"วรวรรณ"เผยอุตสหกรรมกองทุนรวมแข่งขันอย่างดุเดือดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เน้นแข่งขันทางโปรโมชั่นทำการตลาดมากกว่าผลงาน พร้อเผยอยากเห็นการนำเสนอผลการดำเนินกองทุนรวม ความเสี่ยง และแนวคิดของผู้บริหารของบลจ.แทนเพื่อให้ทัดเทียมนานาประเทศ มั่นใจนักลงทุนได้ประโยชน์สูงสุด
โดยวรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานเจ้าหน้าที่
บลจ.บัวหลวง จำกัด
และอดีตนายกสมาคมบลจ.
4 ปีที่ผ่านมาในตำแหน่งนายกสมาคม 2 วาระ หากไม่มีการสนับสนุนจากทุกท่านแล้ว นายกสมาคมคนนี้กับคณะกรรมการทุกๆ ท่าน คง "เอาไม่อยู่"
การเป็นกรรมการที่ดี เป็นนายกสมาคมที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องปฏิบัติหน้าที่แทนเสียงเรียกร้องจากสมาชิกที่มีความหลากหลาย มีข้อจำกัดและจุดเด่นที่ต่างกัน หลายอย่างที่ทำไปก็ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของต้นสังกัดแต่เราก็ต้องทำ
ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นกรรมการสมาคมที่ดีได้ จึงต้องการความเข้าใจและการเสียสละจากต้นสังกัดที่ต้องอนุญาตและสนับสนุนให้ ปฏิบัติงานเพื่ออุตสาหกรรมโดยรวม แม้ต้นสังกัดจะต้องเสียประโยชน์หรือเสียความได้เปรียบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากกรรมการและนายกสมาคมปฏิบัติหน้าที่ด้วยผลประโยชน์แอบแฝง ไมใช่ทำเพื่อส่วนรวม
คำว่าส่วนรวมนี้ บางคนอาจจะยังคงเข้าใจผิด คิดว่าส่วนรวมคืออุตสาหกรรม บางทีเขาอาจจะหลงลืมไปบ้างว่าอุตสาหกรรมของเราจะตั้งอยู่ได้ก็ด้วยความเชื่อ ถือไว้วางใจจากสาธารณชน หากสมาคม บริษัทสมาชิก และบุคคลากรของอุตสาหกรรมไม่ประพฤติตนให้เป็นที่ไว้วางใจหรือประพฤติตน เสื่อมเสีย วงการก็พลอยจะมัวหมองไปด้วย และหากพฤติกรรมไม่ดีกลายเป็นพฤติกรรมกลุ่ม อุตสาหกรรมนี้ก็จะไปไม่รอด ดังนั้น จึงขอให้พวกเราทุกคนยึดมั่นและมีความเชื่อในการทำดี และดำรงตนในจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด
ไม่ต้องรอให้เขาแก้กฏหมาย (พรบ.หลักทรัพย์ฯ) เพื่อให้สมาคมมีอำนาจก่อนแล้วค่อยไปเป็นองค์กรกำกับดูแลกันเอง (SRO) เพราะเราก็ทำดีได้ตั้งแต่วันนี้
ไม่จำเป็นต้องได้ชื่อว่า SRO ก่อนแล้วค่อยไปทำดีต่อผู้ลงทุน เพราะชื่อไม่สำคัญไปกว่าตัวตนกับการกระทำของเรา อะไรดีหรือไม่ดีต่อผู้ลงทุนนั้น เราย่อมรู้อยู่แก่ใจ
จากผลการศึกษาของมอร์นิ่งสตาร์กลางปี 2554 พบว่า อุตสาหกรรมกองทุนของไทยมีคุณภาพน่าลงทุนเป็นที่ 3 รองจากสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา โดย เราได้คะแนนสูงสุดด้านกฎระเบียบการกำกับดูแลที่เข้มงวด ด้านภาษีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลในการทำงานที่โปร่งใสเหนือกว่าประเทศอื่นๆ
เมื่อปลายเดือนกันยายน 2553 Asian Corporate Governance Association (“ACGA”) และ CLSA Asia-Pacific Markets ประกาศผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของประเทศในเอเชีย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า CG Watch โดยครั้งนี้ ประเทศไทยขยับขึ้นเป็น อันดับที่ 4 จาก 11 ประเทศ และได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยในการสำรวจครั้งก่อนหน้าในปี 2550 เราอยู่ในอันดับที่ 8 คราวนี้ ได้มาอยู่ในอันดับที่ 4 สูงสุดตั้งแต่เคยมีการทำรายงาน CG Watch เมื่อปี 2544
ความน่าภาคภูมิใจครั้งนี้ สมาชิกหลายท่านอาจจะไม่รู้ว่ามาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในตลาดทุนรวมถึง สมมาคมของเราด้วยในตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยในรายงานยังกล่าวถึงบทบาทของผู้ลงทุนสถาบัน ว่ามีส่วนช่วยพัฒนาการกำกับดูแลกิจการของ บจ. ให้ดีขึ้นด้วย
สิ่งที่พวกเราทำไปก็คือการให้ความสำคัญในเรื่องที่ บจ. ต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดย บลจ. ที่เป็นสมาชิกทุกรายได้ใช้แนวทางการใช้สิทธิออกเสียง (voting policy) ตามที่สมาคมกำหนด และแต่ละ บลจ. ก็ได้เปิดเผยข้อมูลการใช้สิทธิออกเสียง (voting record) ไว้บนเว็บไซต์ของ บลจ. แต่ละแห่ง รวมทั้งเปิดเผยผลรวมของทุกสมาชิกในแต่ละหัวข้อไว้ในเวบไซท์สมาคมอีกด้วย ซึ่งการดำเนินการนี้มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ บจ. เตรียมการประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความระมัดระวังรอบคอบมากขึ้น
นอกจากนี้ บลจ. ยังเปิดเผยผล CG Rating ไว้ในรายงานการลงทุนของกองทุนภายใต้การบริหารเพื่อให้ผู้ลงทุนทราบว่ากองทุนที่ลงทุนนั้นมีการลงทุนในบริษัทอะไร และบริษัทนั้นๆ มี CG Rating ในระดับใด ซึ่งเป็นแนวคิดที่สมาคมสนับสนุนให้ผู้จัดการกองทุนให้ความสำคัญในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนที่กองทุนลง ทุน เพราะบริษัทที่มีผลประกอบการดีนั้นจะมีความเจริญอย่างยั่งยืนได้ก็ด้วยการมี ผู้บริหารและพนักงานที่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี
พวกเราจึงควรภาคภูมิใจได้ว่า ภายใต้การนำของคณะกรรมการที่กำลังหมดวาระลงในวันนี้ พร้อมด้วยสนับสนุนที่ดียิ่งจากสมาชิกในการปฏิบัติตามกฏกติกาของคณะกรรมการ ได้มีผลต่อความน่าเชื่อถือของตลาดทุนในระดับสากลแล้ว
อุตสาหกรรมกองทุนต้อง ยึดถือผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ในขณะที่ต้องเข้าใจปรัชญาในการทำธุรกิจที่ต้องมีกำไรให้ผู้ถือหุ้น และรับผิดชอบต่อสังคมไปด้วย จึงเป็นเรื่องดีที่ 4 ปีที่ผ่านมานี้ อุตสาหกรรมของเรามีพัฒนาการในด้านคุณภาพที่ดีขึ้น ทั้งในด้านที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าและสังคมส่วนรวม ซึ่งได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เราไม่เคยต้องการให้วัดความสำเร็จของอุตสาหกรรมกันที่เม็ดเงินภายใต้การ บริหารแต่เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ การมีตัวตนปรากฏในตลาดทุนก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเราได้ทำไปแล้วผ่านองค์กรต่างๆ จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางถึงความมีตัวตน ถึงความสำคัญ ซึ่งต้องผ่านการเสียสละทำงานให้แก่ตลาดทุนโดยรวม
เมื่อมองด้านการตลาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ เราพบว่าการแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการแข่งขันที่มีเป้าหมายดึงลูกค้าและผู้ขายให้สนใจเรื่องการลดแลกแจก แถมมากกว่าให้เขาเข้าใจผลการดำเนินงานกับความเสี่ยงและไม่ได้ให้ลูกค้ากับคน ขายเข้าใจวิธีบริหารกองทุนของเรา ซึ่งยังไม่เท่ามาตรฐานที่ดีของต่างประเทศ
ที่ผ่านมานี้ สมาคมไม่เคยคิดรวมหัวกันกำหนดราคา แต่วันนี้อยากจะขอให้พวกเรารู้จักให้คุณค่ากับบุคคลากรของเราและแก่ตัวเรา เองด้วย การบริหารกองทุนไม่ ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความสามารถ ความอดทน ความทุ่มเท และความรักในงาน อย่างไม่มีเวลาหยุดเหมือนอาชีพอื่น หากเรายังไม่เห็นคุณค่าของตนเอง แล้วใครเขาจะมาเห็น
สิ่งที่อยากฝากไปยังนายกสมาคมและคณะกรรมการชุดใหม่ให้สานต่อคือ การเร่งให้สมาชิกให้ความสำคัญในการนำเสนอผลการดำเนินงาน ความเสี่ยง แนวคิดในการบริหารจัดการธุรกิจ และวิธีการบริหารกองทุนของแต่ละค่ายซึ่งจะมีจุดเด่นอันเป็นจุดขายที่ต่างกัน ทั้งนี้ เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจถึงความสำคัญของกองทุนใน เชิงคุณภาพและใช้เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจลงทุนให้มากขึ้น และเพื่อให้แต่ละค่ายมีจุดขายอันโดดเด่นของตนมากขึ้น ไม่ใช่ว่าลูกค้ามองไม่เห็นข้อมูลสำคัญเพียงเพราะคนขายไม่ได้ชูประเด็นนั้น แต่ไปชักนำให้ลงทุนเพื่อได้รับของแถมแต่เพียงอย่างเดียว
หากเราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อย่างที่ร้องขอมายังสมาคมมา โดยต่อเนื่อง เราก็ต้องทำตนเองให้เปลี่ยนแปลง ดังที่ มหาตมะ คานธี เคยกล่าวไว้ว่า "คุณต้องเป็นความเปลี่ยนแปลงที่คุณอยาก จะเห็นในโลกนี้"
ในนามของคณะกรรมการที่กำลังหมดวาระ ขอขอบพระคุณ บริษัทสมาชิก ผู้บริหารและ พนักงานสมาคมฯ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. ธนาคารแห่งประเทศไทย สื่อมวลชน และบรรดาผู้ที่ช่วยถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนแก่สาธารณชน ผ่านช่องทางต่างๆ พวกท่านล้วนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนมาโดยตลอด จึงขอแสดงคารวะต่อทุกท่านที่เป็นผู้พัฒนา การอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน ให้เกิดแก่คนไทย
ขอขอบพระคุณต้นสังกัดของทุก บลจ. ที่เสียสละประโยชน์ทางธุรกิจโดยการส่งบุคคลากรของท่านให้มาเป็นคณะกรรมการ กับคณะทำงานในตลอด 4 ปีที่ผ่านมานี้ และหากการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมาเคยทำให้ท่านใดมีความขุ่นข้องหมองใจ ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ และขอเรียนว่ามิได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือต้นสังกัด แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งคำว่าส่วนรวมนี้ก็คือ อุตสาหกรรม ผู้ลงทุน และสาธารณชน
สุดท้ายนี้ ขอให้พวกเรามั่นใจได้ว่า นายกสมาคมและคณะกรรมการชุดใหม่ที่ท่านคัดเลือกมาเองนี้ จะสามารถสานต่องานพัฒนาอุตสาหกรรมของเราไปได้ด้วยดี ด้วยความตั้งมั่นในความเป็นธรรม และขอการสนับสนุนแก่คณะกรรมการชุดใหม่ให้เหมือนที่เคยให้กับพวกเราตลอด 4 ปีที่ผ่านมานี้ด้วย ขออวยพรให้พวกท่านปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จ และให้มีความภาคภูมิใจในการนำพาอุตสาหกรรมของเราไปในแนวทางที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป