xs
xsm
sm
md
lg

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กับการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของไทย (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้พูดถึงผลกระทบเบื้องต้นของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจไทยในภาพรวมกันไปแล้วนะคะ ในสัปดาห์นี้เราจะมาติดตามกันต่อถึงผลกระทบของ AEC ที่จะเกิดกับการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศไทยกันต่อค่ะ

เนื่องจากการจัดตั้ง AEC จะมีผลทำให้เม็ดเงินลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้อย่างเสรีมากขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน ดังนั้น ภาคการเงินของไทยจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการจัดตั้ง AEC ที่กำลังจะมาถึง โดยเราสามารถแบ่งสาระสำคัญของการเตรียมพร้อมสำหรับภาคการเงิน ออกเป็น 4 ด้านด้วยกัน

โดยในด้านแรก คือเรื่องของการพัฒนา “ระบบการชำระเงิน” ของไทย ที่จะต้องสามารถเชื่อมต่อให้เข้ากับระบบการชำระเงินของประเทศสมาชิก ด้วยความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้รองรับกับการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆ ได้ โดยที่ในปัจจุบัน ระบบการชำระเงินของไทยมีการพัฒนาเชื่อมโยงเข้ากับระบบการชำระเงิน ATM ASEAN Pay ของประเทศมาเลเซียแล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ถือบัตร ATM ของประเทศใดประเทศหนึ่ง สามารถถอนเงินสดที่เครื่อง ATM ของอีกประเทศหนึ่งได้ และคาดว่าจะสามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบของประเทศสมาชิกอื่นๆ และขยายให้มีความครอบคลุมมากขึ้นในระยะต่อๆ ไป

ด้านถัดมาได้แก่ การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ “การเคลื่อนย้ายเงินทุน” ที่จะต้องเปิดให้เกิดการเคลื่อนย้ายของเม็ดเงินได้อย่างเสรี โดยอาจจะต้องมีการปรับกฎระเบียบ และขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายของเงินทุน

ทั้งในส่วนของการลงทุนทางตรง(FDI) และการลงทุนในตลาดการเงิน (Financial Market) ซึ่งอย่างไรก็ตาม การเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายของเงินทุนอย่างเสรีจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยและความมีเสถียรภาพทางการเงินของประเทศสมาชิก ดังนั้นประเทศสมาชิก AEC แต่ละรายจึงต้องเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ โดยคำนึงถึงเสถียรภาพทางการเงินของตนเองเป็นปัจจัยสำคัญ ลำดับถัดมาคือการพัฒนาในส่วนของ “การให้บริการทางการเงิน” ที่จะต้องผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ สามารถให้บริการทางการเงินข้ามพรมแดนได้ไกลขึ้นและสะดวกขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน มีธนาคารพาณิชย์ของไทยหลายแห่งไปเปิดสาขาในประเทศสมาชิกของกลุ่ม AEC บ้างแล้ว

และการเตรียมความพร้อมในด้านสุดท้าย คือ “การพัฒนาตลาดทุน” ที่นอกจากจะต้องทำให้เกิดความสมดุลในระบบการเงินภายในประเทศสมาชิกด้วยกันแล้ว แต่ละประเทศยังมีหน้าที่ต้องพัฒนาตลาดทุนของตนเองเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิกฤตทางการเงินในอนาคต และเนื่องจากลักษณะตลาดทุนของประเทศสมาชิก AEC ส่วนใหญ่มีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก ซึ่งยากต่อการแข่งขันในตลาดโลก

ดังนั้นความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงตลาดทุนของประเทศสมาชิกเข้าด้วยกัน จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงความน่าเชื่อถือให้สูงขึ้น เนื่องจากมีความเป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้แล้ว ตลาดทุนที่ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันของแต่ละประเทศสมาชิกจะช่วยเพิ่มช่องทางในการระดมทุนของภาคธุรกิจในประเทศ และยังช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากประเทศนอกกลุ่ม AEC ให้เข้ามามากขึ้นด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศสมาชิกในกลุ่ม AEC ที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ทำให้ในปัจจุบันมีเพียงประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น ที่มีความพร้อมสำหรับการเปิดเสรีทางการเงิน ในขณะที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ยังคงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตนเองให้มีความพร้อมต่อไป

สำหรับผลกระทบของการจัดตั้ง AEC ที่จะมีต่อตลาดการเงินของไทยนั้น ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (AsianBond Markets Initiative : ABMI) ที่ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการออกตราสารเป็นสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศสมาชิก

โดยล่าสุดได้มีการจัดตั้งกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility : CGIF)เพื่อส่งเสริมให้การออกตราสารหนี้ของประเทศในกลุ่มสมาชิกเป็นไปได้โดยสะดวกขึ้น นอกจากนี้แล้ว ประเทศไทยยังได้ผลักดันให้มีการออกตราสารหนี้ประเภทใหม่ๆ เช่น Bath Bond (ตราสารหนี้สกุลเงินบาทที่ออกโดยองค์กรจากต่างประเทศในตลาดตราสารหนี้ไทย) รวมไปถึงการผลักดันมาตรการทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตลาดการเงิน โดย กลต. ได้เสนอเรื่องต่อกรมสรรพากรให้ยกเว้นการเก็บภาษีจากเงินปันผลซึ่งปัจจุบันมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่อัตรา 10% ซึ่งการพัฒนาในด้านต่างๆเหล่านี้ จะเป็นโอกาสที่ดีต่อผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในตลาดการเงินของไทยในทุกภาคส่วน เนื่องจากจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในตลาด

ในขณะที่ทางด้านของผู้ระดมทุนก็มีโอกาสที่จะออกไประดมทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น และในส่วนของนักลงทุน ก็สามารถลงทุนได้ด้วยค่าธรรมเนียมทางการลงทุนที่ลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม หากเป็นการลงทุนข้ามประเทศ นักลงทุนควรต้องศึกษาข้อมูลต่างๆอย่างละเอียดก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนทุกครั้งเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการลงทุนข้ามประเทศ เช่น ความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้นค่ะ

บทความโดย
สโรกาญจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
sarokarn@thaibma.or.th, 02-252-3336 Ext.216
กำลังโหลดความคิดเห็น