอเชีย ซึ่งมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติเป็นจำนวนมากในช่วงก่อนหน้านี้ นอกจากนั้น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นยังอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมเงินของบริษัทจดทะเบียน และอาจกดดันผลกำไรในอนาคต

2. Risk Free Rate ปรับตัวสูงขึ้น การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง ย่อมทำให้นักลงทุนบางส่วนมีการโยกย้ายเงินลงทุนจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น หุ้นหรือตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อนำเงินกลับเข้าลงทุนในพันธบัตร และส่งผลให้อัตราคิดลด (Discount Rate) ของราคาหุ้นสูงขึ้น และทำให้ระดับ P/E ที่เหมาะสมของราคาหุ้นโดยเฉลี่ยลดต่ำลง

3. ความกังวลต่อสภาพคล่องที่อาจลดลงในอนาคต จากการดึงสภาพคล่องออกจากตลาดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งจะทำให้ปริมาณเงินในระบบลดลง และส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวลดลง

เราเชื่อว่าการปรับฐานของราคาหุ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดหุ้นในเอเชียปรับตัวลดลงเฉลี่ยราว 15% ได้สะท้อนผลลบจากการปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ไปมากเกินกว่าความเป็นจริงแล้ว นอกจากนั้น การชะลอ/ยุติ QE ของ Fed ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนอย่างมีนัย เนื่องจาก

1. การชะลอ/ยุติ QE ส่งสัญญาณถึงความมั่นใจของ Fed ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจนสามารถกลับไปสู่เทรนด์การขยายตัวแบบปกติโดยไม่ต้องพึ่งแรงกระตุ้นจากการอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมหาศาลอีกต่อไป ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อกำไรของบริษัทในอนาคต

2. การถือครองเงินสดของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน และการช่วงชิงจังหวะในการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้มาก่อนหน้านี้ในช่วงดอกเบี้ยต่ำจะทำให้การขึ้นของดอกเบี้ยในช่วงนี้จะมีผลกระทบต่อกำไรของบริษัทไม่มากนัก

3. เราเชื่อว่าตลาดกังวลต่อการลดสภาพคล่องในตลาดมากเกินไป เนื่องจากแม้ Fed จะระบุว่าอาจเริ่มลดขนาด QE ในช่วงปลายปีนี้ และยุติการอัดฉีดสภาพคล่องในช่วงกลางปีหน้า แต่ Fed ก็มิได้ระบุว่าจะมีแผนการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ ซึ่งหากพิจารณาถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 3% ในปีนี้ และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ Fed ประกอบกับอัตราว่างงานที่ยังสูงเกิน 7% เราเชื่อว่า Fed ยังไม่มีความจำเป็นที่จะดึงสภาพคล่องออกจากระบบ นอกจากนั้น การอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) จากธนาคารกลางของญี่ปุ่นซึ่งจะดำเนินต่อเนื่องไปตลอดช่วงอย่างน้อย 1 ปีข้างหน้า ยังจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องของโลกให้อยู่ในระดับสูงต่อไป

สำหรับภาพการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง มองว่าด้วยทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ Fed รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น จะทำให้ทิศทางดอกเบี้ยในสหรัฐฯ จากเดิมที่เป็นขาลงมาตลอดจะเริ่มกลับเป็นขาขึ้นอีกครั้ง และส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวของไทยปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย เรายังคงแนะนำ Underweight ตราสารหนี้ และหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ด้านกลยุทธ์การลงทุน เรายังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้น จะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น เนื่องจากผลกำไรที่ยังน่าจะเติบโตต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเราแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น โดยเฉพาะหุ้นไทย เนื่องจากอัตราการเติบโตของกำไรที่โดดเด่นที่สุดในภูมิภาค และหุ้นสหรัฐฯ จากแนวโน้มของเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

คมศร ประกอบผล, AFPTTM
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ทิสโก้ เวลธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น