xs
xsm
sm
md
lg

ทองคำ อีกครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ บัวหลวง Money Tips

โดย พิชา เลียงเจริญสิทธิ์ ดุษฎี ผู้พัฒน์ และวรวรรณ ธาราภูมิ

ปี 2555 เป็นปีของการปรับฐานของราคาทองคำตลอดทั้งปีหลังจากที่ราคาเพิ่มขึ้นมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับฐานที่กินระยะเวลานานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 โดยราคาทองคำเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง $1,550/oz-$1,750/oz และปรับเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับนโยบาย QE3 ของสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ราคาทรงตัวอยู่บริเวณ $1,700/oz

นับตั้งแต่ต้นปี 2555 ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกได้ดำเนินนโยบายอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่อัดฉีดเงินผ่านโครงการ LTRO หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อัดฉีดเงินด้วยนโยบาย QE3 หรือธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ประกาศว่าจะเริ่มอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบอย่างจริงจัง ซึ่งการใช้นโยบายอัดฉีดเศรษฐกิจนี้ควรจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อราคาทองคำเพราะทองคำมีสถานะเป็นสกุลเงินทดแทนที่ไม่ด้อยค่า แต่กลับกลายเป็นว่าราคาทองคำไม่ค่อยจะปรับเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ สาเหตุหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะนักลงทุนพอจะทราบแล้วว่าการใช้นโยบายอัดฉีดเม็ดเงินนั้นไม่ได้ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้น เพราะเงินส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจริง ดังนั้น การคาดหวังว่าราคาทองคำจะปรับเพิ่มขึ้นจากการอัดฉีดเม็ดเงินน่าจะมีน้ำหนักน้อยลง

ประเด็นที่สามารถจะเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำได้ในปี 2556 คือปัญหาหน้าผาการคลังของสหรัฐฯ (Fiscal Cliff) ซึ่งผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ จะต้องเร่งเจรจาในรายละเอียดของนโยบายภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่นโยบายช่วยเหลือทางภาษีอันเก่าจะหมดระยะเวลาในสิ้นปี 2555 ซึ่งเชื่อว่าในที่สุดรัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะขยายเวลาการใช้นโยบายช่วยเหลือทางภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพียงแต่อาจจะมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่จะส่งผลกระทบให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังขาดดุลการคลังต่อเนื่องในระดับสูงและต้องขยายระดับเพดานหนี้สาธารณะขึ้นอีก ซึ่งเป็นวงจรต่อเนื่องเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด อันจะทำให้ความน่าเชื่อถือของเงินดอลลาร์ลดลงในอนาคตระยะยาว เป็นผลบวกต่อทองคำ

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรทราบด้วยว่าปัจจัยเรื่องระดับหนี้ของสหรัฐฯ ไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและราคาทองคำ อีกปัจจัยที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ที่ปัจจุบันกำหนดให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดที่ 0.25% และเชื่อว่า FED จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้อีกเป็นระยะเวลานาน อย่างน้อยถึงกลางปี 2558 จนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2555 FED ได้ประกาศมาตรการเศรษฐกิจที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงว่าตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำจนกว่าอัตราการว่างงานจะลดลงต่ำกว่า 6.5% และเงินเฟ้อสูงกว่า 2.5% จึงเป็นครั้งแรกที่ FED ยอมผูกพันตัวเองกับระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะปกติการว่างงานเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐบาลในขณะที่ FED เน้นดูแลเรื่อง Price Stability แต่ครั้งนี้ FED โยงอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับระดับการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อ โดยย้ำว่าจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันทีหากอัตราการว่างงานลดลงหรือเงินเฟ้อสูงขึ้น เพราะยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบ เช่น จำนวนคนเลิกหางานทำ เป็นต้น เนื่องจากที่ผ่านมานั้นแม้ว่าระดับการว่างงานได้ลดลงจาก 9% มาอยู่ที่ 7.7% ในเดือน พ.ย. 2555 แล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นผลจากคนงานที่เคยออกจากแรงงานไปกลับมาได้งานทำ ซึ่งไม่ใช่การสร้างงานใหม่

การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของ FED จึงสะท้อนว่า FED พร้อมจะรับสภาพภาวะเงินเฟ้อที่สูงกว่าปกติได้ระดับหนึ่ง จากปัจจุบันที่ประมาณ 2% แต่ให้เป้าหมายเป็นไม่เกิน 2.5% เนื่องจาก QE ที่ผ่านมาไม่ได้ช่วย Real Economy ได้มาก ซึ่งสะท้อนจาก GDP ที่อยู่ระดับ 2.0-2.5% มานับตั้งแต่ช่วงปี 2553-2555 อีกทั้งผลของ QE ก็ไม่ได้ช่วยให้มีการจ้างงานเพิ่มมากตามที่ FED คาดหวังไว้ ซึ่งสะท้อนว่า FED พยายามหาแนวทางใหม่เพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งและมั่นคง และหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวได้ในอนาคต โดย FED เริ่มมีสัญญาณที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย นั่นจึงจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากต่อราคาทองคำ และเป็นประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด

นอกจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ที่จะส่งผลต่อราคาทองคำได้อีกประการหนึ่งแล้ว ยังมีปัจจัยต่างๆ หลายปัจจัยในขณะนี้ที่ส่งผลบวกต่อราคาทองคำได้ เช่น ปัญหาการคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายลงได้ในระยะเวลาอันใกล้ ดังนั้น การด้อยค่าของสกุลเงินและเงินเฟ้อจึงน่าจะส่งผลบวกต่อทองคำได้ต่อเนื่องในระยะยาว

กองทุนบัวหลวงจึงขอแนะนำให้นักลงทุนมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการด้อยค่าของสกุลเงิน และเป็นช่องทางกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายๆ ประเภทเพื่อลดความเสี่ยง ลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวมได้

Peter Schiff กล่าวไว้ว่า ....

“อเมริกาไม่ได้ต่างไปจากประเทศในยุโรปตอนใต้ คนอเมริกันบริโภคมากกว่าที่ผลิตได้เอง แต่แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยการบริโภคน้อยลงและผลิตมากขึ้น ก็กลับไปกู้มาใช้ซึ่งเป็นหนทางที่ไม่เจ็บปวด ก็ใครจะไปประณามได้ในเมื่อการบริโภคมีความสุขมากกว่าการผลิต ซึ่งในบั้นปลายผู้กู้จะกู้มากขึ้นๆ ตราบเท่าที่เจ้าหนี้ยอมให้กู้แบบที่เห็นกันเสมอๆ ในโลกการเงิน และโชคร้ายที่เรากำลังจะได้เห็น QE อีกหลายภาคมากกว่าซีรีส์หนังเรื่อง Rocky เพราะสิ่งเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เดินหน้าไปได้ก็คือ QE และเมื่อเอามันออกไปก็จะพังไปทั้งระบบ

ดังนั้น ทองคำจึงน่าลงทุนก็เพราะมันมีค่าในตัวเองอย่างแท้จริง ต่างกับเงินกระดาษอย่างอเมริกันและยูโรดอลลาร์ที่ไม่มีค่าในตัวเอง และเป็นเพียงกระดาษพิมพ์ที่รัฐบาลจะใส่เลขอะไรลงไปก็ได้ แต่ทองคำเป็นของแท้ที่รัฐบาลเสกออกมาไม่ได้ ผมจึงเห็นตลาดกระทิงในกรอบใหญ่ระยะยาวสำหรับทองคำ”


กำลังโหลดความคิดเห็น