xs
xsm
sm
md
lg

วิธีจัดการเงินทองเมื่อเกษียณแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ บัวหลวง Money Tips
โดยวรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบลจ.บัวหลวง

คนที่เกษียณแล้วและกำลังจะเกษียณเป็นกลุ่มที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกิดกันเยอะจนเขาเรียกพวกเราว่า พวก “Baby Boomer”

เอาละ แม้เราจะไม่ใช่ Baby แล้ว และไม่สามารถ Boom ได้อีกต่อไป แต่อย่าเหี่ยวใจ

เพราะอะไรล่ะ มีอะไรมันน่าเบิกบานใจในวัยชราอีกเหรอ ?

มีสิ เพราะเราคือคนกลุ่มใหญ่มากๆ ที่ต่อไปเมื่อนักการตลาดเฉลียวฉลาดขึ้นกว่าทุกวันนี้ เขาจะต้องหันมาเห็นพลังอำนาจซื้อของเรา และออกแบบสินค้ากับบริการมาขายให้เราได้ใช้ชีวิตในวัยชราภาพได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องทุกข์ทรมานกับการอ่านตัวอักษรบนฉลากยาไม่เห็น เปิดฝากระป๋องไม่ได้ ผมร่วง หัวล้าน คุกเข่าไหว้พระไม่ได้เพราะขามันแข็ง หรือคุกเขาแล้วลุกไม่ได้ ฯลฯ หูก็ตึง ไม่ยอมหย่อนยานเหมือนส่วนอื่นๆ ยกเว้นเวลาลูกหลานนินทาจะได้ยินชัดแจ๋ว

ต่อไปอาจมีคอนโดมิเนียมที่เขาให้เราเลี้ยงน้องหมาแก้เหงาในยามชราได้ พร้อมทั้งมีคลินิคแพทย์ พยาบาลประจำ มี Entertainer สำหรับกิจกรรมในคอนโดวัยชรา .... Why NOT ล่ะ ?

ที่หลายคนบอกว่าเวลาในวัยเกษียณจะมากขึ้น ก็ไม่เชิงหรอก เพราะเวลามันมี 24 ชั่วโมงต่อวันเหมือนเดิม แต่มนุษย์เกษียณจะมีเวลาให้ตัวเองมากขึ้นต่างหากล่ะ

และนั่นละปัญหา พอเรามีเวลาให้ตนเองมากขึ้น เราก็จะ “หาเรื่อง” ใส่ตัวเองได้มากขึ้น

ว่างจัด แต่มีเงินก้อนในมือ คิดต่อกันเองว่าเราแต่ละคนจะทำอะไรกับเงินก้อนนี้

บางคนใช้เพลินไปเลย ราวกับว่าพรุ่งนี้จะไม่อยู่แล้วเลยต้องรีบๆ ใช้ ไปช็อปปิ้ง เที่ยว ซื้อนั่น ซื้อนี่ เอาไปทำศัลยกรรม ฉีดโบท็อกซ์ ฉายแสงอมตะ โอ้ย .... สารพัดจะทำ

เอาละ.... มันเป็นธรรมดาที่เราต้องอดออมมานาน จึงใช้จ่ายอยากให้รางวัลกับชีวิตบ้าง แต่อย่าลืมว่าต้องประมาณตนเป็น ไม่เช่นนั้นเงินจะหมด แล้วเวลาของเราก็หมดด้วย เพราะสมัครงานที่ไหนก็คงไม่มีใครเอาไปใช้งาน ค่ารักษาพยาบาลก็จะสูงขึ้นหลายเท่า และไม่สามารถต่อรองลดราคาได้

ในการจัดการเงินทองนั้น มนุษย์เกษียณมักต้องการความปลอดภัยของเงินลงทุนมากกว่าเดิม ยกเว้นมนุษย์เกษียณพันธุ์พิเศษที่มีเงินมากพอที่จะแบ่งไปลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งโดยยอมรับความเสี่ยงสูงได้ นอกจาก นี้ มนุษย์เกษียณยังต้องบริหารเงินออมให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในบั้นปลายอันยาวไกล และมีแนวโน้มว่าจะอยู่ยงคงกะพัน หนังเหนียวกว่ายุคก่อนๆ อีกด้วย

มนุษย์เกษียณ จึงต้องวางแผนการใช้จ่ายสำหรับช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ให้ได้ อย่าไปรีบถลุงเงินก้อน และถ้ายังมีหนี้สินก็ต้องหาวิธีจัดการให้จบเร็วที่สุด

ในการสำรวจว่าเราจะมีเงินพอไปตลอดช่วงชีวิตหรือไม่นั้น เราต้องประเมินให้ได้ว่าเราต้องใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น เรามีค่าใช้จ่ายประจำในการดำรงชีวิต เฉลี่ยเดือนละ 50,000 บาท และเราคิดว่าเราจะอยู่ต่อไปอีก 20 ปี เราก็ต้องการเงินก้อนในวันนี้ = 50,000 X 12 X 20 = 12 ล้านบาท

หากของไม่แพงขึ้นในตลอด 20 ปีข้างหน้า หากเราไม่หนังเหนียวนานไปกว่านั้น ไม่เจ็บ ไม่ป่วยเกินงบที่ตั้งไว้ กับไม่มีอภิชาตบุตรมาเบียดเบียน เราก็สบายใจได้ เพราะ 12 ล้านบาท เอาอยู่

ถ้าเราไม่ต้องการความเสี่ยงเท่าไร เราก็แค่เลือกแบงค์ดีๆ ที่ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง มีผู้บริหารที่เก่งและมีจริยธรรม แล้วก็ฝากเงินไปกับเขาจะกี่แบงค์ก็ตามใจ โดยแบ่งส่วนหนึ่งไปซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือซื้อพันธบัตรหนีเงินเฟ้อ (Inflation Link Bond) ลงทุนบางส่วนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มีประวัติดี มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ แบ่งอีกส่วนไปลงทุนในกองทุนหุ้นปันผลที่มีคนบริหารเก่งๆ ที่รู้ว่ากำลังทำอะไรกับเงินของเราอยู่

อย่าลืมเรื่องการวางแผนด้านสุขภาพ ซึ่งต้องดูว่าเรามีหลักประกันอะไรอยู่แล้วบ้างไหม ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม บัตรทอง แต่บัตรเบ่งอย่าไปใช้ นอกจากนี้ ก็อย่าไปให้เงินลูก หลาน ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หยิบยืม หรือรีดไถ ระวังอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพที่มักแทรกเข้ามาในยามเราไม่มีใครดูแล

แต่ถ้าศิริรวมคำนวณแล้ว เงินออมไม่พอในวัยปลาย เราก็ต้องลดค่าใช้จ่าย เช่น ไปอยู่ร่วมกันแชร์ค่าใช้จ่ายกับญาติพี่น้อง ลูกหลาน แปลงสภาพที่อยู่ปัจจุบันให้คนเช่าหรือขายเอาเงินก้อน แปลงสภาพสมบัติพระศุลีที่มีอยู่ให้เป็นเงิน และหารายได้เสริมที่ไม่ต้องลงทุนเงินทอง เพราะหากคิดการใหญ่ในวัยชรา อาจขาดทุนและไม่เหลืออะไรอีกเลยนอกจากหนี้สินก้อนโต

เราต้องจัดสรรเงินลงทุนให้ไม่เกินความเสี่ยงที่รับได้ และสามารถรองรับการเบิกจ่ายมาใช้เป็นประ จำของเราได้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น