xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.โกร่ง” โชว์วิสัยทัศน์ “การเงิน-การคลัง” ชี้จุดอ่อน ศก.ไทย ยังย่ำอยู่กับที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วีระพงษ์ รามางกูร
“ดร.โกร่ง” โชว์วิสัยทัศน์ “การเงิน-การคลัง” ชี้จุดอ่อน ศก.ไทย ย่ำอยู่กับที่ แม้จะผ่านวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” มานานถึง 15 ปี เพราะมัวยึดทัศนคติแบบเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง เน้นแต่เก็บออม-เมินการลงทุน อัดนัก ศศ. หน่วยงาน ขรก. ยังโดนภาพหลอน “ต้มยำกุ้ง” ตามเหตุการณ์โลกไม่ทัน ทั้งที่สถานการณ์การเงินการคลังของประเทศได้เปลี่ยนไปแล้ว แนะไทยต้องลดการพึ่งพาแรงงาน พร้อมก้าวสู่ภาคอุตฯ ที่ใช้เครื่องจักรมากขึ้น พร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบขนส่ง ขยายท่าเรือน้ำลึก

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และตัวเก็งเข้าชิงประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงปาฐกถาทิศทางเศรษฐกิจไทยวันนี้ โดยมองว่า ประเทศไทยในช่วงนับจากนี้ไปจะต้องเตรียมพร้อมใน 2 เรื่อง คือ 1.การก้าวไปเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้ทุนมากขึ้น ใช้เครื่องจักรมากขึ้น และใช้ความรู้จากข้อมูลข่าวสารมากขึ้น แต่ต้องใช้แรงงานที่น้อยลง

2.ค่าจ้างแรงงานที่ต้องเพิ่มขึ้น จากที่แนวโน้มการเปิดตลาดและการทำข้อตกลงเสรีทางการค้าที่ไทยทำไว้กับประเทศต่างๆ จะมีมากขึ้น จึงทำให้รัฐบาลไม่สามารถโอบอุ้มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากและราคาถูกได้อีกต่อไป

"การจะหวังให้รัฐบาลอุ้มอุตสาหกรรมอัสดงคตที่มีแรงงานมาก ราคาถูกคงจะไม่ได้แล้ว ซึ่งค่าแรงจะต้องเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ เราต้องเผชิญแน่นอน ทั้งเรื่องค่าแรง การขาดแคลนแรงงานจากที่แรงงานต่างชาติจะหดหายไปเมื่อประเทศของเขามีการพัฒนามากขึ้น"

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันหัวรถจักรเศรษฐกิจของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากเดิมที่เป็นสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) แต่ขณะนี้ได้กลายมาเป็นจีน , อินเดีย , บราซิล และรัสเซียแทน ซึ่งประเทศไทยและประเทศในอาเซียนจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงหัวรถจักรเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้น เนื่องจากไทยอยู่ใกล้กับทั้งจีน และอินเดีย นอกจากนี้ไทยเองยังจะได้โอกาสมากสุดจากที่พม่าเปิดประเทศและรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี หลังจากที่พม่าเปิดประเทศแล้วจะทำให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ มากขึ้น ซึ่งจะทำให้แรงงานพม่าที่กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในไทย หันกลับเข้าไปทำงานในประเทศตัวเองมากขึ้น ดังนั้นการที่อุตสาหกรรมไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมากจึงเป็นสิ่งที่ต้องคิด และควรปรับเปลี่ยนมากเป็นการใช้แรงงานคุณภาพสูงแทน

"การที่เรายังอยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงานนั้น เราควรจะต้องเลื่อนฐานะมาเป็นแรงงานคุณภาพสูงมากขึ้น เพราะฉะนั้นภาคธุรกิจของเราต้องเตรียมปรับตัวจากการที่เป็นอุตสาหกรรมใช้แรงงานมาก และการหวังเพียงแรงงานราคาถูกจากพม่า ลาว กัมพูชา"

ประธาน กยอ.กล่าวว่า หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา ทำให้ฐานะของประเทศไทยพลิกผันจากหน้ามือมาเป็นหลังมือ โดยเฉพาะจากเดิมที่มีการใช้จ่ายลงทุนมากกว่าการออม แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามียอดการออมมากกว่าการใช้จ่ายลงทุน โดยมียอดการออมถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์ ประกอบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอีก 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

"ตลอดในรอบ 15 ปี เคยนั่งบวกเลขรวมคร่าวๆ เราออมมากกว่าลงทุนประมาณ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ วิธีคิดของนักเศรษฐศาสตร์ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจ ตามเหตุการณ์ไม่ทัน ยังผวากับต้มยำกุ้ง ทั้งที่สถานการณ์การเงินการคลังของประเทศได้เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งพบว่า ปัจจุบันไทยส่งออกมากกว่านำเข้า ส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น และเป็นตัวฉุดให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าศักยภาพที่มีอยู่”

นอกจากนี้ การส่งออกที่มากกว่าการนำเข้ายังมีผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และฉุดให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่ำกว่าศักยภาพจริงที่มีอยู่ ทำให้หลายประเทศในอาเซียนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แซงหน้าไทยไปแล้ว

"ที่ผ่านมาเราออมเงินกันมากจากผลพวงของวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะฉะนั้นเรื่องเงินไม่มีปัญหา แต่เรื่องวินัยการเงิน การคลัง และกรอบการเงินการคลังจะต้องรักษาให้เข้มแข็ง ผมบอกรัฐบาลว่าอย่ากังวล การที่เรามีมากไปกลับเป็นปัญหาว่าเราจะใช้เงินให้ทันกับเงินออมได้อย่างไรมากกว่า"

แค่ระยะเวลาที่ผ่านไปไม่นาน ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย ได้แก่ จีน มาเลเซีย มลายู ต่างนำไทยไปหมดแล้ว วันนี้ จีนกำลังแข่งกับสหรัฐอเมริกาในเรื่องเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และผลผลิตส่วนรวมของจีน มีขนาดใหญ่เป็นที่ 2 ของโลก

ทั้งนี้ เนื่องจากไทยยังไม่ได้เปลี่ยนทัศนคติ หรือดูตัวเอง เหมือนกับบริษัทที่ล้มละลายปี 2540 ต่อมา ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ต่อมา มีกำไรต่อเนื่อง และเก็บเงินกำไรฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ขยายกิจการลงทุนเพิ่ม หรือลงทุนน้อยกว่ากำไรที่ได้ ทำให้ทุนสำรองล้น

สำหรับผลกระทบจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติอุทกภัยในปี 2554 นั้นทำให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในไทยทั้งหมด ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีระบบบริหารจัดการน้ำของทั้งประเทศ การพัฒนาลุ่มน้ำ และการสร้างเขื่อนที่แม้จะต้องยอมขัดใจกับกลุ่ม NGOs เพราะหากไม่ดำเนินการอาจจะเกิดความเสียหายมากขึ้นในอนาคต

นอกจากระบบบริหารจัดการน้ำแล้ว ประเทศไทยยังต้องปรับปรุงกับระบบการขนส่งทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และทางราง โดยในส่วนของทางอากาศนั้น จะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการลดความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในระหว่างที่ยังก่อสร้างเฟส 2 ไม่แล้วเสร็จ ซึ่งต้องไปใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานดอนเมืองให้มากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงการเชื่อมโยงในระบบแอร์พอร์ตลิงค์ให้ไปถึงยังสนามบินดอนเมืองได้ด้วย

ส่วนทางน้ำนั้น จะต้องขยายท่าเรือน้ำลึกที่ปัจจุบันถือว่ารองรับเต็มที่แล้วทั้งท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด รวมทั้งการขยายนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่โดยรอบท่าเรือเพิ่มเติม ส่วนการขนส่งระบบรางนั้น มองว่าประเทศไทยมีความล้าหลังมาก ซึ่งเห็นว่าความจำเป็นที่ต้องมีระบบรถไฟรางคู่แล้ว ยังจำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูงด้วย

ทั้งนี้ต้องเริ่มดำเนินการลงทุนก่อสร้างในระยะทางที่มีความเป็นไปได้ก่อนโดยไม่จำเป็นต้องรอก่อสร้างในคราวเดียวกันทั้งเส้นทาง เช่น สายเหนือ จากแผนเดิมกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ก็ลงมือสร้างกรุงเทพฯ - พิษณุโลกก่อน, สายตะวันออก จากแผนเดิมกรุงเทพฯ-ระยอง ก็ลงมือสร้างในส่วนของกรุงเทพฯ-ชลบุรีให้ได้ก่อน หรือแม้แต่กรุงเทพฯ-มาเลเซีย ก็ลงมือสร้างในส่วนของกรุงเทพฯ-หัวหิน ให้ได้ก่อน เป็นต้น

นายวีรพงษ์กล่าวว่า สิ่งที่ตนได้พูดมานั้นเคยเสนอนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีแสดงความเห็นด้วยเกือบทั้งหมด และมองว่าหากสิ่งที่ได้เสนอไปในครั้งนี้เป็นจริงได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว

"ผมเสนอท่านนายกฯไปแล้ว ท่านเอาด้วยเกือบหมด ท่านบอกให้ผมฝันไป เพราะถ้ารัฐบาลทำได้อย่างน้อย 50% ที่ผมฝัน ผมก็พอใจแล้ว ผมจะฝันไปเรื่อยๆ และผลักดันไปเรื่อยๆ ถ้าได้ 50-60% ในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ผมก็ถือว่าผมได้ทำงานชดใช้ประเทศชาติแล้ว"
กำลังโหลดความคิดเห็น