xs
xsm
sm
md
lg

"สมจินต์"นั่งนายกสมาคมบลจ. เน้นจรรยาบรรณขับเคลื่อนสมาชิก (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมจินต์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย นั่งนายกสมาคมบลจ.คนใหม่ พร้อมทำงานร่วม 3 ฝ่าย “ก.ล.ต.- บลจ.-ผู้ลงทุน”ขับเคลื่อนอุตสหกรรมกองทุนรวม ด้าน "วรวรรณ"อดีตนายกบลจ.ฝากการบ้านหวังเห็นบลจ.ชูจุดเด่นของตัวเองในการแข่งขัน พร้อมเสนอยึดอายุกองทุน LTF ไม่มีกำหนดและเปิดทางออกกองทุนใหม่ได้ตลอดเวลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการเลือกตั้งนายกสมาคมและคณะกรรมการสมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือ AIMC ชุดใหม่ โดยมีนายสมจินต์ ศรไพศาล จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย เป็นนายกสมาคมบลจ. นายฉัตรพี ตันติเฉลิม จากบลจ.กรุงศรี เป็นอุปนายกสมาคม และมีนายหรรษา สุสายัณห์ จากบลจ.บัวหลวง เป็นอุปนายกสมาคม

สำหรับคณะกรรมการจะประกอบไปด้วย นางโชติกา สวนานนท์ จากบลจ.ไทยพาณิชย์ นายศุภกร สุนทรกิจ จากบลจ.เกียตินาคิน นางสาวชวินดา หาญรัตนกุล จากบลจ.กรุงไทย นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ บลจ.วรรณ นางสาวจิราพร บุญวานิช จากบลจ.เอ็มเอฟซี และนายเกษตร ชัยวันเพ็ญ บลจ.กสิกรไทย

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า สมาคมจะทำงานร่วมกับ 3 ฝ่ายคือ 1).สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการพัฒนาโปรดักซ์การลงทุนในให้มีความหลากหลายและกว้างขวางครบถ้วนเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนให้ดียิ่งขึ้น 2)สมาชิกบลจ.มุ่งเน้นเรื่องของจรรยบรรณโดยมุ่งถึงผลประโยชน์ของนักลงทุนรวมทั้งพัฒนาความสมารถของสมาชิกในการบริหารกองทุนและ3)ผู้ลงทุน โดยจะมุ่งเน้นการให้ความรู้กับผู้ลงทุน ให้ขยับการลงทุนมาสู่การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นแต่ต้องเหมาะสมกับความสมารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุนด้วย นอกเหนือจากการลงทุนในโปรดักซ์ที่ใกล้เคียงกับเงินฝาก

ทางด้านนางวรวรรณ ธาราภูมิ อดีตนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และ ประธานบริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด กล่าววว่า การเป็นกรรมการที่ดี เป็นนายกสมาคมที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องปฏิบัติหน้าที่แทนเสียงเรียกร้องจากสมาชิกที่มีความหลากหลาย มีข้อจำกัดและจุดเด่นที่ต่างกัน หลายอย่างที่ทำไปก็ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของต้นสังกัดแต่เราก็ต้องทำ ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นกรรมการสมาคมที่ดีได้ จึงต้องการความเข้าใจและการเสียสละจากต้นสังกัดที่ต้องอนุญาตและสนับสนุนให้ปฏิบัติงานเพื่ออุตสาหกรรมโดยรวม แม้ต้นสังกัดจะต้องเสียประโยชน์หรือเสียความได้เปรียบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากกรรมการและนายกสมาคมปฏิบัติหน้าที่ด้วยผลประโยชน์แอบแฝง ไมใช่ทำเพื่อส่วนรวม

ทั้งนี้คำว่าส่วนรวมนี้ บางคนอาจจะยังคงเข้าใจผิด คิดว่าส่วนรวมคืออุตสาหกรรม บางทีเขาอาจจะหลงลืมไปบ้างว่าอุตสาหกรรมของเราจะตั้งอยู่ได้ก็ด้วยความเชื่อถือไว้วางใจจากสาธารณชน หากสมาคม บริษัทสมาชิก และบุคคลากรของอุตสาหกรรมไม่ประพฤติตนให้เป็นที่ไว้วางใจหรือประพฤติตนเสื่อมเสีย วงการก็พลอยจะมัวหมองไปด้วย และหากพฤติกรรมไม่ดีกลายเป็นพฤติกรรมกลุ่ม อุตสาหกรรมนี้ก็จะไปไม่รอด ดังนั้น จึงขอให้พวกเราทุกคนยึดมั่นและมีความเชื่อในการทำดี และดำรงตนในจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัดไม่ต้องรอให้เขาแก้กฏหมาย (พรบ.หลักทรัพย์ฯ) เพื่อให้สมาคมมีอำนาจก่อนแล้วค่อยไปเป็นองค์กรกำกับดูแลกันเอง (SRO) เพราะเราก็ทำดีได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่จำเป็นต้องได้ชื่อว่า SRO ก่อนแล้วค่อยไปทำดีต่อผู้ลงทุน เพราะชื่อไม่สำคัญไปกว่าตัวตนกับการกระทำของเรา อะไรดีหรือไม่ดีต่อผู้ลงทุนนั้น เราย่อมรู้อยู่แก่ใจ

อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาของมอร์นิ่งสตาร์กลางปี 2554 พบว่า อุตสาหกรรมกองทุนของไทยมีคุณภาพน่าลงทุนเป็นที่ 3 รองจากสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา โดยเราได้คะแนนสูงสุดด้านกฎระเบียบการกำกับดูแลที่เข้มงวด ด้านภาษีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลในการทำงานที่โปร่งใสเหนือกว่าประเทศอื่นๆเมื่อปลายเดือนกันยายน 2553 Asian Corporate Governance Association (“ACGA”) และ CLSA Asia-Pacific Markets ประกาศผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของประเทศในเอเชีย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า CG Watch โดยครั้งนี้ ประเทศไทยขยับขึ้นเป็น อันดับที่ 4 จาก 11 ประเทศ และได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยในการสำรวจครั้งก่อนหน้าในปี 2550 เราอยู่ในอันดับที่ 8 คราวนี้ ได้มาอยู่ในอันดับที่ 4 สูงสุดตั้งแต่เคยมีการทำรายงาน CG Watch เมื่อปี 2544

ทั้งนี้สิ่งที่อยากฝากไปยังนายกสมาคมและคณะกรรมการชุดใหม่ให้สานต่อคือการเร่งให้สมาชิกให้ความสำคัญในการนำเสนอผลการดำเนินงาน ความเสี่ยง แนวคิดในการบริหารจัดการธุรกิจ และวิธีการบริหารกองทุนของแต่ละค่ายซึ่งจะมีจุดเด่นอันเป็นจุดขายที่ต่างกัน ทั้งนี้ เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจถึงความสำคัญของกองทุนในเชิงคุณภาพและใช้เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจลงทุนให้มากขึ้น และเพื่อให้แต่ละค่ายมีจุดขายอันโดดเด่นของตนมากขึ้น ไม่ใช่ว่าลูกค้ามองไม่เห็นข้อมูลสำคัญเพียงเพราะคนขายไม่ได้ชูประเด็นนั้น แต่ไปชักนำให้ลงทุนเพื่อได้รับของแถมแต่เพียงอย่างเดียว

“สำหรับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว( LTF) ซึ่งจะหมดอายุในปี 2559 ทางสมาคมบลจ.ได้เสนอผ่านคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไปถึงกระทรวงการคลังว่าควรจะขยายอายุกองทุนโดยไม่มีกำหนดและให้บลจ.สามารถออกกองทุน LTF ใหม่ได้ตลอดเวลา เพื่อเป็นประโยชน์กับอุตสหกรรมกองทุน และให้นักลงทุนได้มีทางการเลือกในการลงทุนมากขึ้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น