xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนหุ้นไทยมาแรง ผลตอบแทนเพิ่มถ้วนหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บทความโดย
กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ
มอร์นิ่ง สตาร์ ไทยแลนด์

ตลาดหุ้นไทยได้ผ่านมา 9 เดือนดัชนี SET Index ให้ผลตอบแทนกว่า 26.67% สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเป็นรองเพียงตลาดหุ้นของตุรกี 28.26% เท่านั้น กองทุนรวมก็โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยทุกประเภทสินทรัพย์สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกทั้งหมดในไตรมาส 3 นี้

อีกไฮไลต์หนึ่งที่สำคัญประจำไตรมาส 3 ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงปริมาณครั้งที่ 3 (QE3) ของสหรัฐฯ ที่ได้ประกาศออกมาตามความคาดหมายในช่วงปลายไตรมาส 3 ซึ่งแน่นอนว่าได้ส่งผลดีต่อตลาดในภาพรวมทั้งในแง่ของเงินทุนที่ไหลเข้ามาสู่ตลาด รวมถึงหลายสินทรัพย์ที่ได้รับผลดีจากการออกมาตรการนี้ เช่น ทองคำ หุ้น ตราสารหนี้ เป็นต้น

ในส่วนของตราสารหนี้ ถึงแม้ดูจะเป็นสินทรัพย์ที่ถูกพูดถึงน้อยในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ตราสารหนี้ก็ยังคงสร้างผลตอบแทนได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารหนี้ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยดัชนี JP Morgan EMBI Global สามารถทำผลตอบแทนได้สูงถึง 14.7% ซึ่งมากกว่าหุ้นบางดัชนีด้วยซ้ำไป อีกทั้งเมื่อดูย้อนหลัง 5 ปีก็ยังสามารถทำผลตอบแทนได้ดีเช่นกันที่เฉลี่ยกว่าปีละ 10% ดังนั้น นักลงทุนอย่าเพิ่งมองข้ามการลงทุนตราสารหนี้ไป ขณะที่ตราสารหนี้ในประเทศไทยก็ยังคงให้ผลตอบแทนที่ไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในต่างประเทศ

ขณะที่ทองคำและน้ำมัน หลังจากที่ราคาทรงๆ มาตลอดช่วงครึ่งปีแรก ทองคำกลับมาแรงอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยดัชนี London Fix Gold AM ปรับตัวสูงกว่า 13% ซึ่งสูงกว่าหุ้นด้วยซ้ำไป โดยส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงปริมาณครั้งที่ 3 (QE3) ของสหรัฐฯ น้ำมันก็เช่นกันปรับตัวขึ้นสูงกว่า 14% อีกครั้ง หลังจากที่ติดลบอย่างหนักในช่วงไตรมาส 2 แต่โดยรวมทั้งปีก็ยังคงติดลบอยู่ที่ประมาณ -6%

สำหรับอุตสาหกรรมกองทุนรวมโดยรวมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท แต่หลักๆ ก็ยังคงเติบโตจากกองทุนรวมตราสารหนี้ประเภท Term Fund ซึ่งยังคงได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดย ณ ปัจจุบันกองทุน Term Fund อายุ 6 เดือนจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3% ต่อปี

โดยกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นกองทุนอีกประเภทหนึ่งที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในปีนี้ โดยมีออกมาแล้วทั้งสิ้น 5 กองทุน และสามารถระดมทุนได้สูงถึงกว่า 32,000 ล้านบาท อีกทั้งหลายกองทุนนอกจากจะให้ผลตอบแทนในรูปแบบของเงินปันผลที่ดีแล้วก็ยังสามารถทำผลตอบแทนในแบบ Capital Gain ได้สูงเช่นกัน โดยสูงสุดได้ถึง 78% แต่ปัญหาที่สำคัญของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ก็ยังคงเป็นเรื่องสภาพคล่องซึ่งหลายกองทุนยังมีไม่มากนัก ซึ่งนักลงทุนที่สนใจลงทุนก็อยากให้ระมัดระวังตรงจุดนี้ไว้ด้วย

อย่างไรก็ตามไตรมาส 3 ที่ผ่านมานับเป็นไตรมาสที่ดีอย่างมากของกองทุน โดยผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนทุกประเภทเป็นบวกทั้งหมด โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นกองทุนหุ้นในประเทศไทย โดยกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กทำผลตอบแทนได้ดีกว่าที่เฉลี่ย 13.02% (ทั้งปีสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยกว่า 32.69%) ขณะที่กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ทำได้เฉลี่ย 9.88% (ทั้งปีเฉลี่ย 27.69%)

ส่วนกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Global Equity เฉลี่ย 4.77% Emerging Market Equity เฉลี่ย 5.12% และ Asia Pacific ex-Japan Equity เฉลี่ย 4.1% ต่างก็สามารถทำผลตอบแทนได้ดีตามสภาวะตลาดที่ปรับตัวขึ้น กลุ่มตราสารหนี้ต่างประเทศก็ยังทำผลตอบแทนได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่ม Global Bond ที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ย 2.94% ส่วนกลุ่มตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Bond) ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง 4.18% ขณะที่กลุ่มตราสารหนี้ในประเทศทำผลตอบแทนได้ไม่สูงมากนักที่เฉลี่ยเกือบ 1% ในทุกกลุ่ม สุดท้ายคือกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งกองทุนที่ลงทุนในทองคำและกองทุนน้ำมัน หลังจากที่นิ่งมาตลอดช่วงครึ่งแรกของปีก็กลับมาทำผลตอบแทนได้ดีอีกครั้งในไตรมาส 3 นี้ โดยกองทุนที่ลงทุนในทองคำทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 10.63% ขณะที่กองทุนน้ำมันได้เฉลี่ย 5.61% แต่เฉลี่ยทั้งปียังคงติดลบอยู่ที่ 10.47%

ส่วน บลจ.ก็พยายามออกกองทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ทั้งลงทุนในอเมริกา และจีน ซึ่งในไตรมาส 3 ที่ผ่านมานี้มีออกมาหลายกองทุนเหมือนกัน อีกทั้งเริ่มมีการนำรูปแบบการออกกองทุนแบบ Share Class มานำเสนอให้ผู้ลงทุนไทยด้วยเช่นกัน ความหมายก็คือ กองทุนที่มีนโยบายเดียว พอร์ตการลงทุนเดียว แต่มีลักษณะการจ่ายผลตอบแทนตามประเภทของกองทุน เช่น ชนิดสะสมมูลค่า, ชนิดจ่ายเงินปันผล และชนิดรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ รวมทั้งยังสามารถใช้แบ่งประเภทของนักลงทุนอีกด้วย เช่น ผู้ลงทุนรายย่อย ผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างของผู้ลงทุนนั่นเอง

ทั้งนี้ Trigger Fund หลังจากที่ออกกันมาในช่วงไตรมาส 2 ของปี ไตรมาส 3 นี้ก็เริ่มเบาลงโดยมีออกมาทั้งสิ้นเพียง 3 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 600 ล้านบาท ขณะที่กองที่ออกมาในไตรมาส 2 ก็สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายและทยอยปิดกันไปเป็นส่วนใหญ่โดยยังคงเหลือเพียงแค่ไม่กี่กองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่าหากนักลงทุนลงทุนในกองทุนหุ้นแบบปกติ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่หรือเล็กก็ตาม ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 9% และ 13% ในช่วงไตรมาส 3 ตามลำดับ หรือถ้าถือต่ออาจได้ผลตอบแทนที่มากกว่า ขณะที่ Trigger Fund จะแคปไว้ที่ประมาณ 7-8% เท่านั้นเอง

ส่วน Fund Flow ส่วนที่อยากจะเน้นเป็นพิเศษเห็นจะเป็น Fund Flow ของกองทุนทั้ง LTF และ RMF ที่ยังคงนิ่งๆ อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง LTF ที่ยังคงไหลออกสุทธิอย่างต่อเนื่อง ไหลออกสุทธิอย่างต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกันโดยรวมกว่า 21,000 ล้านบาท ส่วน RMF ก็ยังดีที่เริ่มเห็นเงินไหลกลับเข้ามาลงทุนบ้างประมาณ 500 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 นี้แต่ก็ยังถือว่าน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 เมื่อปีที่แล้ว ดังนั้น ถ้าลองดูจากสถิติในอดีตย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าไตรมาส 4 นี้น่าจะมี Fund Flow ไหลเข้ามากองทุนทั้ง 2 ประเภทนี้รวมเกือบ 30,000 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าตลาดหุ้นยังคงเป็นเช่นนี้คาดว่าเงินลงทุนส่วนใหญ่น่าจะไหลไปที่กองทุน LTF ประเภท 70/30 ส่วน RMF คาดว่าคงเป็นประเภทที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้เช่นเดิม ตัวเลขของ Fund Flow ที่เป็นเช่นนี้ยังคงตอกย้ำลักษณะการลงทุนของผู้ลงทุนไทยที่ยังคงนิยมลงทุนแบบครั้งเดียว (Lump sum Investment) ในช่วงปลายปีเช่นเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น