คปภ.แก้ไข พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย และประกันชีวิต คุ้มครองผู้เอาประกันรับชำระหนี้ทันท่วงที หลังบริษัทถูกถอนใบอนุญาต เพื่อให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยมีความเชื่อมั่นในธุรกิจประกันภัยมากยิ่งขึ้น พร้อมสร้างความแข็งแกร่งต้อนรับสู่ AEC
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ.ได้ยกร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยและร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย และพระราชบัญญัติประกันชีวิต เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมประกันภัยในระยะยาว คุ้มครองผู้เอาประกันภัยและเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับการชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยได้ทันท่วงทีที่บริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือคำสั่งปิดกิจการ โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ ซึ่งผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ สรุปได้ ดังนี้
1. กำหนดให้กองทุนประกันวินาศภัย และกองทุนประกันชีวิต ชำระหนี้ให้แก่ผู้เอาประกันได้ทันท่วงทีที่บริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิตถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือคำสั่งปิดกิจการ โดยกองทุนฯ สามารถนำหลักทรัพย์และเงินสำรองที่วางไว้กับสำนักงาน คปภ.มาชำระหนี้ได้ทันที ซึ่งจากเดิมผู้เอาประกันภัยต้องรอจนกว่าคดีล้มละลายจะสิ้นสุด
2. กำหนดให้กองทุนประกันวินาศภัย และกองทุนประกันชีวิต มีอำนาจกู้ยืมหรือออกตราสารการเงินอื่นๆ ได้ เพื่อให้กองทุนฯ มีทรัพย์สินในการชำระหนี้คืนให้แก่ผู้เอาประกันภัย
3. กำหนดให้กองทุนประกันวินาศภัย และกองทุนประกันชีวิต ทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชี เมื่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แต่งตั้ง
4. ปรับปรุงโครงสร้างผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจประกันภัย โดยในกรณีมีเหตุสมควร คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อาจอนุญาตให้บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และให้มีกรรมการที่เป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง และในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขฐานะการดำเนินการ หรือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของบริษัทใด หรือเพื่อความมั่นคงของธุรกิจประกันภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจเห็นชอบให้บริษัทประกันภัยเพิ่มสัดส่วนบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย หรือกรรมการของบริษัทเกินกว่าร้อยละ 49 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้
ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับเป็นการพัฒนาระบบประกันภัยตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2553-2557) เพื่อให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยมีความเชื่อใจ เชื่อมั่นในธุรกิจประกันภัยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทประกันภัยเพื่อพร้อมก้าวสู่การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC )