xs
xsm
sm
md
lg

พันธบัตรอัตราผลตอบแทนสูง (High Yield Bond)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
อันดับความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับภาคการเงินและภาคธุรกิจโดยรวม เนื่องจากอันดับความน่าเชื่อถือนั้นสะท้อนถึงความเชื่อมั่น และภาพรวมของผลการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยหากบริษัทใดได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับสูง แสดงว่าบริษัทนั้นมีผลประกอบการของธุรกิจที่ดี และสำหรับตราสารหนี้เอง ก็มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน โดยมีการจัดอันดับแบบอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ (Issuer rating) และอันดับความน่าเชื่อถือของรุ่นตราสารหนี้ (Issue rating) โดยการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ 1) กลุ่มที่น่าลงทุน (Investment Grade) ซึ่งอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ คืออันดับความน่าเชื่อถือในระดับ AAA ถึง BBB และ 2) กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหรือต่ำกว่าที่น่าลงทุน (Junk Bond) ซึ่งอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับต่ำกว่า BBB

โดยวันนี้เราจะมารู้จักตราสารหนี้ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Junk bond ประเภทหนึ่ง ที่มีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุน และผู้ที่ต้องการระดมทุนผ่านทางตราสารหนี้ นั่นคือ ตราสารหนี้ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง (High Yield Bond) High Yield Bond ครอบคลุมถึงตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ต่ำกว่า Investment grade และตราสารหนี้ที่ไม่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated bond) ซึ่งลักษณะเด่นของ High Yield Bond คือ ตราสารหนี้ประเภทนี้จะให้อัตราผลตอบแทนที่สูง แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่า High Yield Bond จะมีอัตราผลตอบแทนที่สูงแต่ก็มีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน (High Risk High Return) ซึ่งก็จะเหมาะกับนักลงทุนที่มีลักษณะชอบความเสี่ยง (Risk Lover) ทั้งนี้นักลงทุนที่สนใจลงทุนใน High yield bond ควรจะศึกษารายละเอียดของตราสารหนี้ประเภทนี้เป็นอย่างดีก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบความเสี่ยงกับหุ้นแล้ว High Yield Bond ก็ยังมีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในหุ้น กล่าวคือ หากบริษัทต้องปิดกิจการลงผู้ที่ถือตราสารหนี้จะได้รับการชำระหนี้คืนก่อนผู้ที่ถือหุ้นสามัญ เนื่องจากมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเสนอขายตราสารหนี้ที่ไม่ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือ และกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงแก่ผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย เพื่อปรับกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับข้อจำกัดของการลงทุน โดยกองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน High Yield Bond จะเสนอขายได้เฉพาะกับผู้ลงทุนประเภท

1) ผู้ลงทุนสถาบัน เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน และกองทุนรวม เป็นต้น

2) ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High net worth)
 3) บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีเงินลงทุนขั้นต่ำในครั้งแรกไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ลงทุนตามข้อ 2)

และข้อ 4) ต้องมีประสบการณ์การลงทุนที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะสามารถทำให้กองทุนสามารถลงทุนใน High Yield Bond ได้ แต่อย่างไรก็ตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในเร็วๆนี้

หลายๆฝ่ายได้พยายามผลักดันให้เกิด High Yield Bond ในประเทศไทยขึ้น โดยคาดหวังว่าจะส่งผลดีต่อตลาดตราสารหนี้ไทย โดยเป็นการเพิ่มความหลากหลายของตราสารหนี้ในตลาด และช่วยให้เกิดสภาพคล่องของตลาดที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสนอทางเลือกให้กับทั้งผู้ที่ต้องการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ เนื่องจากผู้ที่ต้องการระดมทุนสามารถมีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น เช่นหากบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ ก็สามารถออกหุ้นกู้เสนอขายให้กับผู้ลงทุนที่พร้อมจะลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงแบบ High yield bond ได้ หรือในแง่ของนักลงทุนนั้น ก็มีทางเลือกใหม่ๆในการลงทุนมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในตราสารที่ได้มีอัตราผลตอบแทนสูง และยังได้รับความคุ้มครองในระดับที่เหมาะสมอีกด้วย

ลักษณะทั่วไปของ High Yield Bond อีกข้อหนึ่งนั้นคือมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างสูง หมายความว่า เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวการลงทุนใน High Yield Bond ก็จะชะลอตัวตามไปด้วย เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นที่จะเข้าไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตามการที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ และอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงอยู่ระดับที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งหากนักลงทุนต้องการผลตอบแทนที่ดีกว่านั้น การหันมาพิจารณา High Yield Bond ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

สโรกาญจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
sarokarn@thaibma.or.th, 02-252-3336 Ext.216
กำลังโหลดความคิดเห็น