xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจลอจิสติกส์ภายใต้ AEC รุ่ง “กฎหมาย-กติกา” ไม่หมู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
เปิดธุรกิจ “ลอจิสติกส์” ภายใต้ AEC ไม่ง่าย แม้ตลาดมหาศาล แต่ติดปัญหาด้านกฎหมาย-ความชำนาญของพื้นที่ไม่เอื้อ ยังต้องพึ่งพาคนท้องถิ่น ขณะที่การเชื่อมต่อพลังงานเปิดกว้างมากขึ้น ใครได้สัมปทานรับประโยชน์เพียบ ด้าน บ.ลอจิสติกส์ต่างชาติซุ่มเจรจากับผู้ประกอบการอาเซียน หวังชิงตลาดก่อน อ.จุฬาฯ เผย บ.ลอจิสติกส์ SME ต้องปรับตัวเป็นลูกข่ายเจ้าใหญ่พร้อมเน้น “สร้างแบรนด์-จุดยืน-ตรารับรองมาตรฐาน” ก่อนเจ๊ง

ธุรกิจลอจิสติกส์ในระดับภูมิภาคอาเซียน ภายใต้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เป็นธุรกิจที่มีตลาดใหญ่มหาศาล สินค้าจะกระจายสู่ภูมิภาค ที่มาพร้อมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน หากผู้ที่อยู่ในสายงานลอจิสติกส์ หรือผู้ประกอบการรายใหญ่เตรียมความพร้อมสู่การรองรับสินค้าในระดับนานาประเทศได้ก็ย่อมได้เปรียบ ไม่ใช่เฉพาะการขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแหล่งพลังงานทางท่อภายใต้เงื่อนไข “ไร้พรมแดน” โดยมีโปรเจกต์เชื่อมถนน ราง และคมนาคมเชื่อมต่อกัน และโดยเฉพาะเมื่อหลายประเทศเปิด อย่างพม่าที่เป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์

ข้อมูลเผยแพร่จากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) เปิดเผยว่า สำหรับอาเซียนมีการเชื่อมโยงที่สำคัญคือ โครงการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง (Singapore Kunming Rail Link: SKRL) แนวคิดตามโครงการเส้นทางรถไฟสายเอเชียเอสแคป เพื่อเชื่อมทวีปเอเชียและยุโรปเข้าด้วยกัน เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2503 และเป็นทางรถไฟความเร็วสูง 200กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2558 เชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายหลักของ 8 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม พม่า และมณฑลยูนนานของจีน

ส่วนของสิงคโปร์ต้องการเชื่อมทางรถไฟกับอินโดนีเซีย โดยสร้างอุโมงค์รถไฟใต้น้ำลอดช่องแคบมะละกาจากชายแดนมาเลเซียถึงเกาะขนาดเล็กของอินโดนีเซีย ระยะทาง 18.9 กิโลเมตร ก่อนจะสร้างสะพานเชื่อมกับเกาะสุมาตรา

จากแผนความร่วมมือด้านการคมนาคมที่เชื่อมต่อในประเทศกลุ่มอาเซียน จะรองรับระบบการขนส่ง ลอจิสติกส์ และการเดินทางในภูมิภาคให้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำลง

 
‘บริษัทผู้ผลิตยักษ์ใหญ่’ ควบทำลอจิสติกส์
 

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา ประธานหลักสูตร BBA International และอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้าน AEC วิเคราะห์ถึงบริษัทลอจิสติกส์ในประเทศไทย พบว่าขณะนี้หลายบริษัทหันมาทำลอจิสติกส์เอง โดยเฉพาะลูกค้าที่เคยเป็นผู้ผลิตวันนี้ผันตัวมาทำเอง อย่าง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), เครือเอสซีจี, บริษัทในเครือดั๊บเบิ้ลเอ, บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพี เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ฯลฯ ที่เมื่อก่อนผลิตสินค้าอย่างเดียว ว่า อาจเพราะเห็นว่าบริษัทผลิตอยู่แล้ว ทำการตลาดอยู่แล้ว ทำไมไม่ทำการกระจายสินค้าเสียเอง จะได้ครบวงจร แต่ก็มีหลายกลุ่มธุรกิจ หรือบางบริษัทที่ไม่จับด้านลอจิสติกส์ เพราะไม่ถนัด ไม่ชำนาญ อย่างเช่น ธุรกิจอาหารทะเล อาจไม่มีความชำนาญ เป็นต้น

ธุรกิจที่จะผันมาทำลอจิสติกส์เองนั้น ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ มองว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และควรเป็นบริษัทที่ผลิต แล้วมีอำนาจในการผลักสินค้าออกไปบูมที่สุดปลายทางได้ มากกว่าบริษัทที่ต้องนั่งรอลูกค้า แล้วค่อยมากระจายอีกที อย่างเบียร์ช้าง แต่การเข้าสู่ธุรกิจลอจิสติกส์ของบริษัทผู้ผลิตก็ไม่มีสูตรสำเร็จของการตัดสินใจ แต่คาดว่าขึ้นอยู่ที่ปรัชญา กับกลยุทธ์ทางธุรกิจของแต่ละบริษัทมากกว่า อย่างเครื่องดื่มโค้ก แม้มีตลาดเยอะ แต่ก็ไม่ทำเอง แล้วแต่ว่าโฟกัสที่จุดไหนมากกว่า แม้บางบริษัทใหญ่ที่หันมาทำลอจิสติกส์เอง ก็ไม่จำเป็นว่าต้องประสบความสำเร็จ เหตุที่ไม่ประสบความสำเร็จอาจเกิดจากความไม่ชำนาญ เช่น ชำนาญค้าปลีก แต่ไม่ชำนาญกระจาย เก่งเรื่องศูนย์กระจายสินค้า อาจไม่เก่งเรื่องการขนส่ง เป็นต้น

เปิด AEC ลอจิสติกส์โต
 

“เมื่อมีการเปิดเสรีการค้าในอาเซียน 10 ประเทศ ตลาดย่อมใหญ่ขึ้น ภาคธุรกิจลอจิสติกส์ย่อมโตตามไปด้วย อย่างปัจจุบันมีหลายโรงงานของไทยได้ย้ายฐาน หรือขยายฐานการผลิตไปตั้งอยู่นอกประเทศบ้างแล้ว ภาคการขนส่ง และธุรกิจลอจิสติกส์ก็ต้องตามไปด้วย เป็นการขนส่งไปมาระหว่างประเทศ และเป็นการกระจายสินค้าระหว่างประเทศ แต่มองว่าถึงแม้แนวโน้มตลาดธุรกิจนี้จะโตขึ้น ก็จะโตแค่ Market Share หรือมาร์เกตแคปเท่านั้น แต่ส่วนของ Margin จะต่ำลง เพราะมีการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงขึ้น ประกอบกับค่าน้ำมันที่สูงขึ้นด้วย” ผศ.ดร.จักรกฤษณ์กล่าว

ส่วนของเงื่อนไขการเปิดเสรีลอจิสติกส์ ภายใต้เออีซี ก็เหมือนกับบริการทั่วๆ ไป โดยยึดกรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Service) หรือ AFAS ที่มีอยู่ด้วยกัน 12 สาขาอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เกษตร, ประมง, ผลิตภัณฑ์ยาง, ผลิตภัณฑ์ไม้, สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม, ยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, การขนส่งทางอากาศ, สุขภาพ, E-ASEAN, ท่องเที่ยว, ลอจิสติกส์ ทั้งนี้ อาเซียนได้กำหนดให้บางสาขามีความพิเศษมากกว่าสาขาอื่นๆ เช่น ด้านลอจิสติกส์, ท่องเที่ยว, ไอซีที, การบิน กำหนดให้มีการเปิดเสรีเร็วกว่าสาขาอื่นๆ โดยสาขาลอจิสติกส์ จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าถือหุ้นได้สูงถึง 70% ภายในปี 2013 และอนุญาตให้ชาติใดก็ได้ สามารถเข้ามาทำงานเป็นผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้จัดการ

คาดว่าที่มีการกำหนดเช่นนี้ เพราะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน เช่นว่า หากมีการเปลี่ยนรัฐบาลแล้วจะไม่กระทบต่อคนเหล่านั้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภาคการขนส่งในประเทศ ด้านกฎหมายยังกำหนดว่าต้องเป็นของคนในประเทศ และยังคงเป็นรูปแบบเดิม ปกติธุรกิจลอจิสติกส์ในประเทศไทย ชาวต่างชาติก็สามารถเข้ามาถือหุ้นได้ 100% อยู่แล้ว เพียงแค่ต้องขออนุมัติกับภาครัฐเสียก่อน แต่ในกรณีเปิดเออีซีต่างกันตรงที่ ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาถือหุ้นสูงสุดได้เลย 70% โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่หากอยากได้ 100% ก็ต้องอยู่ในรูปแบบเหมือนเดิม

สำหรับบริษัทลอจิสติกส์ที่เป็นของไทย ต่างจากบริษัทที่มีชาวต่างชาติถือหุ้น หรือบริษัทต่างชาติที่มีความกล้าที่จะเปิดตลาดยังประเทศอื่น มีนิสัยชอบไปลงทุนยังต่างประเทศอยู่แล้ว ประกอบกับมีเครือข่ายอยู่หลายประเทศ อาจตั้งบริษัทแม่ที่ไทย แต่มีบริษัทกระจายอยู่หลายประเทศก็เพียงแค่เชื่อมโยงระหว่างกัน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่มีนามสกุลต่างชาติเดินหน้าพูดคุย หรือจับมือกับประเทศในอาเซียนนานแล้ว แต่ไปอย่างลับๆ ไม่อยากเปิดเผย เพราะกลัวคู่แข่งรู้แล้วจะทำตาม

 
ทำลอจิสติกส์ในอาเซียนไม่หมู
 

ภายใต้การเปิดเออีซีถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยในอาเซียนเน้นด้านพลังงาน 2 ตัว คือด้านไฟฟ้า และแก๊ส ทั้งนี้การเข้าสู่เออีซี โดยเฉพาะช่วงนี้น่าจะเป็นอะไรที่สดใส หลังจากที่พม่าเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น อินโดนีเซียที่เป็นฮับด้านน้ำมัน และก๊าซก็เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าไปดำเนินงานมากขึ้น ซึ่งปกติบริษัทในประเทศไทยก็นิยมเข้าไปทำธุรกิจด้านพลังงานในหลายประเทศอยู่แล้ว เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ทั้งยังกำหนดให้ลดภาษีพลังงาน ทั้งนี้ การดำเนินงานด้านพลังงานต้องใช้สัมปทาน และมีแนวท่อผ่าน ประเทศนั้นจะเรียกเก็บค่าแนวผ่านท่อ แล้วนำเข้าบริษัทของรัฐบาล เป็นไปตามกฎหมายสัมปทาน ไม่ได้เป็นไปแบบทั่วไป ส่วนการส่งพลังงานทางท่อระหว่างประเทศมีอยู่เดิมแล้ว เช่น ทางท่อส่งก๊าซ จะเป็นการตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล

ขณะที่แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจลอจิสติกส์ มองว่าการจะทำธุรกิจลอจิสติกส์ระดับอาเซียน ในรูปแบบของ “ไร้พรมแดน” แท้จริงแล้วเป็นเรื่องยาก เนื่องจากแต่ละประเทศย่อมมีกฎหมาย กติกา ความชำนาญ วัฒนธรรม เงื่อนไขที่แตกต่างกัน หากจะเข้าไปทำธุรกิจลอจิสติกส์ อาจอยู่ในรูปแบบของการเปิดสาขา และต้องพึ่งพาคนท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ เนื่องจากมีความชำนาญที่มากกว่า ส่วนเรื่องการเชื่อมต่อพลังงานทางท่อจะเป็นเรื่องที่มีการลงทุนสูง และเป็นการตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล

SMEs ปรับตัวเป็นลูกข่ายเจ้าใหญ่ก่อนเจ๊ง
 

อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้าน AEC กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดเออีซีย่อมมีเสรีในการค้า การลงทุนที่มากขึ้น หากผู้ประกอบการลอจิสติกส์ชาวไทยที่ไม่เดินหน้าออกนอกประเทศ หรือปรับตัวให้เป็นไปตามทิศทางของตลาดที่ใหญ่ขึ้น การแข่งขันที่มากขึ้น อาจส่งผลให้บริษัทเหล่านั้นต้องปิดตัวลงก็เป็นได้ โดยเฉพาะธุรกิจลอจิสติกส์ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และจากนิสัยของคนไทยที่ไม่นิยมออกไปทำการค้านอกประเทศก็จะเสียเปรียบ มีความชำนาญเฉพาะในประเทศ เมื่อออกนอกประเทศก็จะค้าขายไม่ค่อยเป็น ขาดความกล้าที่จะออกไปทำธุรกิจนอกบ้าน ส่วนเรื่องภาษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แก้ได้โดยการจ้างล่าม อาจต้องให้บริษัทใหญ่ๆ นำทางไปก่อน

ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่ธุรกิจขนาด SMEs อาจต้องเปลี่ยนจากผู้จัดการร้าน เป็นลูกจ้างแทน จากเดิมเป็นบริษัทที่รับออเดอร์เอง ตอนนี้อาจไปอยู่ภายใต้เครือข่ายของธุรกิจที่มีเครือข่าย เหมือนเช่นทุกวันนี้ก็เป็นลูกข่ายของบริษัทใหญ่อยู่แล้ว ผลสืบเนื่องจากโลกาภิวัตน์ เช่น เอสซีจี, DHL เป็นแบรนด์ที่ใหญ่มีลูกค้าอยู่แล้ว บริษัท SMEs ที่ไม่อยากทำตลาดเองก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งภายใต้แบรนด์ ซึ่งลูกค้าจะเลือกบริษัทที่น่าเชื่อถือ ดูมาตรฐานหรือซื้อที่แบรนด์ พวก SMEs ที่ไม่มีใครรู้จักก็จะหาลูกค้ายาก ต้องมาเป็นลูกข่ายแทน และในตลาดที่มีคู่แข่งเยอะ ลอจิสติกส์ของประเทศไทยต้องมีจุดแตกต่าง และต้องมีโลโก้มาตรฐานการันตีคุณภาพ ให้มีความน่าเชื่อถือ

และอีกหนึ่งจุดที่ต้องให้ความสำคัญ และเตรียมพร้อมก่อนเปิดเออีซี คือ การสร้างจุดเด่น จุดยืนให้แก่บริษัทของตนว่าอยู่ในตำแหน่งไหน เช่น DHL เน้นส่งสินค้าที่ต้องการความรวดเร็ว และไม่จับสินค้าที่เน่าเสียง่าย, บางบริษัทเน้นทำลอจิสติกส์เฉพาะสินค้าอันตราย หรือเน้นสินค้าแช่แข็งที่ต้องการใช้ความเย็น เป็นต้น หากมีจุดนี้ก็จะทำให้ต่างจากคู่แข่ง

ตลาดลอจิสติกส์ผู้เล่นใหม่ยังสามารถเข้ามาในตลาดลอจิสติกส์ได้ เพราะตลาดอาเซียนใหญ่มาก บางส่วนยังไม่ค่อยมีใครทำ ยังมีช่องให้กับธุรกิจอยู่ เช่น ลอจิสติกส์ฮาลาล รับขนส่งกระจายสินค้าเฉพาะฮาลาล แต่ต้องเป็นรถที่ไม่เคยขนหมูมาก่อน หรือเป็นสถานที่เก็บพิเศษตามฮาลาล อย่างไทยก็ลอจิสติกส์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น ขณะที่ Third Party Logistics ที่พร้อมเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า ในประเทศไทยค่อนข้างจะเต็ม แต่ผู้ประกอบการจะมองไปที่ตลาดในประเทศอาเซียนที่มีความเจริญในด้านนี้น้อยกว่า เช่น ลาว เวียดนาม เขมร ทั้งนี้ Third Party Logistics จะช่วยลดต้นทุนให้แก่ลูกค้าที่มีสินค้าไม่มาก

 
6ปัจจัยลอจิสติกส์ไทยสู้ต่างชาติไม่ได้
 

นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศและลอจิสติกส์ บริษัท อีบีซีไอ จำกัด กล่าวว่า บริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจลอจิสติกส์ในประเทศไทยมีมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการชาวจีน, ญี่ปุ่น, ยุโรป, ออสเตรีย, มาเลเซีย ฯลฯ แต่ในระดับอาเซียนยังไม่ค่อยชัดเจนมากนัก ขณะนี้บริษัทต่างชาติในประเทศไทยเตรียมขนส่งชายแดนอยู่แล้ว เนื่องจากการค้าชายแดนมีมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาทต่อปี ได้ตลาดแค่ 10% ก็ถือว่าคุ้มที่จะลงทุน ในช่วงประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา การทำลอจิสติกส์ในรูปแบบของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ GMS (Greater Mekong Sub-region) ที่ต้องการให้เกิดความเชื่อมโยงระบบโครงข่ายคมนาคม เชื่อมจีน ไทย พม่า เขมร ลาว เวียดนาม ฯลฯ มีมากขึ้น

ขณะที่บริษัทลอจิสติกส์ของคนไทยมักเป็นขนาด SMEs และยังไม่มีศักยภาพ หรือยังไม่สามารถที่จะสู้ทุนต่างชาติอย่างออสเตรเลีย, จีน ฯลฯ บริษัทต่างชาติเหล่านี้จะใช้วิธีการในการแย่งชิงตลาดโดย 1. ตัดราคา 2. ให้เครดิตยาว 90 วัน 3. ออกเงินให้ก่อน 4. เทคโนโลยีทันสมัย 5. เงินทุนของต่างประเทศมีมากกว่า 6. มีเครือข่ายมากกว่า

ส่วนบริษัทใหญ่ๆ ของไทยได้เตรียมตัวรับการเปิดเออีซีแล้ว โดยการหาคู่ค้าในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น พม่า ลาว จีน เนื่องจากเมื่อเปิดเออีซีอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 จะทำให้มีการซื้อขาย ลงทุนมากขึ้น ทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างกันย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยการขนส่งทางน้ำจะมีต้นทุนที่ต่ำสุด-ทางอากาศแพงสุด

ทั้งนี้ การจะทำธุรกิจลอจิสติกส์ระหว่างอาเซียน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวอย่างเช่น การจะไปทำธุรกิจลอจิสติกส์ที่ประเทศลาวต้องมีที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และหากเข้าไปทำธุรกิจที่นั่นก็ควรเปิดสำนักงานที่นั่น ต้องจ้างแรงงานท้องถิ่น ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของเค้า อีกทั้งต้องศึกษาตลาดของที่นั่นด้วย
 
 
 

 



กำลังโหลดความคิดเห็น