xs
xsm
sm
md
lg

แม่เหล็กการลงทุนของอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่น่ายินดียิ่งที่หลังจากประสบเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2554 ภาครัฐและภาคเอกชนไทยได้ร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการจัดหาแนวทางป้องกันและฟื้นฟูประเทศ จนสามารถเรียกความเชื่อมั่นในประเทศไทยจากสายตาของนักลงทุนกลับคืนมาได้ โดยจะเห็นได้จากมูลค่าการลงทุนของชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย (BOI Applications approved) ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ที่ 2.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่ง 2 อันดับแรกของเงินลงทุนที่เข้ามานั้นเป็นการลงทุนในภาคบริการและโครงสร้างพื้นฐาน รองลงมาคือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในสัดส่วน 47% และ 15% ตามลำดับ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาคธุรกิจต่างชาติเริ่มมีแนวคิดที่จะขยายตลาดเข้ามายังไทยมากขึ้น รวมถึงมีการวางแผนให้ไทยเป็นฐานผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ เห็นได้จากแผนการขยายตลาดของกล้องดิจิทัล เช่น ฟูจิฟิล์ม โอลิมปัส และ นิคอน ที่กำลังมุ่งหน้าเข้ามาขยายตลาดในไทยอย่างจริงจัง (จากเดิมที่เป็นการขายผ่านตัวแทน) หรือ เป๊ปซี่-โค ที่ใช้เงินลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท เข้าซื้อ โรงงานซานมิเกล ที่ระยองเพื่อปรับปรุงเป็นโรงงานผลิตน้ำอัดลม ทั้งยังชักชวน กลุ่มเบียร์สิงห์ ให้เข้ามาร่วมจัดจำหน่ายและลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำอัดลมเป๊ปซี่ นอกจากนี้ ผู้ผลิตขวดแก้วรายใหญ่อย่าง บางกอกกล๊าส ก็ได้ลงทุนขยายเตาหลอมเพิ่มอีก 2 เตาที่นิคมโรจนะ เพื่อรองรับกำลังการผลิตของโรงงานในอาเซียนที่ยังมีจำกัด ขณะที่กลางปีหน้าได้เตรียมร่วมทุนกับ แร็กซั่ม ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระป๋องเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลกจากอังกฤษ เพื่อก้าวเป็นผู้ประกอบการด้านบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร (Total Packaging Solutions)

เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมอื่นๆ กลุ่มยานยนต์ยังคงเข้ามาซื้อที่ดินเพิ่มในไทยเพื่อขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยที่ผ่านมามีการผลิตรถยนต์มากถึง 2 ล้านคันต่อปี แบ่งเป็นการขายในประเทศ 0.9-1 ล้านคัน นอกนั้นส่งออกไปต่างประเทศ

แผนการขยายการลงทุนของค่ายรถยนต์ต่างๆ

ฮอนด้า - หลังจากกลับมาเดินเครื่องผลิตที่นิคมฯ โรจนะแล้ว ยังมีแผนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์เพิ่มอีกแห่งหนึ่งในไทย เพื่อให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1.2 แสนคันต่อปี จากเดิม 2.4 แสนคันต่อปี

มิตซูบิชิ - วางแผนเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากรถยนต์รุ่นมิราจเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากหลังเปิดตัวในไทยเป็นครั้งแรก โดยบริษัทมีแผนกระจายการขายออกไปยังอาเซียน ญี่ปุ่น และยุโรปต่อไป

ฟอร์ด- เปิดโรงงานแห่งที่ 2 (ระยอง) เพื่อผลิต ฟอร์ด โฟกัส และจัดซื้อชิ้นส่วนยานยนต์ผ่านผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทย และผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญของอาเซียน

ฮีโน่- มีแผนดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของธุรกิจรถบรรทุกในภูมิภาค โดยเฉพาะการบริการ เพื่อรองรับ AEC

และล่าสุด เครือซีพี ได้ชักชวน เซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของจีนให้เข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ส่งขายตลาดอาเซียน

เงินลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI-Foreign Direct Investment) ที่ไหลเข้ามาจึงสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อศักยภาพของประเทศไทย ในการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของภูมิภาค โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การจัดตั้ง AEC 2) ภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่อยู่ติดกับประเทศสมาชิกอาเซียนทำให้สะดวกต่อการส่งออก 3) ไทยมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ดี 3) ไทยมีระบบ Supply chain ที่ครบวงจรในบางอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก ยานยนต์ 4) รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน เช่น จัดตั้งนิคมฯ อุตสาหกรรมพลาสติก การลดภาษีนำเข้า เป็นต้น

ปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้ไทยได้ประโยชน์จากเงินลงทุนเหล่านี้ ในรูปของการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ต่อประชากรสูงขึ้น และจะเกิดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพื่ออุปโภคบริโภคตามมาซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ความเชื่อมั่นในการลงทุนยังไม่เพียงแต่ส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาใน Real Sector เท่านั้น แต่ยังเข้ามาในรูปแบบ Portfolio Investment หรือการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น และพันธบัตร อีกด้วย

จากการที่ไทยเป็นแม่เหล็กของการลงทุนในภูมิภาค ทีมจัดการกองทุนของ บลจ.บัวหลวง จึงให้ความสำคัญต่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากเงินลงทุนเหล่านี้ โดยเฉพาะ Consumer Products เนื่องจากโครงสร้างส่วนใหญ่ของประชากรยังอยู่ในชนชั้นกลาง ซึ่งมีความต้องการและมีกำลังซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในระดับสูง

โดยทีมงานจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
จันทร์เพ็ญ กิตติเวทย์วิทยา
กำลังโหลดความคิดเห็น