xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลแก้ “ไฟใต้” ไร้ทิศทาง โหมสถานการณ์แรงไม่รู้จบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รายงานการเมือง

เหตุการณ์คาร์บอมบ์ 3 จุดใน ตัวอ.เมือง จ.ยะลา และในลานจอดรถกลางห้างดังในโรงแรมลีการ์เดนส์ พลาซา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อ “เที่ยงวัน” ของวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนอกสั่นขวัญแขวนเป็นอย่างมาก เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นในชุมชน ใจกลางเมือง อีกทั้งยานพาหนะที่ใช้ก่อเหตุที่ห้างลีการ์เดนส์ก็เป็นรถถูกขโมยมาจากการสังหารอดีตปลัด อบต.ใน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส มิหนำซ้ำรถคันนี้ใช้ก่อเหตุร้ายมาแล้วถึง 2 ครั้ง

กลายเป็นปฏิบัติการที่ “ตบหน้า” รัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างแรง
 

แน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทุกสายตาย่อมจับจ้องไปที่รัฐบาล และหน่วยงานด้านความมั่นคง ที่ต้องเร่งทบทวนมาตรการและนโยบายที่จะใช้ในการแก้ไข “ปัญหาไฟใต้” อย่างเร่งด่วน เพราะต้องยอมรับความจริงว่าตลอด 8 เดือนที่ผ่านมาที่รัฐบาลภายใต้การนำของ “นารีปู - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เข้ามามีอำนาจบริหารประเทศ ยังไม่มีการทำงานใดที่ออกมาเป็นรูปธรรมต่อปัญหาในพื้นที่ “ด้ามขวาน” ของไทยเลย

นอกเหนือจากการเปลี่ยนตัว เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) จาก “ภาณุ อุทัยรัตน์” มาเป็น “พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง” ผู้ที่มีความใกล้ชิดกับ “ยิ่งลักษณ์” มาแต่ไหนแต่ไร
 

หรือการโอนย้าย ศอ.บต.จากการดูแลของกระทรวงมหาดไทย มาอยู่ในกำกับ สำนักนายกรัฐมนตรี นัยว่าจะให้นายกรัฐมนตรีสั่งการได้โดยตรง

แต่ก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับหนทางที่จะทำให้ “ไฟใต้” มอดลงได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นประชาชนในพื้นที่ยังสัมผัสได้ถึงการถูก “โดดเดี่ยว” ไร้ความเอาใจใส่จากหน่วยงานภาครัฐจริงจัง ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่นอนตาไม่หลับ ที่ต้องเผชิญเหตุร้ายรายวัน แม้จะมีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ทุกหัวระแหงก็ตาม

ระยะหลังมานี้รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” นอกจากจะไม่มีแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนออกมาแล้ว ยังพยายาม “เบี่ยงเบน” ประเด็นว่าปัญหาการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนใต้ให้ไปเกี่ยวข้องกับ “ปัญหายาเสพติด” โดยเชื่อมโยงกับแก๊งค์ค้ายาระดับชาติ

ทั้งที่ข้อเท็จจริงในพื้นที่ต่างทราบกันดีว่า “ยาเสพติด” เป็นเพียง “เสี้ยวหนึ่ง” ของปัญหาความไม่สงบ เพราะแม้ว่ายาเสพติดจะมีอยู่ในพื้นที่มานาน แต่หากพูดถึงความเป็นขบวนการค้ายาเสพติดนั้น เพิ่งจะมามีบทบาทในระยะหลัง ที่สำคัญนอกเหนือจากเรื่องยาเสพติดแล้ว ก็ยังมี “กลุ่มผลประโยชน์” อื่นๆ ในพื้นที่ อาทิ การค้าของเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน เหล้า บุหรี่ และสินค้าต่างๆ ทำให้ขณะนี้กลุ่มขบวนการธุรกิจมืดจึงสามารถแอบอ้างความไม่สงบได้อย่างง่ายดาย และถือว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่แทรกซ้อนขึ้นมาในภายหลังเท่านั้น
 

ความพยายามเบนเป้าของรัฐบาล ก็ไม่ต่างจากการเกาไม่ถูกที่คัน

หันมาดูในส่วนที่รัฐบาลได้ทำไปบ้างก็คือ “การเจรจา” ที่พอคาดหวังว่าจะเป็นหนทางนำไปสู่ความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรื่องนี้ “ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา” ได้เปิดเผยข้อมูลลำดับความเคลื่อนไหวที่พอสรุปได้ว่า ที่ผ่านมามีการเปิดเจรจา “อย่างไม่เป็นทางการ” ระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน หรืออ้างว่ามีส่วนในสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้หลายครั้ง

โดยครั้งที่มีการกล่าวถึงและยอมรับตรงกัน อาทิ ย้อนไปเมื่อปีก่อนช่วงปลายรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ก็มีการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนบางกลุ่ม โดยมีนายตำรวจไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน กระทั่งเกิดข้อเสนอ “หยุดยิงบางพื้นที่”

หรือช่วงที่ “ยิ่งลักษณ์” เดินทางเยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.55 ครั้งนั้น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เปิดวงพูดคุยกับกลุ่มขบวนการอาวุโสกลุ่มหนึ่ง จากนั้น “ทวี สอดส่อง” เลขาฯ ศอ.บต. เดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อพบปะกับกลุ่มที่เรียกกันว่า “กลุ่มต้มยำกุ้ง” เมื่อราวต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
 

ตลอดจนความเคลื่อนไหวตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ “พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งได้เปิดการพูดคุยหารือ “อย่างลับๆ” กับแกนนำขบวนการที่อ้างว่ามีอิทธิพลต่อกลุ่มติดอาวุธที่สร้างสถานการณ์อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้

ผลที่ตามมาจาก “โต๊ะพูดคุยสันติภาพ” สรุปได้หลายแง่มุมตามข้อมูลที่ออกมาจากแต่ละฝ่ายตรงกันว่าเป็นการโหมอุณหภูมิสถานการณ์มากกว่าผลดี

โดยรายข่าวระบุว่า การพูดคุยของคณะนายกรัฐมนตรี ที่จัดโดย สมช.สร้างความไม่พอใจให้กับ “ฝ่ายความมั่นคง” โดยเฉพาะทหาร เนื่องจากไม่ได้มีการประสานกันก่อน และฝ่ายทหารยืนกรานว่ากลุ่มที่ไปพูดคุยกับคณะของนายกฯนั้น “ไม่ใช่ตัวจริง” หรือย่างการไปมาเลเซียของ “ทวี” ที่เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่ได้พบกับ “กลุ่มต้มยำกุ้ง” ตามที่เป็นข่าว มีเพียงการไปให้ความช่วยเหลือแรงงาน “ร้านต้มยำ” ร้านอาหารชื่อดังยอดนิยมในมาเลเซีย โดยได้ให้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตทำงาน

ซึ่งปรากฎว่า การเจรจาครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จนเป็นที่มา “คาร์บอมบ์” ดังกล่าว ซึ่งเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่คนร้ายใช้อาวุธปืนเอ็ม 79 ยิงใส่บ้านของ “นัจมุดดิน อูมา” อดีต ส.ส.นราธิวาส หลายสมัยที่เกิดก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน

คำถามที่ตามมาคือ เหตุใดการเจรจาที่เป็นแนวทางสันติวิธีกลับส่งผลใน “ทางลบ” ให้กับสถานการณ์มากขึ้น อีกทั้งบุคคลที่คนในรัฐบาลไทยวิ่งโร่ไปคุยนั้น ใช่แกนนำตัวจริงหรือไม่ เพราะแม้แต่ข้อมูลจาก “กองทัพ” ก็ยืนยันว่าหลายครั้งรัฐบาลไปเจรจาผิดตัว

ความอ่อนด้อยด้านการข่าวของรัฐบาลนี้เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งการจับจุดไม่ถูกว่าใครเป็นใคร หรือการเจรจามั่วซั่ว ตลอดจนการแยกแยะกลุ่มก่อความไม่สงบกับแก๊งค้ายาเสพติดไม่ได้

สะท้อนว่าการทำงานของรัฐบาลนี้ “ไร้หางเสือ” ไม่มีทิศทางที่ถูกต้อง
 

ดังนั้นโจทย์แรกหลังเหตุการณ์ใหญ่ เมื่อวันสุดท้ายปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คือรัฐต้องเร่งปรับปรุงงานข่าวกรอง พร้อมอุดรูรั่วในพื้นที่ให้ได้ นอกจากนั้นยังต้อง “รู้เขา รู้เรา” เพราะตอนนี้เป้าหมายของกลุ่มก่อความไม่สงบต้องการ

คือหาทางตัด “หาดใหญ่” ซึ่งเปรียบเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ของภาคใต้ให้สำเร็จ
พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น