โดยทีมงานจัดการกองทุนบัวหลวง
ปัญญพัฒน์ ประคุณหังสิต
ระบบขนส่งทางถนน ราง น้ำ และอากาศยาน ระบบสาธารณูปโภค และระบบโครงข่ายโทรคมนาคม ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยตามเกณฑ์การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศของ World Economic Forum (WEF) ได้ระบุให้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นรากฐานสำคัญในการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมและมีคุณภาพสูง จะมีความสามารถในการแข่งขันในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมทั่วประเทศยังช่วยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตของประชาชน และเป็นปัจจัยสำคัญในการกระจายความเจริญจากเขตเมืองไปยังบริเวณอื่นๆ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และลดช่องว่างระดับรายได้ในภาคครัวเรือนให้ใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง และใช้ระยะเวลาในการคุ้มทุนที่ยาวนานทำให้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนของภาครัฐเป็นสำคัญ ซึ่งนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี2540 ภาครัฐไทยได้ใช้จ่ายด้านการลงทุนในระดับต่ำมาโดยตลอด จึงส่งผลต่อการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่หยุดชะงักลง ทั้งนี้ จากรายงานความสามารถในการแข่งขันของ WEF ประเทศไทยมีคะแนนด้านโครงสร้างพื้นฐานตกจากอันดับ 29 ในรายงานปี 2551-2552 มาอยู่ที่อันดับ 42 จาก 142 ประเทศในปีล่าสุด ด้วยคะแนนที่ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 4.67-4.70 จากคะแนนเต็ม 7 ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ประเทศในกลุ่ม AEC อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่มีคะแนนตามหลังไทยอย่างมากในปี 2551 ได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่ได้รับการปรับคะแนนขึ้นจาก 2.95 คะแนนในปี 2551-2552 เป็น 3.80 คะแนนในปีล่าสุด ซึ่งถ้าอินโดนีเซียยังสามารถรักษาระดับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไว้ได้อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ก็จะสามารถแซงหน้าไทยขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของ AEC ได้ภายในอนาคตอันใกล้ ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่ม AEC อย่างสิงคโปร์ได้รับคะแนนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สูงถึง 6.3 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก ซึ่งส่งผลให้สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันในอันดับที่ 2 ของโลกในปีล่าสุด
เมื่อดูในรายละเอียดของคะแนนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งในระบบขนส่งทางด้านอากาศยานและถนน ที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มบน ขณะที่การขนส่งทางน้ำและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอยู่ในระดับปานกลาง แต่มีจุดอ่อนสำหรับระบบขนส่งทางราง และระบบโครงข่ายโทรคมนาคม โดยเฉพาะระบบขนส่งทางรางที่ได้รับคะแนนเพียง 2.6 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าคะแนนค่าเฉลี่ยที่ 3.1 คะแนน โดยการที่ระบบขนส่งของไทยไม่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศอยู่ในระดับที่สูงถึง 17-20% ของ GDP เทียบกับต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศที่พัฒนาแล้วที่อยู่ระดับเพียง 10% ของ GDP ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก ดังนั้น ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมีข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ความต้องการเม็ดเงินลงทุนที่สูง ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องกู้ยืมเงินในระดับที่สูงทำให้จะกลายเป็นภาระทางการเงิน และกระทบต่อฐานะทางการคลังในระยะยาว แม้จะมีการเปิดระบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ที่มาช่วยแบ่งเบาภาระการลงทุนของภาครัฐ แต่ด้วยความต้องการเงินลงทุนที่สูงและระยะเวลาในการคุ้มทุนที่ยาวนานของการลงทุน ทำให้มีข้อจำกัดที่สำคัญในการตัดสินใจเข้าร่วมของภาคเอกชนเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การมีผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทใหม่อย่าง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund: IFF) เกิดขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มช่องทางการระดมทุนของภาคเอกชนหรือภาครัฐ นอกเหนือจากการกู้ยืมเงินและเพิ่มทุน โดยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานจะนำเงินมาลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานได้ 10 ประเภท ได้แก่
1)ระบบขนส่งทางราง
2)ถนน ทางพิเศษหรือทางสัมปทาน
3)ไฟฟ้า
4)ประปา
5)ท่าอากาศยานหรือสนามบิน
6)ท่าเรือน้ำลึก
7)โทรคมนาคม
8)พลังงานทางเลือก
9)ระบบบริหารจัดการน้ำและชลประทาน
10)ระบบป้องกันภัยธรรมชาติ โดยกองทุนฯ จะนำกระแสรายได้ในอนาคตของโครงสร้างดังกล่าวมาจ่ายผลตอบแทนคืนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งด้วยความสำคัญ และจำเป็นของโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการลงทุนในตราสารทุนทั่วไปหรืออสังหาริมทรัพย์โดยตรง
ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนจะขึ้นอยู่กับรายได้ในอนาคตของโครงการ ซึ่งโครงการบางประเภทอย่างโรงไฟฟ้า และน้ำประปาจะเป็นไปตามอัตราที่ภาครัฐได้กำหนดไว้ล่วงหน้าซึ่งจะสะท้อนกับอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อ ทำให้อัตราผลตอบแทนที่ได้จะปรับเปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง โดยอัตราผลตอบแทนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกเฉลี่ยจะแตกต่างกันไป เช่น Macquarie International Infrastructure Fund (MIIF) ที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นของสิงคโปร์มีการลงทุนในระบบโทรคมนาคมและทางด่วนในประเทศจีนและไต้หวัน โดยมีอัตราการจ่ายปันผลในระดับ 10% หรือ Macquarie Korea Infrastructure Fund (MKIF) ที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นเกาหลีและลอนดอน มีการลงทุนสร้างทางด่วนและถนนในประเทศเกาหลีถึง 13 แห่ง โดยให้อัตราการจ่ายปันผลในระดับ 6% ดังนั้น การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่น่าสนใจ ในสภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนสูงตามข่าวสารที่ปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรรัฐบาลก็ให้อัตราผลตอบแทนในระดับต่ำและไม่สามารถชนะอัตราเงินเฟ้อได้
สำหรับความเสี่ยงจากการลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน นักลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากการก่อสร้างที่ล่าช้าหรือค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่บานปลายกว่าที่ประเมินไว้ หากกองทุนฯ ไปลงทุนในโครงการที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ หรือ Greenfield Project (ส่วนที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จต้องไม่เกิน 30% สำหรับกองทุนฯที่เสนอขายนักลงทุนทั่วไป) รวมทั้งกองทุนฯยังสามารถกู้ยืมหนี้สินได้ (ต้องไม่เกิน 3 เท่าของเงินทุน) ทำให้นักลงทุนมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ของกองทุนฯ ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานบางประเภทถูกควบคุมและกำหนดนโยบายบริหารจัดการจากภาครัฐ ทำให้จะเกิดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาครัฐได้ ซึ่งอาจจะกระทบต่อรายได้ของกองทุนฯ ทั้งทางบวกและลบในอนาคต ดังนั้น นักลงทุนควรจะศึกษาข้อมูลและกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้รอบคอบก่อนเลือกตัดสินใจลงทุนในกองทุน