xs
xsm
sm
md
lg

เผย 4 ปัจจัยหนุน “หุ้น” ทำจุดสูงสุดใหม่ “บอนด์ช็อก” ทุบตลาดเกิดใหม่เดี้ยงรอบ 12 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทรีนิตี้” เผย 4 ปัจจัยหนุน “ดัชนีตลาดหุ้น” เดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่ ยังอิงเม็ดเงิน “สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น” การเติบโต บจ. ต้องอยู่ในระดับ 23% และมีการลดภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภค พร้อมประเมิน “เฟด” เคาะเลือก 1 ใน 3 แนวทางปรับ “คิวอี” กำหนดชะตาหุ้นโลก ระบุสัปดาห์ก่อน “ตลาดเกิดใหม่” อ่วมโดนเทขาย 9 พันล้านดอลล์ มากสุดอันดับ 3 ในรอบ 12 ปี เกิดภาวะบอนด์ช็อก แต่หุ้นไทยแกร่งเพราะยืดหยุ่นต่อแรงขายสูง

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ เปิดเผยการประเมินสถานการณ์ และทิศทางตลาดหุ้น โดยระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกได้ปรับพอร์ตการลงทุนโดยการขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่เกือบ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นการขายที่มากที่สุดอันดับ 3 ในรอบ 12 ปี ซึ่งเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1) การส่งสัญญาณการลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) 2) การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ยืดนโยบายเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการซื้อสินทรัพย์แก่สถาบันการเงิน (Fixed Rate Operation) ซึ่งส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนทำให้ค่าเงินเยนแข็งขึ้น และ 3) การเกิดบอนด์ช็อก

ทั้งนี้ ฝ่ายวิเคราะห์ทรีนีตี้ คาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศสหรัฐฯ จะส่งนัยเรื่องเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์การลดขนาดการซื้อสินทรัพย์เป็น 3 กรณี คือ 1) ลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงในเดือนกันยายน หรือธันวาคม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) 10 ปี จะเท่ากับ 2.0-2.2% ส่งผลให้หุ้นแกว่งออกด้านข้าง และให้รอปัจจัยใหม่ 2) ลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ในเดือนมิถุนายน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) 10 ปีจะเท่ากับ 2.5% ส่งผลให้หุ้นจะถูกขายทำกำไรต่อเนื่อง และมีการปรับฐานขึ้นแรง 3) ลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงปีหน้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) ปรับตัวลดลงสู่ 1.6-1.8% ส่งผลให้หุ้นปรับตัวขึ้น (Rally) และกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์จะโดดเด่น

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ทิศทางของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศสหรัฐฯ (Fed) ตามที่ “ทรีนีตี้” คาดการณ์ไว้เชื่อว่ากรณีที่ 1 และกรณี 3 น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะถึงแม้อาจจะลดการออกมาตรการ QE ออกมาแต่ยังคงมีมาตรการอื่น เช่น การลดดอกเบี้ยบนทุนสำรองส่วนเกิน (Interest on Excess Reserve) และการกำหนดผลตอบแทน (Yield) ขั้นต่ำ ซึ่งสองมาตรการนี้อาจจะมีประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงมากกว่ามาตรการเชิงปริมาณ (QE)

นอกจากนี้ การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เป้าหมายของ SET Index ปรับตัวลดลง เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) ถือว่าเป็นต้นทุนทางการเงิน และถ้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) ปรับตัวเร่งเร็วขึ้น จะส่งผลให้หุ้นถูกเทขายทำกำไรมากขึ้น เนื่องจากอนุพันธ์นี้ผูกกับอัตราดอกเบี้ยมีปริมาณถึง 500 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม “ทรีนีตี้” เชื่อว่า SET Index มีความยืดหยุ่นต่อแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก เนื่องจากเม็ดเงินของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดพันธบัตร และหุ้นมีแค่ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยหลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ค.ศ.2009 (เมื่อวัดจากดุลบัญชีทุนหรือ Capital Account และการเปลี่ยนแปลงของทุนสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทยสุทธิจากดุลบัญชีเดินสะพัด และการลงทุนทางตรง)

นายวิศิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่จะทำให้ดัชนีหุ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้ต้องมีปัจจัยดังนี้ 1) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสม คือ 1.8-2.0% ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่ 2) การประสบความสำเร็จของมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นผ่านมาตรการ QE และการกระตุ้นการลงทุนผ่านการปฏิรูปภาษี หรือ Abenomis คือ ทำให้เม็ดเงินของภาคครัวเรือน และภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นที่มีอยู่ประมาณ 73 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ออกมาลงทุนประมาณ 10% ของการเปลี่ยนแปลงพอร์ตโฟลิโอมาสู่สินทรัพย์อื่นที่ไม่ใช่เงินสดถือเป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flow) ที่มาก 3) การเติบโตของบริษัทจดทะเบียนที่ระดับ 23% และ 4) การปรับลดภาษีนิติบุคคลธรรมดา และการปรับลดภาษีบุคคลธรรมดาเพื่อเพิ่มการบริโภค
กำลังโหลดความคิดเห็น