คอลัมน์ บัวหลวง Money Tips
โดยสุริพล เข็มจินดา
บลจ.บัวหลวง
สัปดาห์ที่แล้วได้เล่าถึง ความมั่นคงทางการเงินส่วนบุคคล ของคุณ Knight Kiplinger เจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารชื่อ Kiplinger’s Personal Finance ว่าทำอย่างไร เงินในกระเป๋าเราจึงจะสามารถอยู่รอดปลอดภัยและเพิ่มพูน ไปแล้ว 4 ข้อ สัปดาห์นี้จึงขอนำเสนออีก 4 ข้อที่เหลืออยู่ให้ครบถ้วนครับ
5) Don’t Go for the Homerun
ในสนามเบสบอล ผู้เล่นที่หวดลูกอย่างเต็มแรงก็สามารถตีได้โฮมรันบ้าง นานๆ ครั้ง แต่ที่ตีเสียมักจะมากกว่า และทำให้พลิกโผแพ้กันไปเยอะ พวกที่ชนะคือ พวกที่ค่อยๆ ตั้งใจเก็บคะแนนทีละเบสไปเรื่อยๆ
การลงทุนก็ไม่ต่างอะไรกับเบสบอลนัก เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงอะไรที่เสี่ยงมากๆ เช่น การลงทุนในหุ้นเป็นรายตัว โดยเฉพาะหุ้นที่มีราคาผันผวนขึ้นๆ ลงๆ ไปตามกระแสข่าวลือและอารมณ์ ความคาดหวังของตลาด โดยไม่ได้มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแรง ซึ่งต่างจากหุ้นคุณค่าที่แท้จริง เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่ดี สามารถคาดการณ์กำไรและเงินปันผลได้ ที่แม้ว่าอาจจะมีราคาผันผวนบ้างตามสภาวะตลาดโดยรวม แต่ในระยะยาว ราคาของหุ้นนั้นๆ จะสะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าที่แท้จริงของตัวเอง เปรียบเหมือนเพชรเนื้อดี ที่มัวหมองได้บ้างถ้าตกไปในตมเลน แต่เมื่อเอามาขัดถูให้ดี ก็จะส่องประกายแวววับได้เหมือนเดิม
ที่สำคัญอีกอย่าง คือ อย่าพยายามจับจังหวะตลาดตลอดเวลา เพราะแม้แต่ผู้จัดการกองทุนที่เก่งๆ ยังไม่สามารถทำได้ถูกต้องทุกครั้ง แค่ 7 ใน 10 ครั้ง ก็ถือว่าสุดยอดแล้วครับ การใช้วิธีถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar Cost Averaging ไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลานานๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด เพราะเวลาตลาดไม่ดี ก็เท่ากับเราได้ซื้อของถูก และในเวลาตลาดดี portfolio โดยรวมของเรา ก็จะมีมูลค่าที่สูงขึ้น
ผมขออนุญาตฝากกราฟเส้นแสดงต้นทุนถัวเฉลี่ยของกองทุนเปิดบัวแก้วย้อนหลัง 10 ปี (2002 - 2011) มาให้ดูเล่นกันหน่อยนะครับ เส้นหยึกหยักขึ้นลงคือ NAV ต่อหน่วยของบัวแก้วที่ผันผวนขึ้นลงไปตามภาวะตลาด เทียบกับเส้น DCA ที่แสดงให้เห็นถึงต้นทุนต่อหน่วยในการซื้อแบบถัวเฉลี่ยทุกเดือนเป็นเวลา 120 เดือน จะเห็นได้ชัดว่าแม้ในยามวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ NAV ร่วงเอาร่วงเอาขนาดนั้น port ยังไม่ขาดทุนเลยครับ หรือตอนที่ NAV เริ่มทะยานขึ้นหลังผ่านช่วงวิกฤตมาได้ด้วยฤทธิ์ยา QE ของลุงเบน ต้นทุนถัวก็ไม่ได้กระฉูดตามไปด้วย จากการคำนวณ ถ้าลงทุนในบัวแก้ว เดือนละ 10,000 บาท มา 10 ปี รวมต้นทุน 1,200,000 บาท มูลค่า ณ สิ้นปี 2011 จะเท่ากับ 2,900,000 บาทกว่าๆ กำไรนิดหน่อยพอค่าขนม 1,700,000 เท่านั้นครับ
6)Diversify, diversify, diversify
กระจายความเสี่ยงให้มากถึงมั๊กที่สุด ในยุคที่ตลาดบูมสุดขีด เช่นปี 2003 นักลงทุนส่วนใหญ่จะหันหลังให้กับตราสารหนี้ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชน แล้วหลงระเริงกับราคาหุ้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยลืมนึกถึงสัจธรรมที่ว่า ทุกอย่างมีขึ้น ก็มีลง และเมื่อลงสุดแล้ว ก็สามารถขึ้นได้ใหม่ นักโต้คลื่นที่เก่งๆ จะต้องทำได้ดีทั้งเมื่ออยู่บนยอดคลื่น และสามารถประคองตัวไม่ให้ถูกคลื่นกลบเมื่อต้องอยู่ใต้ท้องคลื่น
จริงๆ แล้ว ภาษิตไทยโบราณก็ได้กล่าวไว้อย่างแหลมคมว่า “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” ดังนั้น การจัดสรรเงินลงทุนของเราให้อยู่ในทรัพย์สินต่างๆ ที่มีวงจรขึ้นลงแตกต่างกันไป และไม่ขึ้นแก่กัน จึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง อาจารย์ผมเคยสอนไว้ว่า ให้เหมือนการจัดทัพทีมฟุตบอล ที่ต้องมีทั้งกองหน้า(เสี่ยงมากแบบหุ้น) ที่จะทำประตูได้เมื่อมีโอกาส (เช่นปี 2003 ที่ตลาดหุ้นบวกไปถึง 116%) ต้องมีกองกลาง (เสี่ยงปานกลางแบบตราสารหนี้) ที่สามารถขึ้นไปช่วยกองหน้าทำประตูก็ได้ หรือลงมาช่วยกองหลังเวลาถูกบุกมากๆก็ได้ ต้องมีกองหลัง (เสี่ยงน้อยแบบตราสารการเงิน) ที่เน้นป้องกันแนวบ้านตัวเอง ทั้งนี้ อย่าลืมผู้รักษาประตูด้วยนะครับ (เสี่ยงน้อยสุดๆแบบเงินฝาก) ที่ต้องคอยรองรังเอาไว้
7)Live simply today for a more comfortable tomorrow
ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายในวันนี้ เพื่อวันข้างหน้าที่สุขสบาย ผมใช้คำว่า “เรียบง่าย” นะครับ ไม่ใช่ “เขม็ดแขม่” ประเภทที่ไม่กินอะไรเลย นอกจากคัพนูดเดิล ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ไม่ลำบากตน ไม่ลำบากท่าน ไม่ต้องหรูเริดวิลิศมาหลามากนัก อาจกินข้าวนอกบ้าน ดูหนังกับครอบครัวบ้าง กับเพื่อนบ้าง เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความทรงจำที่ดี เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง เพราะชีวิตไม่ใช่อะไรที่ต้องมุ่งไปแต่ข้างหน้า เหมือนม้าลากรถที่มีบังตาไม่ให้มองเห็นข้างๆ ทาง เพราะข้างทางมักมีดอกไม้สวยๆ ให้ชื่นชมโดยไม่ต้องเด็ด (บางทีอาจมีกระต่ายให้ยิงด้วย)
เพียงแค่สอดส่ายสายตาดูวิถีการใช้ชีวิตของเราบ้างเป็นครั้งคราว เผื่อเจออะไรที่มันเกินความจำเป็นไปมากๆ ก็งดเว้นเสีย นึกซะว่าเก็บตังค์ไว้สร้างความฝันเล็กๆ ให้เป็นจริงได้ เข้าทำนองภาษิตไทย (อีกแล้ว) ว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน”
8)Give generously to create a better world
เชื่อไหมว่าความมั่นคงทางการเงินของเรา ไม่ได้เป็นของเราเพียงคนเดียว เพราะมันหมายถึงความมั่นคงทั้งทางด้านการเงิน ตลอดจนทางด้านกายภาพและจิตวิญญาณของสังคมของประเทศ ไปจนถึงของโลก และจักรวาลทีเดียว ช่วยกันบริจาคคนละนิดละหน่อยนะครับ ให้กับใครก็ได้ที่เราอยากให้ จะเป็นเพื่อการศึกษา ศาสนา สวัสดิการสังคม หรือ ศิลปวัฒนธรรม ก็ตาม
ทุกครั้ง ด้วยการบริจาคหรือทำบุญเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินสิ่งของ หรือกำลังกาย (รวมทั้งกำลังใจด้วย) นอกจากจะเป็น Longer-term investment (คือ long กว่า long-term ธรรมดา เพราะมันข้ามภพข้ามชาติได้) การเสียสละนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเข้มแข็งขึ้น ยังช่วยทำให้โลกนี้น่าอยู่ ไม่แห้งแล้งจนเกินไป เป็นโลกที่มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของเราเอง หรือของลูกหลานในอนาคต
Happy Investing นะครับ
ติดตามบทความเก่าได้ที่นี่ Knight Kiplinger Magazine 8 keys to financial security (1)