โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
เศรษฐกิจโลก
• ยูโรสแตทเปิดเผยว่า การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนลดลง 0.8% ในเดือนเม.ย. หลังจากที่ปรับลดลง 0.1% ในเดือนก่อนหน้า และลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนที่ย่ำแย่ต่อเนื่อง
• อิตาลีประมูลขายพันธบัตร 1 ปี 6.5 พันล้านยูโร โดยให้ผลตอบแทนที่ 3.972% เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.340% ในการประมูลครั้งก่อนหน้าเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ขณะที่ความต้องการซื้อพันธบัตรสูงกว่าจำนวนที่เปิดประมูล 1.73 เท่า ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเมื่อเดือนก่อนที่ 1.79 เท่า
• สถาบันจัดอันดับเครดิต ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า ถ้ากรีซต้องออกจากยูโรโซน ธนาคารของชาติสมาชิกยูโรโซนที่เหลือจะได้รับผลกระทบโดยตรงในระดับปานกลาง แต่ผลกระทบโดยอ้อมจากการที่กรีซต้องเปลี่ยนไปใช้หน่วยสกุลเงินใหม่อาจรุนแรงมาก โดยเฉพาะสำหรับธนาคารสเปน และอิตาลี
ขึ้นอยู่กับว่าธนาคารเหล่านั้นลงทุนในสินทรัพย์ในกรีซมากน้อยเพียงใด
• ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ ลดลง 1.0% ในเดือน พ.ค.เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค 2552 ด้วยสาเหตุหลักจากราคาพลังงานที่ลดลงถึง 4.3% ในขณะที่ราคาอาหารก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน
• ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค.ปรับตัวลดลง 0.2% จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้างลดลง และเป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน ส่วนยอดค้าปลีกเดือน เม.ย.ถูกปรับเป็นหดตัว 0.2% (เดิมรายงานว่าขยายตัว 0.1%)
ดังนั้น ยอดค้าปลีกเดือน พ.ค.จึงปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี เป็นผลจากการที่ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น
• ธนาคารกลางบราซิลเตือนว่า วิกฤตทางการเงินทั่วโลกในปัจจุบันจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงมากกว่าที่คาดในช่วง 2 ปีข้างหน้าหรืออาจจะมากกว่านั้น และได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกจะขยายตัวขึ้น 2.3% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้เมื่อปลายปี 2554 ที่ 3% โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะเจริญเติบโตในระดับปานกลางระหว่าง 2.0-2.5% ซึ่งถือเป็นสัญญาณของการฟื้นตัว ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรปคาดว่าจะปรับลง 0.35% ในปีนี้
เศรษฐกิจเอเชีย
• รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศกฎระเบียบใหม่เพื่อยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าที่ใช้ในโรงงานผลิตรถยนต์อันเป็นการส่งเสริมการผลิตรถยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีต้นทุนต่ำ โดยปัจจุบันเก็บภาษีนำเข้าเครื่องจักรสำหรับผลิตรถยนต์ที่ 7.5-15%
ทั้งนี้ มาตรการเว้นภาษีจะมีผลเป็นระยะเวลา 4 ปี ทั้งการลงทุนครั้งใหม่และการลงทุนเพิ่มเติม
• กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.0% ต่อปีตามที่ตลาดคาด โดยให้ความเห็นว่า ....
ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านการขยายตัวมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลักคือปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อนั้นได้ลดลงตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ด้วยผลของการปรับขึ้นค่าแรงและราคาสินค้าจึงทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่ก็ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า
• คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานไม่ขยายเวลาการตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ออกไปอีก หลังจากที่ได้ตรึงค่าเอฟทีไว้เป็นเวลา 1 เดือนในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้ กฟผ.ต้องรับภาระตรึงค่าเอฟทีสะสมมากถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าตั้งแต่รอบเดือน มิ.ย.-ส.ค.จะปรับขึ้น 30 สต./หน่วย
• หอการค้าไทยสำรวจผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พบว่าผู้ประกอบการกว่า 80% ได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการที่สูงขึ้น จากยอดจำหน่ายสินค้าลดลงเพราะจำเป็นต้องขึ้นราคา ในขณะที่ประสิทธิภาพในการทำงานยังเท่าเดิม
ทั้งนี้ ได้ประเมินว่าการปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลให้ GDP จะปรับเพิ่มขึ้นได้อีก 0.5-0.7% ต่ำกว่าที่เคยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 1.1-1.4% เนื่องจากแรงงานที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นไม่ได้นำเงินไปใช้จ่ายเท่าที่ควร โดยเก็บออมมากขึ้นเพราะกังวลว่านายจ้างอาจจะปิดกิจการ หรือลดจำนวนคนงานลง
Equity Market
• SET Index ปิดที่ 1,158.22 จุด ลดลง 4.71 จุด หรือ -0.41% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 30,590 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 35 ล้านบาท โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ค่อนข้างทรงตัวในช่วงเช้า ก่อนที่จะถูกแรงขายในช่วงท้ายตลาด ในหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ที่นักลงทุนยังกังวลต่อความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก ในขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย
Fixed Income Market
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงทุกรุ่น โดยในรุ่นอายุต่ำกว่า 10 ปีลดลงระหว่าง -0.03% ถึง 0.00% ส่วนรุ่นที่อายุมากกว่า 10 ปีลดลงเพียงเล็กน้อย