สศค.จี้ บ.ประกันชีวิต-วินาศภัยเร่งเสริมแกร่งรับ AEC จ่อประเมินความแข็งแกร่งธุรกิจใน 2 เดือนเพื่อหาแนวทางพัฒนาต่อไป พร้อมยันกองทุนส่งเสริมการประกันภัยฯ อยู่เกิน 2 ปีแน่ เล็งปรับบทบาท รุกประกันพืชผลการเกษตรทั้งข้าว และข้าวโพดมากขึ้น
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เปิดเผยว่า หลังจากนี้ทาง สศค.จะเตรียมทำการประเมินภาพรวมและความแข็งแกร่งของธุรกิจการประกันชีวิตและวินาศภัยของไทยเพื่อรองรับการเปิดเสรี โดยคาดว่าจะได้ผลสรุป และแนวทางการช่วยเหลือเพื่อให้บริษัทประกันชีวิตและวินาศภัยของไทยมีความสามารถในการแข่งขันภายหลังการเปิดเสรีการเงินภายใต้ประชาคมอาเซียน ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเรื่องหนึ่งเพราะใกล้จะมีการเปิดเสรีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาทาง สศค.ได้เคยมีการพูดคุยกับภาคเอกชนมาแล้ว 2 ครั้งแต่ยังไม่ได้รับข้อเรียกร้องอะไร จึงอยากให้ทางภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลักดันธุรกิจประกันฯ มากขึ้น โดยทาง สศค.มีความยินดีรับฟังปัญหาและพร้อมให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือในด้านภาษี หรือหลักเกณฑ์ต่างๆ
“ก่อนจะเปิดเสรีเราต้องดูว่าบริษัทประกันเราแข็งแกร่งพอหรือไม่ มีมากไปไหม และถ้ามากไปก็ส่งเสริมให้ควบรวมกันเพื่อให้ใหญ่ขึ้น ที่ผ่านมาอนุมัติเรื่องภาษีการควบรวมของทุนสำรองไปแล้ว ส่วนเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ธุรกิจประกันชีวิตและวินาศภัยก็คงจะต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินมากขึ้น โดยในส่วนที่จะให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นนั้นก็มีการผ่อนผันกันไปแล้วแต่ต้องดูเป็นรายๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ก็ยังไม่ได้เปิดหมดตรงนี้”
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของบทบาทของกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติหลังจากนี้คงจะมีการปรับเปลี่ยนมากขึ้น แต่เชื่อว่ากองทุนนี้น่าจะมีอายุได้มากกว่า 2 ปี ซึ่งที่ผ่านมากองทุนได้ทำหน้าที่เป็นอย่างดีและสามารถผลักดันให้ราคาเบี้ยรับประกันภัยต่อเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ โดยหลังจากนี้กองทุนฯ คงมีการพัฒนาบทบาทในการช่วยเหลือชาวนาและชาวไร่มากขึ้นในการป้องกันพืชผลทางการเกษตร
ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนกำลังจะทำการขยายความคุ้มครองข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นหลังจากเคยรับประกันเฉพาะข้าวนาปี นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายความคุ้มครองไปในพืชไร่ เช่น ข้าวโพด โดยในส่วนของข้าวโพดนั้นเป็นความต้องการของเกษตรกรที่แจ้งเข้ามากับทาง ธ.ก.ส. และได้เข้ามาปรึกษา ทำให้ขณะนี้ทาง สศค.กำลังอยู่ในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งบทบาทในลักษณะนี้เชื่อว่าจะไม่ผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ เพราะในต่างประเทศเองมีการรับประกันในรูปแบบนี้ด้วยเช่นกัน
“ตอนนี้กองทุนฯ ยังมีกำไรไม่เห็นว่าจะต้องปิด แต่เราไม่ต้องการกำไรเราจึงหาทางที่จะเข้าไปช่วยในส่วนอื่น ซึ่งการรับประกันพืชผลการเกษตรฯ บริษัทประกันไม่ค่อยให้ความสนใจเราจึงเข้ามาช่วย โดยมันจะเหมือนเมื่อก่อนที่ไม่มีแบงก์ปล่อยกู้รายย่อย แต่พอออมสินมาทำแล้วกำไรแบงก์เอกชนก็เข้ามา เช่นเดียวกันเมื่อมีเอกชนเข้ามา และเบี้ยต่ำลง มีการแข่งขันเกิดขึ้น ทางกองทุนคงจะต้องถอยออกมาเพราะไม่อยากแทรกแซงกลไกตรงนี้”