xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.ขยายวงเงินสินเชื่อเครื่องจักรเครื่องยนต์การเกษตร เพิ่มเป็น 3.5 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธ.ก.ส. ขยายวงเงินสินเชื่อโครงการจัดหาเครื่องจักรเครื่องยนต์ทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของเกษตรกรเป็น 35,000 ล้านบาท หลังลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลงรายละกว่า 100,000 บาท เผยผลงานจ่ายสินเชื่อปี 55 เพิ่มกว่า 1.1 แสนล้านบาท พร้อมดูแลลูกค้าดีด้วยการจัดทำประกันชีวิตให้ฟรี โดยจ่ายเบี้ยประกันแทนลูกค้า จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยง และลดภาระด้านหนี้สินแก่ครัวเรือนเกษตรกร

นายชัยวัฒน์ ปกป้อง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากการที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อจัดหาเครื่องจักรเครื่องยนต์ทางการเกษตรในวงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2554-31 มีนาคม 2557 นั้น ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้จ่ายสินเชื่อตามโครงการไปแล้ว จำนวน 15,655 ล้านบาทจำนวนลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ 50,844 ราย โดยสามารถช่วยลดต้นทุนด้านดอกเบี้ยแก่ลูกค้าได้กว่า 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังคงมีลูกค้าแจ้งความประสงค์ขอใช้บริการสินเชื่อดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ธ.ก.ส.จึงขยายวงเงินสินเชื่อในโครงการนี้เพิ่มเติมอีก จำนวน 20,000 ล้านบาท รวมเป็น 35,000 ล้านบาท

โดยโครงการนี้จัดสินเชื่อเป็น 2 ประเภท คือ 1.เพื่อเป็นค่าลงทุนซื้อทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องยนต์ที่ใช้ในการผลิต การแปรรูป ยานพาหนะในการบรรทุกขนส่ง และ/หรือพร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วง เช่น รถไถนั่งขับ รถเกี่ยวข้าว รถสีข้าว รถสีข้าวพร้อมเครื่องสี รถสีข้าวโพด รถสีข้าวโพดพร้อมเครื่องสี เครื่องจักรกลการเกษตร รถยนต์บรรทุกขนส่ง เป็นต้น หรือ 2.เพื่อนำเงินกู้ไปชำระค่าเช่าซื้อกับบริษัทผู้ประกอบกิจการให้เช่าซื้อ หรือลีสซิ่ง หรือบริษัทในเครือตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการในลักษณะเดียวกัน พร้อมกับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นของเกษตรกร หรือของบุคคลอื่นในครอบครัว ทั้งนี้ เกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อจัดหาเครื่องจักรเครื่องยนต์จะได้รับการลดหย่อนในเรื่องหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นการจำนองอสังหาริมทรัพย์ หรือใช้บุคคลค้ำประกัน โดยให้วงเงินกู้ 80-100% ของทรัพย์สิน สามารถผ่อนชำระคืนได้สูงสุดถึง 8 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยแบบต้นเงินลดดอกเบี้ยลด ซึ่งต่ำกว่าระบบเช่าซื้อ (Flat Rate) เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย อันจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต ทำให้ลูกค้ามีกำไรสุทธิ (Net Profit) สูงขึ้น

กรณีลูกค้าขอกู้ซื้อใหม่ การคิดดอกเบี้ยแบบต้นลดดอกลดจะทำให้ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอย่างน้อย 100,000 บาทต่อราย และกรณีกู้ไปชำระค่าเช่าซื้อกับบริษัทผู้ประกอบการ ได้แก่ บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทยันม่าร์ แคบปิตอล (ไทยแลนด์) จำกัด จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยของเกษตรกรได้ประมาณ 60,000 บาทต่อราย เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทมีข้อตกลงร่วมกับ ธ.ก.ส. ว่าจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 80 ของดอกเบี้ยคงเหลือที่คิดคำนวณไว้ล่วงหน้า โครงการดังกล่าวนอกจากช่วยลดภาระดอกเบี้ย ยังเป็นการให้โอกาสแก่เกษตรกรที่ไม่มีเงินทุน หรือหลักทรัพย์จำนอง ได้มีเครื่องจักรกลที่ใช้ในการผลิตเป็นของตนเอง และสามารถนำไปให้บริการรับจ้างแก่เกษตรกรอื่นๆในพื้นที่ เพื่อเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ การใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ทางการเกษตรยังสะท้อนถึงทิศทางการผลิตทางการเกษตรที่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรมาทดแทนการใช้แรงงานคน รองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรที่มีมากขึ้น นายชัยวัฒน์กล่าว

สำหรับภาพรวมการดำเนินงานด้านสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ในปีบัญชี 2555 (1 เม.ย.55-31 มี.ค.56) ตั้งเป้าหมายการจ่ายสินเชื่อเพิ่มขึ้น 80,000 ล้านบาท แต่ผลการดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 หรือสิ้น ธ.ค.55 จ่ายสินเชื่อเพิ่มขึ้นกว่า 110,388 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าเป้าหมาย เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกษตรกรมีความต้องการเงินกู้เพื่อนำไปฟื้นฟูการผลิต ประกอบกับมีเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) จากธนาคารแห่งประเทศไทยที่สมทบเข้ามาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอีกประมาณ 42,000 ล้านบาท

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า การดำเนินงานด้านสินเชื่อของ ธ.ก.ส. นอกจากเน้นความพอเพียงเพื่อลดการพึ่งพาเงินทุนนอกระบบของเกษตรกร และการให้บริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแล้ว ยังมุ่งเน้นในเรื่องการลดความเสี่ยงให้แก่ลูกค้า โดยในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้จัดทำโครงการสวัสดิการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ดี ด้วยการจัดทำประกันชีวิตให้ฟรี วงเงินคุ้มครองขั้นต่ำรายละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระหนี้สินให้แก่ทายาท และครอบครัวของลูกค้า กรณีลูกค้าเสียชีวิต หรือทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร โดยมีลูกค้าที่ได้รับประโยชน์ในปี 2554 และ 2555 จำนวน 2.47 ล้านราย และ 2.53 ล้านราย วงเงินที่ ธ.ก.ส.จ่ายเพื่อชำระค่าเบี้ยประกันจำนวน 317.2 ล้านบาท และ 652.6 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งในช่วง 2 ปีนี้ มีเกษตรกรลูกค้าเสียชีวิต และทุพพลภาพจำนวน 9,226 ราย และได้รับชดเชยค่าสินไหมไปแล้วทั้งสิ้น 658.6 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น