คอลัมน์ บัวหลวง Money Tips
โดยสุริพล เข็มจินดา
บลจ.บัวหลวง
พอดีผมได้อ่านพบบทความหนึ่งพูดถึงหลัก 8 ประการของความมั่นคงทางการเงินส่วนบุคคล ของคุณ Knight Kiplinger เจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารชื่อ Kiplinger’s Personal Finance ว่าทำอย่างไร เงินในกระเป๋าเราจึงจะสามารถอยู่รอดปลอดภัย และเพิ่มพูนได้เหมือนกับอมีบาที่สืบเผ่าพันธุ์ด้วยการแบ่งแยกตัวเองจาก 1 เป็น 2 เป็น 4 และ 8, 16, 32 ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันสะดุด จะว่าไป ก็เป็นหลักการที่คนส่วนมากรู้กันอยู่แล้ว เพียงแต่น้อยคนที่จะนึกถึงและพยายามยึดมั่นปฏิบัติในหลักการนั้น ๆ ก็เลยนำมาฝากเพื่อเตือนใจกันอีกสักครั้ง ว่ากันว่าอะไรที่เห็นบ่อยๆ ได้ยินอยู่เรื่อยๆ จะฝังลึกลงไปเป็นส่วนหนึ่งในดีเอ็นเอของเราได้ในเวลาไม่นานนัก
1)Invest in Yourself
ข้อแรกสุด คือการลงทุนกับตัวเองก่อน เครื่องปั๊มเงินที่แท้จริงของคนทุกคนไม่ใช่เครื่องจักรกลอะไรที่ไหน แต่มันสิงสถิตอยู่ในตัวแต่ละคนนั่นแหละครับ อันได้แก่ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนความชำนาญที่สั่งสมกันมาเป็นนานเป็นนม และไม่มีใครสามารถแย่งชิงไปจากเราได้ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของพวกเรา คือ การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องปั๊มเงินที่ว่า ด้วยการขวนขวายทบทวนความรู้เก่า และสรรหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการงานปัจจุบันโดยตรง หรืออาจจะเป็นอย่างอื่นๆ ที่เคยนึกอยากรู้อยากเรียนมาตลอด รวมไปถึงการเข้าอบรมความรู้ของสถาบันต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย และหลายๆ ครั้งก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอีกต่างหาก นอกจากนั้น น้องกุ๊ก (เกิล) ก็ดูเหมือนพร้อมตลอดเวลาที่จะตอบคำถามในสิ่งที่เราอยากรู้ ไม่ว่าจะยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหน ทั้งบทความให้อ่านหรือฟุตเทจให้ดูสารพัด
2)Protect Yourself and Your Loved Ones
ปกป้องตัวเองและคนs (หลายคน) ที่คุณรัก ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวที่ยังมีกำลังวังชา มักจะละเลยหรือมองข้ามการซื้อประกันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประกันชีวิต ทั้งในเรื่องของอุบัติเหตุ และสุขภาพ ตลอดไปจนถึงการประกันรถยนต์ เพราะชีวิตคนต้องเผชิญกับความเสี่ยงอยู่เสมอ ทั้งจากเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ ความพิการ หรือกระทั่งการจากไปก่อนวัยอันสมควร ถ้าไม่มีผู้อยู่ในอุปการะทิ้งไว้เบื้องหลังก็แล้วไป แต่ในหลายๆ กรณี คนข้างหลังนอกจากจะต้องเศร้าโศกเสียใจแล้ว ยังต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้รอดชีวิตต่อไปได้ โดยเฉพาะถ้าคนที่จากไปนั้น เป็นเสาหลักของครอบครัว
ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้ให้เข้าใจในเรื่องการจัดการกับความเสี่ยงที่มีหลากหลายชนิด ถ้าเป็นแบบที่โอกาสเกิดสูงและเมื่อเกิดแล้ว ความเสียหายก็สูง แบบนี้บริษัทประกันจะไม่รับประกัน จึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงหรือถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็พยายามหาทางควบคุมความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
แบบที่ 2 ถ้าเป็นความเสี่ยงประเภทโอกาสเกิดก็ต่ำ และผลกระทบก็ไม่รุนแรงมากนัก การทำประกันก็จะไม่คุ้มเบี้ยที่ต้องจ่าย ก็ต้องรับความเสี่ยงไว้เอง
อีกแบบที่เขาเรียกกันว่า Black Swan Events คือเป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดไม่มากนัก แต่ถ้าเกิดแล้วผลกระทบและความเสียหายรุนแรงสูง ถ้าเป็นแบบนี้ก็สามารถใช้หลักการโอนความเสี่ยงด้วยการทำประกัน เป็นต้น เรื่องนี้สำคัญแค่ไหน ต้องลองถามเปรียบเทียบคนที่น้ำท่วมบ้านปีที่แล้ว ระหว่างคนที่มีประกันกับคนที่ไม่มีประกันดู จะพบว่าเบี้ยประกันที่เหมือนกับจะเสียเปล่านั้น คุ้มนักคุ้มหนา
3)Borrow Sparingly
เป็นหนี้ให้น้อยที่สุด เป็นหนี้เฉพาะสิ่งของใหญ่ๆ และคงทน เช่นบ้าน (หลังแรก) หรือรถยนต์ (คันแรก) หรือเป็นการลงทุนเพื่อตนเองตามข้อ 1) นอกนั้น ให้จ่ายเป็นเงินสดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหารการกิน การเดินทาง และ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายทั้งแหล่ที่มักจะซื้อเพราะอยากได้ (want) แต่ไม่จำเป็น (need) แต่โลกยุคนี้ มีใครสักกี่คนที่จะไม่ใช้บัตรเครดิต ที่มีลูกล่อลูกชน ลด แลก แจก แถม กันมากมาย ผู้รู้บ้านเราหลายๆ ท่านจึงออกมาให้คำแนะนำว่า จงใช้บัตรเครดิตให้เหมือนเงินสด กล่าวคือ ทุกๆ ครั้งที่จะรูดปรึ๊ด เราต้องมีเงินสดพร้อมที่จะซื้อสิ่งนั้นๆ ได้อยู่แล้ว เมื่อรูดแล้ว ก็เอาเงินสด นั้น เก็บใส่กล่องต่างหากไว้ (เอ๊ะ ไม่ดี เดี๋ยวสมาคมนักวางแผนการเงินจะมาว่าเอาได้) เอาไปซื้อหน่วยลงทุนที่เป็น money market fund ที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด พอถึงเวลาใบแจ้งยอดบัญชีมาในแต่ละเดือน เราก็ขายหน่วยลงทุนคืน เอาเงินมาชำระยอดหนี้นั้น เห็นไหมครับ นอกจากได้สะสมแต้มตามความประสงค์แล้ว ถึงเดือนก็มีเงินมาจ่ายหนี้ แล้วยังได้ดอกผลจากกองทุนรวมอีกด้วย 3 in 1 เชียวนะคุณ
4)Pay Yourself First
จ่ายให้ตัวเองก่อน แม้แต่การแผ่เมตตา ยังต้องเริ่มด้วยการแผ่ให้ตนเองก่อนที่จะแผ่ให้ สัพเพ สัตตา สรรพสัตว์ ทั้งหลาย เพราะถ้าตัวเราเองไม่มีความสุขแล้ว เราจะเอาความสุขที่ไหนไปเผื่อแผ่ผู้อื่นได้ ชิมิ ชิมิ
การจ่ายให้ตนเองก่อนนั้น มีง่ายๆ อยู่วิธีเดียว คือการ “ออมก่อนใช้” ที่ผ่านๆ มา เวลาเราได้เงินเดือนมา เราก็จะมีความคิดว่า “เดือนนี้ เราจะใช้ให้น้อยลงหน่อย เพื่อที่ว่าปลายเดือนจะได้เหลือเก็บ” แต่จนแล้วจนรอดผมเชื่อว่ามีไม่ถึง 10% ที่สามารถทำได้อย่างหมาย อีกประมาณ 90% กว่าๆ มักจะจบลงด้วยการอดใจไม่ไหวที่จะซื้อของที่อยากได้ แล้วก็ปลอบใจตัวเองไปเดือนๆ ว่าเดือนหน้าค่อยออมแล้วกัน แล้วมันก็เป็นเดือนหน้าไปเรื่อยๆ ไม่ถึงเดือนนี้ที่รอคอยสักที
ดังนั้น จงตั้งใจบอกตัวเองไปเลยว่า ต่อไปนี้ทุกๆ เดือน เมื่อเงินเดือนออก จะต้องหักอย่างน้อย 10 - 15% ก่อน โดยตั้งปณิธานไว้เลยว่า จะไม่ไปแตะต้องเงินก้อนนี้อีกจนเกษียณ จะไปไว้ที่ไหนก็ได้ (ยกเว้นใส่ตุ่มฝังดิน) ที่ๆ มีผลประโยชน์งอกเงยเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนจะรับได้ ประมาณว่าให้เงินทำงานแทนเราแบบกองทุนบัวหลวงธนทวี
ใหม่ๆ คงยังหวังพึ่งอะไรกับเงินจำนวนน้อยนี้ไม่ได้ แต่มันจะค่อยโตวันโตคืน และเมื่อวันหนึ่งที่เราอาจจะทำงานไม่ไหว (หรือยังไหว แต่ไม่อยากทำ) เงินก้อนนี้แหละ ที่จะเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่สามารถให้ร่มเงาแก่เรา ทั้งยังมีดอกผลให้เก็บกินได้ด้วย เรียกว่าให้เงินทำงานมาเลี้ยงเราต่อไป กองทุนรวมของ บลจ.บัวหลวง ก็มีบริการหักบัญชีอัตโนมัติเพื่อซื้อกองทุนเป็นรายเดือน ลองเลือกๆกันดูนะครับ
สัปดาห์หน้ามาต่ออีก 4 ข้อที่เหลือกันครับ