โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
• ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนเยอรมันในเดือน มิ.ย.ปรับลดลงมาอยู่ที่ -16.9 จุด จาก +10.8 จุดในเดือนก่อน ลดลงมากที่สุดในรอบ 13 ปี โดยนักลงทุนกังวลมากเรื่องวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มยูโรที่มีแนวโน้มลุกลามและกดดันภาวะเศรษฐกิจจริงในภูมิภาค
• ผลการประมูลตั๋วเงินคลังของสเปนอายุ 12 และ 18 เดือน มีอัตราผลตอบแทน 5.074% และ 5.107% ตามลำดับ ด้วยมูลค่ารวม 3.04 พันล้านยูโร โดยอัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 2.985% และ 3.302% ในการประมูลเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่การประมูลพันธบัตรอายุ 2 ปีของเดนมาร์กมีอัตราผลตอบแทนเท่ากับ -0.08% เป็นการติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์
แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีความกังวลอย่างมากต่อวิกฤตหนี้สาธารณะในสเปนซึ่งส่งผลให้มีความต้องการลงทุนในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเพิ่มสูงขึ้น
• ผลผลิตภาคก่อสร้างของกลุ่มยูโรโซนในเดือน เม.ย. ลดลง 2.7% จากเดือนก่อน และลดลง 5.0% จากปีที่แล้ว โดยผลผลิตภาคก่อสร้างลดลงใน 9 ประเทศ นำโดยอังกฤษที่ลดลงมากที่สุดถึง -18.1% ขณะที่อีก 5 ประเทศเพิ่มขึ้น โดยโรมาเนียปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 11.5%
• อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของอังกฤษในเดือน พ.ค.ปรับลดลงสู่ระดับ 2.8% จาก 3.0%ในเดือนก่อน ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง จากราคาน้ำมัน อาหาร และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงทำให้มีโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษอาจเพิ่มมาตรการซื้อคืนพันธบัตรได้ในอนาคต
• ตัวเลขการสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. เท่ากับ 708,000 ยูนิต ลดลง 4.8% จากเดือนก่อน ขณะที่การขออนุญาตก่อสร้างในเดือน พ.ค. เท่ากับ 780,000 ยูนิต เพิ่มขึ้น 7.9% เพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2551
อนึ่ง ตัวเลขการขออนุญาตก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นบ่งบอกถึงแนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่น่าจะเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวมากขึ้น
• ตัวเลขตำแหน่งงานใหม่ในสหรัฐฯ เดือน เม.ย. ลดลง 325,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อน เหลือ 3.42 ล้านตำแหน่ง เป็นการปรับลดลงมากที่สุดในรอบ 4 ปี และเป็นสัญญาณการชะลอตัวของตลาดแรงงานที่สอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานที่เริ่มลดลงในเดือน เม.ย. และ พ.ค.
• ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของจีนในไตรมาส 2 เท่ากับ 63.7% ลดลง 0.7% จากไตรมาสแรก ในขณะที่ดัชนีความคาดหวังของนักธุรกิจต่อการประกอบกิจการในอนาคตเป็น 65.8% ลดลง 2.7% จากไตรมาสก่อน
ทั้งนี้ จีนกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมากที่สุดในรอบ 3 ปี จากผลกระทบของปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป และการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล
• จีนตกลงเพิ่มเงินทุน 43,000 ล้านดอลลาร์ให้ IMF เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการป้องกันเศรษฐกิจโลกจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ขณะที่ เม็กซิโก บราซิล รัสเซีย และอินเดีย มอบเงินเพิ่มให้อีกประเทศละ 10,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้กองทุนเพื่อป้องกันเศรษฐกิจโลกของ IMF เพิ่มขึ้นเป็น 456 พันล้านดอลลาร์
• รมว.กระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวในการประชุม G20 ว่า เศรษฐกิจจีนในเดือน มิ.ย. จะกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากมีแนวโน้มชะลอตัวตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค รวมทั้งลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2551 อีกทั้งยังคาดว่าการค้าระหว่างประเทศของจีนจะยังสามารถเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 10% ได้ แม้จะมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในยุโรปก็ตาม
• Moody’s ระบุว่า หนี้ครัวเรือนของเกาหลีใต้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการเงินของประเทศมากยิ่งขึ้น โดยในเดือน เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 639.6 ล้านล้านวอน จาก 622.2 ล้านล้านวอนในเดือน ก.ค. 2554 ซึ่งเป็นระดับที่มีความน่ากังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการเงินของเกาหลีใต้ได้ถ้ามีวิกฤตทางการเงินที่คาดไม่ถึงจากวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
• ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยเดือน พ.ค. เท่ากับ 115,943 คัน เพิ่มขึ้น 32% จากเดือนก่อน และ 108% จากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดใหม่ของประเทศ โดยเป็นยอดขายรถยนต์นั่ง 55,983 คัน เพิ่มขึ้น 89% จากปีก่อน และยอดขายรถปิกอัพ 52,155 คัน เพิ่มขึ้น 137% จากปีก่อน
• ครม.มีมติเห็นชอบให้เปิดใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้ ซึ่งจะเปิดให้บริการสำหรับเส้นทางบินในประเทศ บริการเครื่องบินเช่าเหมาลำและสายการบินต้นทุนต่ำ เพื่อลดความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
• ม.หอการค้าไทยประเมินว่า วิกฤตหนี้สาธารณะของกลุ่มยูโรจะกระทบต่อมูลค่าการส่งออกไทยให้ขยายตัวได้เพียง 7-8% จาก 15% ที่ ก.พาณิชย์คาดการณ์ไว้ โดยมีสาเหตุจากมูลค่าการส่งออกไปตลาดยุโรปที่จะหดตัวประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท จากความต้องการที่ชะลอตัวลง ขณะที่การหาตลาดส่งออกใหม่เพื่อชดเชยตลาดยุโรปจะมีความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากตลาดส่งออกที่สำคัญอย่างจีน และอินเดีย ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตของยุโรปเช่นกัน และยังจะพบกับการแข่งขันทางด้านราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากเป็นที่สนใจจากหลากหลายประเทศที่ต้องการตลาดใหม่เพื่อชดเชยตลาดยุโรปเช่นเดียวกัน แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะยังสามารถเติบโตได้ที่ระดับ 5-6% จากการลงทุนในประเทศที่ขยายตัว
• ธปท.ปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่ใกล้เคียงกับค่าเดิมที่ 6% ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มยูโรที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก จนต้องปรับประมาณการการส่งออกของไทยจาก 9.3% เหลือ 8% และปรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปลงเป็น -0.7% จากเดิม -0.5%
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงประมาณการ GDP ของไทยในปีนี้ที่ 5% แต่ลดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลงเป็น 3.5% จากเดิม 3.9% โดยเห็นว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยคือ ปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มยูโรที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งการส่งออกไปยังยุโรปใน 4 เดือนแรกของปีหดตัวลง 15.4% และคาดว่าทั้งปีจะหดตัวประมาณ 5% ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอาเซียนยังคงมีแนวโน้มขยายตัว 17% จากการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน
Equity Market
• SET Index ปิดที่ 1,173.09 จุด เพิ่มขึ้น 9.68 จุด หรือ +0.83% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 19,429.62 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,036.95 ล้านบาท โดยดัชนี SET สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงบ่ายจนสามารถขึ้นมาปิดที่ระดับสูงสุดของวันจากความคาดหวังต่อผลการประชุมของ FOMC ในวันนี้
Fixed Income Market
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเปลี่ยนแปลงในช่วง -0.002% ถึง +0.01% โดยปรับตัวขึ้นหลังลดลงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล อายุ 30.7 ปี 8,500 ล้านบาท และมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามเงินเฟ้อ (Inflation-Linked Bond) อายุ 10 ปี มูลค่า 15,000 ล้านบาท