เลขาฯ คปภ.ฟันธงบริษัทประกันภัยแห่ควบรวมเพิ่ม หลัง ครม.ปลดล็อกเกณฑ์ภาษีเงินสำรองที่นำมาคำนวณเป็นรายได้ ระบุจะเป็นการเพิ่มศักยภาพและความแข่งแกร่งให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบในการลดอุปสรรคการควบรวมของบริษัทประกันโดยไม่ต้องนำเงินสำรองประกันภัยมาคำนวณในการเสียภาษีนั้น เชื่อว่าจะเป็นการสนับสนุนให้บริษัทประกันเกิดการควบรวมกิจการกันมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามสากลโลกที่การควบรวมกิจการของบริษัทประกันเข้าด้วยกันก็ไม่มีการนำเงินสำรองประกันภัยมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีอยู่แล้ว
“การประกอบธุรกิจของบริษัทประกัน ในฝั่งผู้รับประกันภัยเขารับเบี้ยประกันมาจากลูกค้า เขามีพันธสัญญาผูกพันตลอดอายุที่รับประกัน เพราะฉะนั้นต้องมีการตั้งสำรองประกันภัยเอาไว้ หากบริษัท ก.ควบรวมกับบริษัท ข. เดิมทีต้องเอาเงินสำรองประกันภัยของทั้ง 2 บริษัทมารวมกัน แต่พันธสัญญาทุกอย่างยังเหมือนเดิม เมื่อเอาสำรองมารวมกันทำให้เป็นอุปสรรค เพราะฉะนั้นแนวทางที่เสนอ ครม.ให้แก้ไขควบรวมคือ ให้นำสำรองที่เกิดจากการควบรวมยังคงอยู่ต่อไป และไม่ควรนำสำรองมาเป็นรายได้เพื่อนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี เพราะธุรกิจยังเดินหน้าต่อไป ซึ่งไม่เหมือนกับต้นทุนการผลิตปกติทั่วไป”
สิ่งที่ คปภ.อยากเห็นคือ ขจัดปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจประกันภัย และเพิ่มความเข้มแข็งให้บริษัทประกันภัยให้มีศักยภาพ มีขนาดที่ใหญ่พอ มีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมาตรการควบรวมถือว่าเป็นมาตรการหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะฉะนั้นจากนี้ไปน่าจะเห็นการควบรวมกิจการกันมากขึ้น และถือเป็นมาตรการหนึ่งในการรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะมีขึ้นในปี 2558 อีกด้วย ซึ่งเกณฑ์ที่ คปภ.เสนอไปนั้นเป็นเกณฑ์เดียวกันกับมาตรฐานสากลที่ไม่ต้องนำสำรองประกันภัยมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี ซึ่งก่อนหน้านี้ คปภ.ได้เสนอให้บริษัทประกันภัยมีความยืดหยุ่นในการลงทุนได้มากกว่าเดิม โดยสามารถขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศได้ด้วย และได้ผ่านความเห็นชอบจากทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับในฝั่งของผู้เอาประกัน ก่อนหน้านี้ คปภ.ได้เสนอเรื่องการจัดตั้งกองทุนประกันชีวิตและกองทุนประกันวินาศภัย และได้ผ่านมติ ครม.มาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ประเด็นของกองทุนดังกล่าวก็เพื่อช่วยเหลือผู้เอาประกันกรณีได้รับความเสียหายสูงสุดรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะเพิ่มความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมประกันได้อีกระดับหนึ่ง