รับไม้ต่อขึ้นนั่งเก้าอี้นายกสมาคมจัดการลงทุน (AIMC) เป็นที่เรียบแล้ว สำหรับ ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด ต่อจาก วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับบรรดา บลจ.ต่างๆ นั้นคือเรื่องที่เป็นข่าวดังในแวดวงการลงทุนเมื่อปีที่ผ่านมานั่นคือ เรื่องของการผิดจรรยาบรรณของผู้จัดการกองทุนที่สร้างผลเสียและความน่าชื่อถือต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวม ซึ่งในเรื่องนี้มีความเห็นและท่าทีที่สำคัญจากนายกสมาคมจัดการลงทุนคนใหม่ ที่เปิดเผยกับ ASTVผู้จัดการรายวัน - กองทุนรวม หลังเข้ารับตำแหน่งมาให้ฟังกัน ....
ดร.สมจินต์ บอกว่า จากการที่ได้อาสาเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมนั้น เนื่องจากมีความคิดเห็นว่า พวกเราที่เข้ามาทำงานในสมาคม ต้องมองไปให้ลึกๆว่าลูกค้าของเราคือใคร โดยที่ลูกค้าโดยตรงของสมาคมฯนั่นคือ บรรดา บลจ.ต่างๆที่เป็นสมาชิก ซึ่งมีการทำงานร่วมกันกับทาง กลต.ในการที่จะพัฒนาอุตสากกรรม ขณะที่ลูกค้าของสมาชิกสมาคมนั่นก็คือผู้ลงทุนหรือผู้ถือหน่วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทางสมาคมจัดการลงทุนนั้นทำงานร่วมกัน 3 ด้าน คือ สมาชิกสมาคม ลูกค้าและกลต.
โดยมีมิติที่สำคัญในการทำงานร่วมกัน ก็คือการพัฒนาตลาด สร้างให้มีทางเลือกที่กว้างขวางในการลงทุน ทั้งทางเลือกความเสี่ยงน้อยผลตอบแทนต่ำ ไปจนถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นแต่มีโอกาสของผลตอบแทนที่ดีกว่า ซึ่งก็ต้องทำให้ผู้ลงทุนมีความรู้ที่เพียงพอในการที่จะเลือกความหลากหลายนั้น ตรงนี้ถือเป็นศิลปะและต้องมีความขยันและมีความเพียรในการที่จะทำให้สำเร็จ
"เปรียบเทียบได้กับ เด็กที่จมน้ำตาย อายุน้อย เมื่อเกิดเรื่องขึ้นพ่อแม่มีทางเลือก 2 อย่างคือ อย่าให้ลูกเข้าไปใกล้น้ำ หรือ สอนให้เค้าว่ายน้ำเป็น นี่ถือเป็นแนวทางที่ควรจะดำเนินไป "
ฉันใดฉันนั้นในแง่ของการสร้างทางเลือกเปิดเผยความเสี่ยงและโอกาสของการลงทุนให้ชัดเจนนั้น ต้องควบคู่ไปกับการให้ความรู้กับผู้ลงทุน ซึ่งบริษัทจัดการลงทุนที่อยู่ในอุตสาหกรรมไม่มีกำลังที่จะไปถึงผู้ถือหน่วยทุกคนได้ ต้องทำงานผ่าตัวแทนขาย จึงต้องมีการประสานงานกันมาก และเรื่องที่สำคัญมากนอกเหนือจากการส้างทางเลือก และการให้ความรู้ เรายังต้องทำให้เกิด "ความเชื่อมั่น"ในกองทุนรวมด้วย
จากที่ได้เห็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวิชาชีพในอุตสาหกรรมกองทุนรวม นั่นคือ เรื่องจรรยาบรรณของผู้จัดการกองทุน ที่ได้เกิดขึ้น "ผมคิดว่านี่ถือเป็นเรื่องใหญ่และเกี่ยวข้องกับทุกคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทั้งนี้ในบางประเทศนั้นกองทุนรวมถูก เรียกว่า ยูนิท ทรัส (Unit Trust) หรือหน่วยแห่งความเชื่อมั่น ดังนั้นความเชื่อมั่นจึงถือเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมที่เรายืนอยู่ หากไม่รักษาและขยายใหญ่ได้ เราก็ไม่สามารถขยายธุรกิจใหญ่ได้ "
ดร.สมจินต์ ได้บอกว่า จรรยาบรรทางวิชาชีพของเราประกอบไปด้วยความเก่งและความดี ซึ่งเราต้องพิสูจน์ตนเองให้ด้ว่าเรามีความสามารถเยี่ยงนักวิชาชีพที่แท้จริง และต้องมุ่งไปที่ประโยชน์ของผู้ถือหน่วยเป็นหลัก ต้องตระหนักรู้อยู่ตลอกเวลาว่า เรารับค่าจ้างจากใครและใครรับผลประโยชน์สูงสุดจากเรายกตัวอย่างเช่น การส่งคำสั่งของ บลจ.ผ่านโบรกเกอร์ ซึ่งโบรกก็ได้ประโยชน์ ดังนั้นในการกระทำหนึ่งกระทำใดของเราอาจมีผู้ได้ประโยชน์หลากหลาย ซึ่งไม่แปลก แต่ที่สำคัญ เราต้องรู้ชัดๆว่าปัจจัยสูงสุดที่ต้องคำนึงถึงคือผู้ถือหน่วยและอย่าให้ประโยชน์อย่างอื่นมาเบียดบัง จนทำให้ประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลดลง
อีกมิติหนึ่งที่สำคัญ ในฐานะของผู้จัดการกองทุน คือเราต้องพัฒนาตนเองให้มีความสามารถที่ทันสมัยมีคุณธรรมที่มั่นคง ซึ่งยังไม่พอ เรายังต้องหนุนจิตชูใจของพวกเราทุกคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมให้ทำสิ่งนี้ด้วย หากตักเตือนแล้วไม่ถูกต้องก็อาจต้องลงวินัยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราต้องทำ และเป็นเรื่อง พวกเราทุกคนในสมาคมต้องหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน
กรณีตัวอย่างจรรยาบรรณหนึ่งที่ได้ยกขึ้นมาถามนายกสมาคมคือ เรื่องการไปกินข้าวกับโบรกเกอร์ ประเด็นนี้ ดร.สมจินต์ บอกว่า ในเรื่องนี้ ต้องให้เครดิต กับ พี่ตู่ วรรรณ ธาราภูมิ ที่เป็นอดีตนายก ที่เป็นที่เคารพนับถือของพวกเรา ที่ริเริ่มบอกให้สมาชิกในสมาคมจัดการลงทุน ระมัดระวังเรื่องนี้ให้ดี ในธรรมเนียมของไทยแต่เดิมนั้น การพบปะการทานข้าวกันไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็ต้องระมัดระวังว่าทุกครั้งที่ได้รับอะไรจากใครมานั้นเป็นเรื่องที่สมควรรึป่าว เชื่อว่าพวกเราส่วนใหญ่มีจรรยาบรรณอันดี รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร และไม่ให้วัฒธรรมดังกล่าวนั้น มาทำให้เกิดความผิดพลาดในการตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการวิวัฒน์ ในเรื่องของกฎระเบียบไปพร้อมๆกันด้วย
ส่วนเรื่องการเอาผิดลงโทษนั้น เห็นว่า การลงโทษจาก กลต. ที่ได้เห็นกันไปนั้น ก็เป็นการลงโทษที่สมน้ำสมเนื้อพอสมควร ซึ่งการคุมกฏ และการบังคับใช้กติกา เราได้เหนตัวอย่างแล้ว ดังนั้นสมาชิกที่อยูในสมาคมก็มีหน้าที่ในการสร้างกรอบกติกา ให้มีการพูดถึงความรับผิดชอบไม่เฉพาะแต่ตัวเราแต่ต้องมีความกล้าหาญในการยับยั้งการทำความผิดด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ลูกน้อง เพื่อให้เกิดจริงในอุตสาหกรรม ซึ่งก็ยอบรับว่าไม่ง่ายนักแต่ก็ต้องเริ่มไป และเป็นโจทย์ใหญ่ ในสังคมไทยด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ในเรื่องของความเชื่อมั่นจากนักลงทุน จากการแสดงความเห็นในข่าวสารบนหน้าเว็บไซด์ของ ผู้จัดการออนไลน์ (www.manager.co.th/MutualFund/) ที่แสดงความเห็นในทิศทางที่ไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวผู้จัดการกองทุนนั้น นายกสมาคม ก็บอกว่าความเห็นที่แสดงออกมานั้น ทางเราต้องแก้ต่างด้วยการกระทำเท่านั้น ต้องสร้างความดีมาชดใช้ เพื่อให้ความเชื่อมั่นนั้นกลับคืนมา แต่อยาก ปรวณาตัวว่า ในฐานะนายกสมาคมก็อยากที่จะผลักดันจิตสำนึกในเรื่องจรรยาบรรณให้ไปสู่ผู้จัดการกองทุน และเชื่อว่าส่วนใหญ่ในสมาคมนั้นเป็นคนดี มีความเคารพในวิชาชีพของเอง ที่ถือว่าเป็นผู้ที่มีโอกาสดี ได้รับเกียรติ ในการทำหน้าที่ตรงนี้ จึงควรที่จะรักษาหน้าที่ตรงนี้ไว้เพราะสมาคมนี้บริหารเงินจำนวนนับ ล้านล้านบาท และยังตั้งอยู่บนฐานความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุน
นายกสมาคม ยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึง แผนการทำงานว่า แผนงานนั้นยังต้องไปร่วมกันคิดกับคณะกรรมการ แต่ที่อยากทำก็คือเรื่องการสร้างความมั่งคั่ง การขยายฐานลูกค้าออกไปให้ถึงลูกค้าที่ยังไม่ถึง เพื่อให้คนที่มีเงินน้อยได้เข้ามาสู่การลงทุนได้ ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่ยังต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ รวมไปถึงในเรื่องของจรรยาบรรณที่ต้องสานต่อจากนายกสมาคมคนเดิม และอยากเห็นเป็นรูปธรรมขึ้น