บัวหลวง Money Tips
โดยพิชญา ซุ่นทรัพย์
บลจ.บัวหลวง
ที่ผ่านๆมา หลายคนหนีเงินฝากออมทรัพย์หรือฝากประจำ ด้วยการเอาไปซื้อตั๋วแลกเงิน (B/E) ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเกือบๆ 0.5% หรืออาจจะมากกว่านั้น แต่มาถึงปัจจุบัน ท่านที่เป็นลูกค้าตั๋วแลกเงินคงสงสัยว่าตั๋วเหล่านี้หายไปไหนหรือทำไมพนักงานธนาคารจึงไม่ค่อยมาเสนอขายเหมือนก่อน
สาเหตุเนื่องมาจากกฎหมายที่กำหนดให้ธนาคารต้องกันเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการออกตราสารหนี้บางประเภท ซึ่งนับรวมถึงตั๋วแลกเงินด้วย และให้นำเงินที่กันไว้ ส่งให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝากและอีกส่วนนำไปแก้ไขหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) โดยเงินที่ต้องนำส่งนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 0.47% ของฐานเงินที่รับเข้ามา
หลังจากกฎหมายนี้ประกาศใช้ ทำให้ต้นทุนของการออกตั๋วแลกเงินสูงขึ้นและไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ ธนาคารต่างๆ จึงลดการออกตั๋วแลกเงินและหันมาออกหุ้นกู้สถาบันการเงินระยะสั้นเพื่อระดมทุนแทน รวมถึงการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิอายุยาวๆ เพื่อระดมทุน เราจึงเริ่มเห็นธนาคารต่างๆ หันมาเสนอขายหุ้นกู้แบบต่างๆ กันมากขึ้น และเมื่อรวมกับหุ้นกู้เอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ปกติมีการระดมทุนผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้นทุกปีอยู่แล้ว จึงทำให้ตลาดหุ้นกู้ในช่วงนี้คึกคักเป็นพิเศษ
ดังนั้นผู้ที่เคยลงทุนในเงินฝากหรือตั๋วแลกเงินจะต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาการลงทุนในหุ้นกู้มากขึ้น สำหรับสิ่งที่ควรทราบในเบื้องต้นก่อนจะตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ของธนาคารหรือบริษัทใด เราต้องทราบถึงลักษณะของหุ้นกู้ชุดนั้นๆด้วย อย่างแรกคืออายุของหุ้นกู้นั้นๆ ว่าเป็นหุ้นกู้ระยะสั้นหรือระยะยาว มีเงื่อนไขการด้อยสิทธิหรือไม่ อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับและรูปแบบการจ่ายเป็นอย่างไร อายุของหุ้นกู้เป็นเท่าไร มูลค่าที่เสนอขาย เงินลงทุนขั้นต่ำ และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องอันดับเครดิตของหุ้นกู้ชุดนั้นๆ
สำหรับหุ้นกู้ระยะยาวแล้ว ถ้าเราเทียบในเรื่องผลตอบแทน ก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นกู้ระยะสั้น เพราะมีอายุของตราสารที่ยาวกว่า เช่น 3 ปี 5 ปี 10 ปี หรืออาจมากกว่านี้ก็เป็นได้ ทำให้มีความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องสำหรับนักลงทุนที่สูงขึ้นจึงต้องชดเชยผลตอบแทนที่มากขึ้นตามไปด้วย ส่วนเรื่องรูปแบบการจ่ายดอกเบี้ยก็มีหลากหลายรูปแบบตามแต่ผู้ออกจะกำหนด เช่น จ่ายแบบขั้นบันได เช่น 3ปีแรกจ่าย 4%ต่อปี ปีที่ 4-5จ่ายที่ 4.50 %ต่อปี หรือหุ้นกู้บางบริษัทระบุจ่ายดอกเบี้ยรายปี รายครึ่งปี หรืออาจจะจ่ายเป็นรายไตรมาส ผู้ลงทุนสามารถเลือกหุ้นกู้ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ทางการเงินของตนเองได้
เงินลงทุนขั้นต่ำต่อหน่วยในหุ้นกู้ส่วนใหญ่กำหนดไว้ค่อนข้างสูง เช่น กำหนดขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท แต่ปัจจุบันการจำหน่ายหุ้นกู้ต่อหน่วย เริ่มปรับราคามากำหนดขั้นต่ำที่ 50,000 บาท หรือต่ำกว่ากันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้ามาลงทุนได้
หุ้นกู้แต่ละชุดจะต้องถูกจัดอันดับเครดิตเพื่อช่วยให้นักลงทุนทราบถึงความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นกู้ชุดนั้นๆ ด้วย ซึ่งในประเทศไทยมีสถาบันที่กำหนดอันดับเครดิตเหล่านี้อยู่ 2 สถาบันได้แก่ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และบริษัท ฟิทซ์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด อันดับเครดิตที่ให้ มีตั้งแต่ AAA “Highest credit quality”ไปจนถึง D “Default” ยิ่งอันดับเครดิตต่ำเท่าไรผลตอบแทนที่เสนอจะยิ่งสูงขึ้นเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่นักลงทุนจะได้รับ
การลงทุนในหุ้นกู้ถือเป็นการลงทุนที่มีระยะเวลาการลงทุนค่อนข้างยาวอาจต้องถือเอาไว้หลายๆ ปี และมีสภาพคล่องน้อย หากผู้ลงทุนต้องการใช้เงินจะมีปัญหาในการหาผู้รับซื้อต่อ ดังนั้นนักลงทุนควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการลงทุนของตนเอง และจัดสรรสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมด้วย เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในเรื่องดังกล่าว
หากผู้ลงทุนสนใจลงทุนในหุ้นกู้เอกชน แต่อาจจะติดเงื่อนไขในเรื่องเงินทุนขั้นต่ำ ระยะเวลาในการลงทุน หรืออาจจะไม่มีเวลาในการศึกษาข้อมูลมากนัก สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีส่วนผสมการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนได้เช่นกัน ขั้นต่ำในการลงทุนอาจต่ำเพียงหลักพันบาทเท่านั้น อีกทั้งสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ และมีผู้จัดการกองทุนที่เชี่ยวชาญคัดเลือกลงทุนให้กับคุณ