ก.ล.ต.ตีกรอบสถาบันการเงิน ออกตั๋วเงินขาย ปชช.ทั่วไป ต้องมีมูลค่าหน้าตั๋วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท พร้อมข้อความเตือน ไม่ได้รับคุ้มครองเงินฝาก และไม่มีอนุพันธ์แฝง หลังสถาบันแห่ออกคึกคัก หวั่นทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิด และคาดหวังการคุ้มครองเช่นเดียวกับเงินฝาก ยันมีความเสี่ยงเพราะผู้ลงทุนที่สลักหลังโอนตั๋วอาจถูกไล่เบี้ย พร้อมหนุนเอกชนระดมทุนโดยหันมาออกหุ้นกู้แทน
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนให้ความเห็นชอบในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลตั๋วเงิน หุ้นกู้ระยะสั้น และหุ้นกู้ที่มีเงื่อนไขซับซ้อน เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจหันมาระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้แทนตั๋วเงิน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสถาบันการเงินระดมทุนจากประชาชนในรูปตั๋วเงินมากขึ้น มีรูปแบบการจ่ายผลตอบแทนคล้ายเงินฝาก บ้างก็มีอนุพันธ์แฝง การที่สถาบันการเงินออกและขายตั๋วเงินเองอาจทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิด และคาดหวังการคุ้มครองเช่นเดียวกับเงินฝาก ตั๋วเงินยังมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนที่สลักหลังโอนตั๋วอาจถูกไล่เบี้ย
โดยผู้ซื้อในทอดต่อไป รวมทั้งมีลักษณะทางกฎหมายที่ไม่เหมาะกับการออกโดยมีอนุพันธ์แฝง ดังนั้นจึงควรได้รับการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน และเพื่อเป็นการสร้างทางเลือกในการระดมทุนให้แก่ภาคธุรกิจแทนการออกตั๋วเงิน ก.ล.ต. จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการออกและเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้นและหุ้นกู้ที่มีเงื่อนไขซับซ้อนให้มีความสะดวกและสามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
โดยในส่วนของตั๋วเงิน เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดและกระจายสู่รายย่อยในวงกว้าง ก.ล.ต. กำหนดให้ตั๋วเงินที่เสนอขายต่อประชาชนต้องมีมูลค่าหน้าตั๋วขั้นต่ำ 10 ล้านบาท (เว้นแต่เป็นตั๋วเงินที่ระดมทุนในวงแคบ คือ มีจำนวนคงค้างไม่เกิน 10 ฉบับ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง) และต้องมีคำเตือนว่าไม่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และเพื่อจำกัดความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุน จึงกำหนดให้ตั๋วเงินต้องมีเงื่อนไขห้ามเปลี่ยนมือหรือหากจะไม่กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวก็ต้องมีข้อความที่จำกัดความรับผิดของผู้โอน
นอกจากนี้ ตั๋วเงินที่เป็นหลักทรัพย์ต้องไม่มีอนุพันธ์แฝง รวมทั้งให้เสนอขายผ่านตัวกลางที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ทั้งที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงิน เพื่อดูแลให้มีการเสนอขายสินค้าที่เหมาะกับผู้ลงทุน
ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ออกหุ้นกู้ระยะสั้นและตั๋วเงิน กล่าวคือ ให้สถาบันการเงินผู้ออกสามารถใช้งบการเงินตามมาตรฐานบัญชีและจัดส่งตามรอบระยะเวลาที่หน่วยงานกำกับดูแลหลักกำหนดได้ หากผู้ออกเป็นสาขาธนาคารต่างประเทศและไม่มีข้อจำกัดความรับผิดของธนาคารแม่ในต่างประเทศ สามารถใช้ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารแม่ในต่างประเทศได้ และตั๋วเงินและหุ้นกู้ระยะสั้นที่ออกโดยสถาบันการเงินและบริษัททั่วไปไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างดำเนินการผ่อนคลายหลักเกณฑ์อีกหลายเรื่อง ซึ่งจะทยอยประกาศให้ทราบต่อไป
พร้อมกันนี้ เพื่อให้การออกและเสนอขายตราสารที่มีอนุพันธ์แฝงมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์รองรับการออกหุ้นกู้ที่มีเงื่อนไขซับซ้อนเพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์การออกหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยกำหนดกระบวนการและกรอบเวลาในการขออนุญาตรวมทั้งรูปแบบและเนื้อหาในการเปิดเผยข้อมูลที่กระชับ รวดเร็ว และสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีลักษณะของตราสารและปัจจัยอ้างอิง ตลอดจนข้อจำกัดความเสี่ยงของตราสาร ครอบคลุมและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของสถาบันการเงินในปัจจุบัน
“ก่อนที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ ก.ล.ต. ได้รับฟังความคิดเห็นและหารือร่วมกับธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันภัย บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ซึ่งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับล้วนเป็นประโยชน์ในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะไม่ทำให้การกำกับดูแลเป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนและการบริหารจัดการสภาพคล่องของภาคธุรกิจ รวมทั้งสามารถคุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างเหมาะสม และเพื่อให้สถาบันการเงินที่เคยออกตั๋วเงินมีเวลาปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแล ก.ล.ต. จึงให้ประกาศเกี่ยวกับตั๋วเงินมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 นี้” นายวรพล กล่าวสรุป