xs
xsm
sm
md
lg

เกษียณตอน 60 อย่าคิดว่าอยู่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูปประกอบจากอินเตอร์เน็ต
คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยพิชญา ซุ่นทรัพย์
บลจ.บัวหลวง

หากลองถามคนทั่วไปว่าอยากเกษียณหรือยัง ก็คงจะได้คำตอบว่า "แน่สิ ใครจะอยู่ทนทำงานไปจนแก่ล่ะ" ใช่ครับแต่ถ้าตอนนี้ลองไปถามคนอเมริกัน คำตอบที่ได้คงจะเป็นแบบนี้ "เกษียณตอนนี้จะเอาอะไรกิน ขนาดงานจะให้ทำยังไม่มี"

หลังจากที่อเมริกาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ พบว่าตัวเลขค่าเฉลี่ยอายุของพนักงานชาวอเมริกันที่เกษียณเพิ่มมาเป็น 65 ปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ประมาณ 10 ปีที่แล้ว คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังคิดว่าพวกเขาจะออกจากงานมาใช้ชีวิตแสนสบายหลังครบอายุ 60 ปีเท่านั้น

ถ้ามองในแง่ดี อายุของผู้เกษียณที่เพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องดีสำหรับผู้กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ เพราะการเลื่อนเวลาเกษียณออกไป ทำให้มีเงินไว้สำหรับใช้หลังไม่มีงานทำแล้วมากขึ้น และยังได้ผลประโยชน์จากสวัสดิการต่างๆ อย่างประกันสังคม ประกันสุขภาพ รวมถึงผลตอบแทนที่มากขึ้นจากเงินที่ลงทุนอย่างต่อเนื่องใน 401(k) ซึ่งได้ประโยชน์ทางภาษีคล้ายๆ กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการในบ้านเรา

อลิเซีย มันเนล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเกี่ยวกับการเกษียณ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าวว่า “ทุกคนจำเป็นต้องทำงานนานขึ้น เพราะถ้าทุกคนทำงานนานขึ้นกว่าที่วางแผนเอาไว้ไปอีก 5 ปี จะพบว่าพวกเขาส่วนใหญ่จะมีเงินพอเพียงไว้สำหรับใช้ในยามเกษียณ”

แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง อายุเกษียณที่เพิ่มขึ้นมันหมายถึงตำแหน่งหรือโอกาสได้งานสำหรับคนเพิ่งจบจะน้อยลงไปด้วย ทั้งที่คนกลุ่มนี้ควรจะเป็นกลุ่มคนที่จะเป็นผู้ผลักดันประเทศให้เจริญก้าวหน้าในอนาคต แต่ต้องมาตกงานเพราะพวกไม่ยอมเกษียณนี้

จากการทำแบบสอบถามของคนอเมริกันล่าสุด พบว่าอายุเกษียณที่คาดหมาย เพิ่มขึ้นเป็น 67 ปี ทั้งที่เมื่อ 10 ปีก่อนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 63 ปี และถ้าย้อนไปช่วงปี 1995 ค่าเฉลี่ยยังอยู่แค่เพียง 60 ปีเท่านั้น โดยผู้ที่ยังไม่เกษียณ 57% บอกว่าพวกเขามีเงินเพียงพอไว้ใช้ยามเกษียณ นั่นหมายความว่ามีถึง 43% ที่มองว่าตัวเองต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมานหลังเกษียณ

เห็นตัวเลขแล้วนึกถึงคนไทยยังโชคดีที่เศรษฐกิจไม่ได้ย่ำแย่เหมือนในอเมริกา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีปัญหาในยามเกษียณ หากวันหนึ่งเกิดวิกฤตกับประเทศเราขึ้นมา หรือประสบกับเหตุการณ์ที่ทำให้รายได้เราหายไปโดยไม่ได้คาดหมาย ถ้าไม่มีการวางแผนที่ดีโอกาสลำบากและต้องทำงานหลัง 60 ปีมีแน่ๆ

ดังนั้นการเตรียมตัวไว้ก่อนจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งถ้าคุณไม่อยากเจอกับปัญหาทางการเงินหลังเกษียณ ลองอ่านแล้วทำตามข้อแนะนำ 4 ข้อนี้

1. ควรรู้ว่าตนเองต้องมีเงินใช้สำหรับหลังเกษียณอายุเท่าไร เพื่อประเมินว่าต้องออมเงินเดือนละเท่าไรจึงจะเพียงพอ หากไม่ทราบวิธีการคำนวณ บลจ.บัวหลวง มีโปรแกรมง่ายๆ ที่ช่วยนักลงทุนคำนวณตัวเลขดังกล่าวเบื้องต้นในเว็บไซต์ของบริษัทสามารถเข้าไปทดลองใช้กันได้ (เลือกห้องความรู้บัวหลวง และวางแผนการเงินและทดสอบผลการลงทุน)

2. ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เต็มจำนวน ทราบหรือไม่ว่ามีทางเลือกในการออมเงินมากมายที่รัฐบาลให้สิทธิไปลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคล เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นต้น

3. ออมเงินให้เป็นนิสัย หรือสั่งตัวเองให้ออมอย่างสม่ำเสมอ ผ่านโปรแกรมการลงทุนแบบอัตโนมัติ หรือ Dollar cost averaging (DCA) โดยหักเงินจากบัญชีของคุณนำมาลงทุนในกองทุนรวมทุกเดือนในวันที่คุณต้องการ ถ้าจะให้ดีคือทุกๆวันที่เงินเดือนออก เพื่อให้ไม่นำเงินที่ได้ไปใช้ก่อนจะไม่เหลือเงินสำหรับออม

4. ใช้สวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่นายจ้างให้กับเราเต็มจำนวน เช่นถ้านายจ้างให้สิทธิหักเงินสะสม 5% ก็ใส่ให้เต็มเถอะครับ เพราะเงินที่ใส่เข้าไปนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบที่อัตราเท่ากันหรือมากกว่า 5% เสมอ แต่ถ้าคุณใส่เงินสะสมแค่ 3% นายจ้างมีสิทธิจ่ายเงินสมทบเพียง 3% เช่นกัน ยิ่งคุณออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากเท่าไรคุณก็จะยิ่งมีเงินออมไว้สำหรับใช้หลังเกษียณมากขึ้นเท่านั้น และยังสามารถนำยอดจำนวนเงินสะสมไปใช้หักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เริ่มเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณและสร้างความแน่นอนให้กับตนเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อจะได้ไม่เป็นคนชรา ที่สร้างภาระแก่ลูกหลานและประเทศชาติอันเป็นที่รักของเราในอนาคต
รูปประกอบจากอินเตอร์เน็ต

กำลังโหลดความคิดเห็น