คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยชลธาร ตั้งจิตคงพิทยา
บลจ.บัวหลวง
ความมั่งคั่ง คือ อัตราส่วนระหว่างรายได้กับค่าใช้จ่าย (ความมั่งคั่ง = รายได้ / ค่าใช้จ่าย) นั่นก็คือ การที่สามารถหารายได้ๆมากกว่ารายจ่ายและมีเงินเหลือ ส่วนที่เหลือคือความมั่งคั่งของเราเอง ไม่จำเป็นต้องหมายถึงคนที่มีเงินทองเยอะเสมอไป
ผู้เขียนขอยกหลักการบางส่วนของโปรเฟสเซอร์ Charles D. Ellis นักวิชาการและนักเขียนเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนชื่อดังที่ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ได้เคยเผยแพร่ไว้มาอธิบาย
Charles D. Ellis เสนอว่า KISS “Keep It Simple and Stupid” ในการลงทุนนั้นมีหลักการและวิธีการ 5 ขั้นดังต่อไปนี้
ข้อแรก เก็บออมเงินสม่ำเสมอและเริ่มตั้งแต่อายุน้อย หลักการนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก เพราะการเริ่มต้นเร็วนั้นนอกจากจะเพาะนิสัยในการเก็บออมแล้ว การลงทุนจะเริ่มได้เร็วและมีระยะเวลาลงทุนนานกว่าที่เราจะเกษียณอายุด้วยพลังของการ “ทบต้น” ของผลตอบแทนที่ได้จะทำให้เม็ดเงินเติบโตเร็วมาก วิธีที่จะคำนวณว่าเม็ดเงินจะเติบโตไปถึงแค่ไหนนั้นเราสามารถใช้ “สูตร 72” คำนวณได้ สูตรนี้จะบอกว่าเงินเราจะเพิ่มเป็นเท่าตัวต้องใช้เวลากี่ปี ตัวอย่างเช่น ถ้าเราลงทุนในกองทุนหุ้นซึ่งจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% ก็ให้เอา 72 ตั้งหารด้วย 10 ได้ค่าเท่ากับ 7.2 ก็จะได้ว่าเงินของเรา 1 ล้านบาทจะโตเป็น 2 ล้านบาทจะใช้เวลาประมาณ 7.2 ปี ดังนั้น ถ้าเรามีเวลาลงทุน 14 ปีเงินก็จะโตไปอีกเท่าตัวเป็น 4 ล้านบาท และถ้าลงทุน 21 ปี จะกลายเป็น 8 ล้านบาท ถ้าลงทุน 28 ปี ก็จะกลายเป็น 16 ล้านบาท แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ดังนั้น ระยะเวลาในการลงทุนจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้เรารวย
ข้อสอง ใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีของรัฐบาลในโครงการเพื่อการลงทุนระยะยาวและการเกษียณอายุ ในเมืองไทยก็คือ การลงทุนในกองทุน RMF หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และ LTF หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ทั้งสองกองทุนนั้นเราสามารถนำเงินที่ลงทุนไปลดหย่อนภาษีรายได้ประจำปีของเรา ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลช่วยสนับสนุนหรือเพิ่มเม็ดเงินที่เราออมตามอัตราภาษีที่เราจ่ายประจำปี เช่น ถ้าเราต้องจ่ายภาษีขั้นสุดท้ายที่ 20% เงินที่เราลงทุนใน RMF และ LTF ก็จะได้ภาษีคืนเท่ากับ 20% นี่เท่ากับว่ารัฐบาลช่วยเพิ่มเงินออมให้เราเท่ากับ 20% ในส่วนนี้เมื่อคิดว่ามันจะให้ผลตอบแทนทบต้นเข้าไปเรื่อย ๆ ในระยะยาว เม็ดเงินที่เราจะได้ก็มหาศาลโดยไม่มีความเสี่ยงเพิ่ม
ข้อสาม เงินออมทั้งหมดเราจะต้องเอาไปลงทุน โดยการลงทุนนั้นเราจะต้อง “กระจายความเสี่ยง” ให้อยู่ในตราสารการเงินหลาย ๆ ประเภทที่เหมาะสมกับเรา เช่นต้องมีเงินฝากจำนวนหนึ่ง มีกองทุนพันธบัตร และมีกองทุนหุ้น เป็นต้น โดยสัดส่วนการกระจายนั้น เราอาจจะกำหนดเป็นสูตรที่คิดว่าเหมาะสมกับการกล้ารับความเสี่ยง เช่น ถ้าเรารับความเสี่ยงได้มาก เราอาจจะลงทุนในกองทุนหุ้น 70% กองทุนพันธบัตรหรือตราสารหนี้ 20% และเป็นเงินฝาก 10% เป็นต้น ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อย อาจจะลงในหุ้นเพียง 40% อีก 50% เป็นพันธบัตร ที่เหลืออีก 10% เป็นเงินสดในธนาคารเป็นต้น
ข้อสี่ เมื่อจัดพอร์ตลงทุนตามสัดส่วนการกระจายการลงทุนแล้ว ทุกสิ้นปีสัดส่วนเงินลงทุนในพอร์ตก็มักจะเปลี่ยนไปเพราะตราสารบางกลุ่มจะให้ผลตอบแทนดีกว่าทำให้เม็ดเงินมากเกินสัดส่วน ดังนั้น เราจะต้องจัดการ Rebalance หรือจัดสัดส่วนการลงทุนใหม่โดยการขายหน่วยลงทุนส่วนที่มีผลตอบแทนมากและสัดส่วนเกินที่กำหนดในตอนต้นปี ไปซื้อหน่วยลงทุนที่มีสัดส่วนน้อยลงแทนเพื่อทำให้สัดส่วนการลงทุนในแต่ละกลุ่มกลับมาอยู่ที่เดิมที่เราตั้งไว้ อย่าเปลี่ยนสัดส่วนเพราะคิดว่ากองทุนแบบหนึ่งกำลังทำผลงานดีหรือแย่กว่าที่คาด
ข้อห้า ยึดมั่นกับหลักการและวิธีการตั้งแต่ข้อหนึ่งถึงข้อสี่โดยไม่ต้องสนใจภาวะตลาดการเงินที่ผันผวน เช่นเวลาที่ตลาดหุ้นตกหนักอย่าขายหน่วยลงทุนในกองทุนหุ้น เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้มันจะยังตกหรือเปล่า เช่นเดียวกัน ในช่วงที่หุ้นขึ้นก็อย่าไปซื้อเพิ่ม เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้มันอาจจะตกก็ได้ การพยายามคาดการณ์ทิศทางตลาดหุ้นนั้นส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นประโยชน์ ควรเน้นการลงทุนระยะยาวซึ่งสถิติบอกว่าหุ้นนั้นในที่สุดก็จะกลับมาให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนประเภทอื่น
หลักการทั้งห้าข้อนี้ ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ ดี. เอลลิส บอกว่า เป็นแผนการเงินเพื่อการเกษียณที่ทำแล้วสบายใจและแทบ "ไม่ต้องดูแล" ที่สำคัญมันง่ายมาก แต่สิ่งที่ต้องระวังที่สุดก็คือมันต้องการ "วินัย" ที่เข้มงวด และ "อารมณ์" ที่มั่นคง
หากแผนการเงินนี้เป็นแผนร่วมของทั้งสามีและภรรยาที่ร่วมใจและเข้าใจกัน KISS คือ Keep It Simple, Sweetheart แผนการเงินที่ง่ายนะจ๊ะที่รัก
ผู้เขียนคิดว่า หลักการของโปรเฟสเซอร์ Charles D. Ellis เหมาะสำหรับพนักงานลูกจ้างที่กินเงินเดือนส่วนใหญ่ที่ไม่มีเวลาหรือความรู้ทางด้านการลงทุน วิธีนี้จึงเหมือนเป็นกลยุทธ์ใช้สำหรับสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้อ่านในอีกรูปแบบหนึ่ง