xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News by บลจ.บัวหลวง วันที่ 20 สิงหาคม 2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง

• สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า ปริมาณการค้าของยูโรโซนปรับตัวสูงขึ้นในเดือน มิ.ย.และช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยการส่งออกในเดือน มิ.ย. ขยายตัว 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 8% จากช่วงครึ่งแรกปี 2554 ขณะที่การนำเข้าในเดือน มิ.ย.เพิ่มเพียง 2% เมื่อเทียบกับทั้งเดือน มิ.ย.และครึ่งแรกของปีที่แล้ว

• หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของภาคธนาคารสเปนพุ่งขึ้นสู่ 9.42% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (NPL ในเดือน มิ.ย.ปีที่แล้วอยู่ที่เพียง 6.69%) และเพิ่มขึ้นจาก 8.95% ในเดือน พ.ค. รวมเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.64 แสนล้านยูโร ทั้งนี้ ธนาคารกลางสเปนชี้ว่าหนี้เสียของภาคธนาคารสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา

• ก.คลังกรีซ แถลงว่า หากได้รับการขยายเวลาอีก 2 ปีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดงบประมาณ เศรษฐกิจกรีซจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยในปีหน้าจะหดตัวเพียง 1.5% และกลับมาฟื้นตัวได้ 2.0% ในปี 2557

แต่หากต้องทำตามกรอบอันเข้มงวดภายใน 2 ปีตามเดิม เศรษฐกิจปีหน้าจะหดตัวอย่างหนักถึง 4.5% และจะไม่มีการขยายตัวไปจนถึงปี 2558 เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้สาธารณะจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อฟื้นตัวจากภาวะถดถอยก่อนเท่านั้น

• ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้อมูลชี้วัดแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ค. หลังจากที่ลดลง 0.4% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% บ่งชี้ถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ

• ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ช่วงต้นเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. ที่ 73.6 จาก 72.3 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวโน้มการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่งขึ้นในไตรมาสนี้

• รัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่าจีดีพีที่แท้จริงของญี่ป่นจะขยายตัว 1.7-1.9% ในปีงบประมาณ 2556 ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่เป็นบวกและสามารถรับมือกับภาวะเงินฝืดเรื้อรังภายในประเทศได้

ทั้งนี้ ได้พิจารณาจากแนวโน้มที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว รวมทั้งการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนที่แข็งแกร่งขึ้นด้วยเช่นกัน

• ชาร์ป คอร์ป ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น กำลังพิจารณาลดพนักงานเพิ่มอีก จากเป้าหมายเดิม 5,000 ตำแหน่ง โดยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คน หรือเกือบ 20% ของพนักงานทั้งหมด 57,000 ตำแหน่ง เพื่อส่งเสริมแผนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท

• จากรายงานการสำรวจเมืองใหญ่ 70 เมืองในเดือน ก.ค. ของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) ของจีน พบว่า มี 50 เมืองที่ราคาบ้านใหม่พุ่งสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่มี 25 เมือง ส่งสัญญาณว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนส่อเค้าว่าอาจจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ภายหลังรัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งผ่อนคลายการควบคุมตลาดอสังหาฯ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอในหลายพื้นที่

• ไชน่า อินเตอร์แนชันแนล แคปิตอล คอร์ปอเรชัน (CICC) รายงานว่า เศรษฐกิจของจีนปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 โดยได้คาดการณ์ว่า จีดีพีของจีนจะขยายตัวแบบชะลอลงสู่ 7.8% ในปีนี้ และจะฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยสู่ 8.3% ในปี 2556

• รัฐบาลอินโดนีเซียคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 6.8% ในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายปีนี้ที่เป็น 6.3-6.5% ในขณะที่ยอดขาดดุลงบประมาณคาดว่าจะลดลงไปอยู่ที่ 1.6% ของจีดีพีในปี 2556 ในขณะที่คาดว่าปีนี้จะขาดดุลงบประมาณ 2.23%

• ธนาคารกลางเกาหลีใต้ รายงานว่า บริษัทของเกาหลีใต้ที่ล้มละลายในเดือน ก.ค. ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน มาอยู่ที่ 95 แห่ง ลดลงไปจาก 103 แห่งในเดือนก่อนหน้า

• ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงการรวมตัวของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ว่า จะไม่มีปัญหาเหมือนยุโรป เพราะไม่มีการผูกติดด้วยการใช้สกุลเงินเดียวกัน

ที่สำคัญคือ AEC รวมตัวกันอย่างมีเงื่อนไขและเปิดเสรีตามความพร้อมเพื่อการพัฒนาระบบการเงินให้สนับสนุนเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งในปี 2558 จะเกิดความร่วมมือในระบบการชำระเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ การโอนเงินของกลุ่มแรงงานที่ทำงานระหว่างประเทศ การชำระเงินรายย่อย การชำระเงินตลาดทุน และการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายให้ออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ระหว่างกันได้มากขึ้น

• ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า กนง. เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อยังเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและใช้การได้ดีในช่วงที่ผ่านมาทั้งในการสื่อสารกับตลาดเงินและคาดการณ์เงินเฟ้อ

และจากการศึกษาของ ธปท. พบว่า หากจะดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนก็ยังมีข้อที่น่าเป็นห่วง เช่น การต้องใช้เงินทุนสำรองเป็นจำนวนมากไปปกป้องค่าเงินซึ่งบางสถานการณ์ไม่สามารถทำได้เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียเมื่อปี 2540

• ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ค. อยู่ที่ 98.7 จาก 102.7 ในเดือน มิ.ย. โดยต่ำกว่า 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นต่อการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก โดยเกิดจากความยืดเยื้อของวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง และทำให้ยอดขายต่างประเทศลดลง

• ยอดผลิตรถยนต์เดือน ก.ค.เติบโต 44.48% จากปีก่อนสู่ 2.13 แสนคัน และยอดขายรถยนต์ในประเทศเติบโตมากถึง 80.6% เป็น 1.32 แสนคัน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ผลิตรถยนต์เร่งการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อให้ส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าที่จองรถไว้เป็นจำนวนมากจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล และจากการเร่งส่งมอบรถยนต์รุ่นต่างๆ ที่ค้างส่งตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว

Equity Market

• SET Index วันศุกร์ปิดที่ 1,223.91 จุด ลดลง 0.49 จุด หรือ 0.04% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 26,923 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,858 ล้านบาท เป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ซึ่งการปรับลดลงของตลาดหุ้นเกิดจากแรงขายหุ้นในกลุ่มแบงก์

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าเป็นการพักฐานในช่วงสั้นของตลาด

• บล.ภัทร คาดว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้จะอยู่ที่ 1,350 จุด แม้จะมีความเสี่ยงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกของการบริโภคในประเทศที่มากขึ้นโดยเฉพาะในต่างจังหวัด รวมถึงการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐ กับการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจลงทุน ได้แก่ กลุ่มแบงก์ พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง

Fixed Income Market

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างทรงตัว โดยเคลื่อนไหวในช่วง -0.01% ถึง 0.01% ยกเว้นช่วงอายุคงเหลือ 8 ปี ที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.02% สำหรับวันจันทร์นี้มีการประมูลตั๋วเงินคลัง อายุ 6 เดือน มูลค่า 11,500 ล้านบาท

Guru Talk

• Jim Rogers

“ไม่ว่าใครจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอเมริกา พวกเพื่อนๆ ของทั้งโอบามาและรอมนีย์ก็จะยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ในขณะที่พวกที่เหลือในอเมริกาจะไม่มีโชคแบบนั้น ในเมื่อทั้ง เดโมแครทและรีพับลิกันต่างก็เป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาในสหรัฐฯ มาจนทุกวันนี้ แล้วพวกคุณจะยังหวังให้พวกเขามาแก้ปัญหาที่เขาก่อให้เราอีกหรือ”

• Nicholas Kaldor เคยพูดไว้ในยุค 1970’s ก่อนเกิดสหภาพยุโรปว่า

“ในอนาคต ชาติต่างๆ ในยุโรปอาจจะรวมตัวกันเป็นสหภาพ (EU) เหมือนที่สหรัฐอเมริกาเกิดจากการรวมตัวกันของรัฐต่างๆ โดยอาจเกิดสหภาพยุโรปที่รวมตัวกันทั้งด้านเศรษฐกิจและการเงินแต่มันอันตรายและจะผิดพลาดอย่างยิ่งหากไปเชื่อว่าสหภาพเศรษฐกิจและการเงินจะอยู่เหนือกว่าสหภาพทางการเมืองการปกครอง ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ตามในระยะยาวมันจะทำไม่ได้เพราะหากสหภาพยุโรปไปควบคุมกำหนดงบประมาณ ของแต่ละประเทศโดยไปกดดันบังคับชาติต่างๆ ให้ทำตาม ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะพังทลายในที่สุด”


กำลังโหลดความคิดเห็น