xs
xsm
sm
md
lg

กูรูมอง AEC เป็นโอกาสดีของไทย พม่า-อินโดฯ ทรัพยากรธรรมชาติเด่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณรงค์ชัย อัครเศรณี
กูรูมอง AEC เป็นโอกาสลงทุนที่ดีของไทย ทั้งพม่า เวียดนาม อินโดฯ ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ชี้ไทยอยู่ตรงกลางได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ขณะที่แบง์ชาติเปิดช่องเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี แนะขยายการผลิตและสร้างนักวิเคราะห์

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานบรรยายเรื่อง AEC & GMS and New Investment Opportunity ว่า ในการเปิดเสรีอาเซียน 10 ประเทศนั้นจะเห็นได้ว่าไทยอยู่ตรงกลางของภูมิภาคซึ่งมีความได้เปรียบในทางภูมิศาสตร์ในเรื่องของการเดินทางเชื่อมต่อสู่ประเทศต่างๆ ขณะเดียวกัน ปัจจุบันตลาดของไทยเป็นตลาดที่ดีกว่าประเทศอื่น แต่มีปัญหาในเรื่องของแรงงานและไม่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มากพอ ดังนั้นไทยต้องขยายการผลิตออกไปสู่ประเทศต่างๆ ซึ่งทางฝั่งชายแดนของไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูง และไทยก็มีความพร้อมในเรื่องของเงินทุนที่มีมาก โดยรวมแล้วในอนาคตอาเซียนจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย

“จากการที่สหรัฐฯ ออกมาตการ QE3 ไม่มีผลกระทบต่อไทย แต่เป็นการช่วยให้สหรัฐฯ ไม่ทรุดตัวรวมทั้งเศรษฐกิจโลกด้วย ขณะเดียวกัน ทาง กนง.ตอนนี้กำลังดูเรื่องของเงินทุนไหลเข้าและเรื่องสินเชื่อของไทย มองว่าอัตราดอกเบี้ยจากนี้ จะอยู่ในระดับคงตัว หรือลดลงเท่านั้น” นายณรงค์ชัยกล่าว

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนและสภาหอการค้าได้มีความตื่นตัวในเรื่องการเปิดเสรีอาเซียนมาก ซึ่งโดยภาพรวมแล้วไทยมีความพร้อมในอุตสาหกรรมพื้นฐานต่างๆ และมีสินค้าส่งออกที่มีคุณภาพสูงเป็นการนำร่องที่ดีในเรื่องการเปิดเสรีอาเซียน ส่วนประเทศที่มีความน่าสนใจเข้าไปลงทุนนั้นคือ พม่า อินโดนีเซียที่มีทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงเวียดนาม แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยในเรื่องการเปิดเสรีนั้นคือเรื่องภาษา รวมทั้งการที่ภาครัฐต้องอบรมและสร้างแรงงานที่สามารถออกไปสู่ประเทศอื่นๆ ได้ เพราะส่วนใหญ่ธุรกิจในไทยเป็นธุรกิจขนาดเล็กแบบครอบครัวภาครัฐต้องเข้ามาบริหารจัดการส่งเสริมธุรกิจเหล่านี้ ขณะที่เรื่องภาษีก็จะมีผลต่อการแข่งขันด้วยเช่นกัน

นายอุดมศักดิ์ โศภนกิจ ที่ปรึกษา บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) มองว่า AEC เป็นโอกาสที่ดีของคนไทย แต่ยังมีอุปสรรคเรื่องภาษาที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นและน่ากังวลคือมีการย้ายเงินทุนและเข้าไปเทกโอเวอร์กิจการ ขณะที่ทางสหพัฒนฯ มีแผนที่จะออกไปต่างประเทศโดยใช้ฐานการผลิตในไทยเป็นหลักและเน้นการผลิตสินค้าที่เข้าถึงความต้องการของประเทศให้มากขึ้น

โดยมองว่าเศรษฐกิจประเทศเวียดนามมีความน่าสนใจในอนาคต อีกประเทศคือพม่า ซึ่งมีการค้าทางชายแดนระหว่างไทยเป็นหลัก แต่การไปลงทุนในพม่านั้นยังคงต้องมองให้ดีโดยเฉพาะในเรื่องกฎหมายการทำธุรกิจ

นายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส กลุ่มลงทุนและบริหารการเงิน รักษาการแทนผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การออกมาตรการ QE3 ของสหรัฐฯ ทำให้เงินลงทุนไหลเข้าสู่อาเซียนมากขึ้น ซึ่งมองว่าการเกิด AEC จะทำให้เงินลงทุนไหลเข้าไทยมากขึ้น เกิดกองทุนและรูปแบบการลงทุนต่างๆ มากขึ้น ส่วนโอกาสของการไปลงทุนในอาเซียนนั้น ประเทศที่น่าสนใจคืออินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม โดยตอนนี้รูปแบบการระดมทุนเปลี่ยนไป ไทยต้องมีการออกบอนด์เพื่อระดมทุนซึ่งทำให้ตลาดบอนด์มีการเติบโต รูปแบบนี้จะทำให้ตลาดไทยมีความน่าลงทุนมากขึ้น แต่ประเทศไทยต้องมีนักวิเคราะห์เพิ่มมากขึ้นเพื่อสามารถให้ข้อมูลการลงทุนได้

นางสุธาศินี นิมตกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเรื่องของ AEC ทางแบงก์ชาติ ได้มองเห็นโอกาสในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายในการให้นิติบุคคลออกไปลงทุนได้โดยเสรีในประเทศต่างๆ ในอาเซียนและทั่วโลก ซึ่งมีการออกไปลงทุนในพม่ามากขึ้นในเรื่องพลังงาน รวมทั้งในเรื่องการเปิดเสรีของเงินลงทุนในรูปแบบพอร์ตโฟริโอ ขณะเดียวกันทางแบงก์ชาติได้มีการลดขั้นตอนในการขอออกไปลงทุนเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมองว่าการเปิดเสรีอาเซียนนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมีสกลุเงินสำรองอาเวียนเหมือนกับกลุ่มยูโรโซน เพราะเนื่องจากเศรษฐกิจของแต่ละประเทศต่างกัน หากมีการใช้เงินสกุลเดียวกันจะเป็นการจำกัดอิสระในนโบายทางการเงิน


กำลังโหลดความคิดเห็น