เรกูเลเตอร์สนองนโยบายการเมืองตรึงค่าไฟให้ประชาชน 1 เดือนเฉพาะพฤษภาคมนี้ ทำให้เลื่อนการปรับค่าเอฟทีขึ้น 30 สตางค์ต่อหน่วยไปเป็นเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 55 แทน โยน กฟผ.รับภาระเพิ่มจากเดิมแบกหมื่นล้านเป็น 1.4 หมื่นล้านบาท “กฟผ.” ติงรัฐไม่ควรแทรกแซง
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเรกูเลเตอร์มีมติให้ตรึงอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (FT) ในเดือนพฤษภาคมเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรับภาระดังกล่าวคิดเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือลดค่าครองชีพประชาชนที่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีการใช้ไฟฟ้ามากเพราะอากาศร้อนซึ่งจะทำให้ประชาชนมีภาระด้านค่าไฟฟ้าสูงขึ้น
“เดิมค่าเอฟทีที่จะเรียกเก็บในบิลค่าไฟประชาชนรอบใหม่ คือพฤษภาคม-สิงหาคม 55 นี้เรกูเลเตอร์ได้เห็นชอบให้ปรับขึ้น 30 สตางค์ต่อหน่วยซึ่งสะท้อนตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากเห็นว่าเพื่อลดภาระประชาชนที่ช่วงเมษายน-พฤษภาคมเป็นช่วงอากาศร้อนประชาชนใช้ไฟมาก เมื่อค่าไฟแพงจะทำให้รายจ่ายสูงจึงให้คงค่าไฟเฉพาะเดือนพฤษภาคม 55 แต่หลังจากนั้นคือเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 55 ค่าเอฟทีก็จะปรับขึ้น 30 สตางค์ต่อหน่วยตามมติเดิม” นายดิเรกกล่าว
นอกจากนี้ ประกอบกับค่าเอฟทีรอบใหม่ที่มีมติขึ้น 30 สตางค์ต่อหน่วยได้เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนผ่านเว็บไซต์เรกูเลเตอร์ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน-4 พฤษภาคม 55 ที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาร่วมให้ความเห็นจำนวน 353 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าว 15% เห็นด้วยต่อการปรับขึ้นค่าเอฟที ไม่เห็นด้วย 39% และมีผู้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อวิธีการขึ้นค่าเอฟที 46%
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงแล้วค่าเอฟทีงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 55 จะต้องปรับขึ้น 57.45 สตางค์ต่อหน่วย แต่เรกูเลเตอร์ได้พิจารณานำเงินจากการลงทุนที่ต่ำกว่าแผนของ 3 การไฟฟ้ามาหักจำนวน 3,200 ล้านบาทคิดเป็นเงินเกือบ 6 สตางค์ต่อหน่วย รวมทั้งได้นำเงินจากปัญหาแหล่งก๊าซฯ เยตากุนหยุดจ่ายในช่วงวันที่ 8-18 เมษายน 55 จำนวน 1,418 ล้านบาทมาจ่ายคืนผ่านเอฟทีหรือคิดเป็น 2.64 สตางค์ต่อหน่วย และให้ กฟผ.รับภาระ 19.05 สตางค์ต่อหน่วยไปอีก 1 งวด ทำให้เอฟทีปรับขึ้นเพียง 30 สตางค์ต่อหน่วย
“เอฟทีที่ปรับขึ้น 30 สตางค์ต่อหน่วย กฟผ.ยังคงแบกรับภาระแทนประชาชน 10,200 ล้านบาทเมื่อตรึงค่าเอฟทีไปอีก 1 เดือนก็จะทำให้ กฟผ.แบกภาระเพิ่มเป็นประมาณ 14,000 ล้านบาท ส่วนภาระดังกล่าวการประชุมเพื่อพิจารณาค่าเอฟทีรอบใหม่คงจะต้องมาดูว่าจะเกลี่ยค่าเอฟทีอย่างไรในส่วนนี้” นายดิเรกกล่าว
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวแล้วไม่ต้องการให้รัฐทำเช่นนี้บ่อยๆ เพราะการแทรกแซงจะเสียกลไกและหลักการทำงาน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว กฟผ.คงจะต้องแบกรับภาระเพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท ดังนั้นก็คงจะต้องทำให้ กฟผ.ไปจัดสรรเงินกู้มาเพิ่มเติมอีก