xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News by บลจ.บัวหลวง วันที่ 17 พฤษภาคม 2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Good Morning News วันที่ 17 พฤษภาคม 2555
โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง

เศรษฐกิจโลก

• David Kotok (Cumberland Advisors) เขียนบทวิเคราะห์ล่าสุดว่า กรีซชะตาขาดไปแล้ว โปรตุเกสกับสเปนก็กำลังถูกฆ่าเพราะต้องจ่ายแพงขึ้นเพื่อกู้ยืม เหลืออิตาลีที่ต้องจับตามอง เพราะประเทศนี้เหมือนกับกอริลลาที่หนักถึง 800 ปอนด์ที่กำลังป่วยไข้เนื่องจากมีหนี้สูงถึง 120% ของ GDP และยังขาดดุลจำนวนมาก โดยมีเศรษฐกิจที่นอกจากจะไม่โตแล้วยังกำลังหดตัวอีกด้วย

นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรก็ไม่เอื้อให้ทำงบสมดุลได้ ทุกอย่างจึงแย่ลงไปทุกที และด้วยหนี้ขนาดมหึมาเป็นอันดับ 3 ของโลก การทดสอบประโยคที่ว่า ....

“มันใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มลงไป” ที่แท้จริงจึงอยู่ที่อิตาลี

พานายีโอติส พีครัมเมนอส ผู้พิพากษาอาวุโสของกรีซ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำรัฐบาลรักษาการ ซึ่งจะนำพากรีซไปสู่การเลือกตั้งรอบใหม่ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้

• ธนาคารกลางกรีซแสดงความกังวลต่อภาคธนาคารของประเทศหลังประชาชนยังคงถอนเงินออกจากธนาคารอย่างต่อเนื่องกว่า 700 ล้านยูโร (891 ล้านดอลลาร์) นับแต่มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมเพราะขาดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกในยูโรโซน

• นายกรัฐมนตรี แองเจลา เมอร์เคิล ของเยอรมนี และประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งเศส เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กรีซเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองและจูงใจให้ประชาชนกรีซเห็นด้วยกับการเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไป

• Mervyn King ประธานธนาคารกลางอังกฤษ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า วิกฤตในกลุ่มยูโรโซนมีทีท่าว่าจะแย่ลง และรัฐบาลกับธนาคารกลางอังกฤษได้เตรียมแผนสำรองไว้เรียบร้อยแล้วเพื่อรับมือกรณีที่วิกฤตอาจบานปลายไปจนควบคุมไม่ได้

• อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสเปนระยะ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.46% สะท้อนถึงความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อสถานการณ์ในยุโรปเกี่ยวกับวิกฤตหนี้อีกครั้ง

ทั้งนี้ หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสเปนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7% จะนับเป็นระดับที่น่ากังวลมากขึ้น

• อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนเดือนเมษายนลดลงมาอยู่ที่ 2.6% จาก 2.7% ในเดือนก่อนหน้า หลังการลงทุนและการบริโภคชะลอลงจากความหวั่นเกรงว่าวิกฤตหนี้ยุโรปจะรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับปกติในปี 2013 และเศรษฐกิจอาจเริ่มฟื้นในครึ่งปีหลังปีนี้ และ ECB จะสามารถคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปได้

• อัตราว่างงานของอังกฤษลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี (ระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค.) สู่ระดับ 8.2% เทียบกับที่คาดว่าจะทรงตัวที่ 8.3% บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นบ้างหลังรัฐบาลหวังพึ่งพาเอกชนในการจ้างงานเพื่อบรรเทาการลดงาน 700,000 ตำแหน่งของภาครัฐ ตามมาตรการรัดเข็มขัด

• รอยเตอร์เผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอการเติบโตลงในไตรมาสปัจจุบัน และการสร้างงานจะยังคงอยู่ในระดับอ่อนแอต่อไปก่อนที่จะเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดการณ์ว่ามีโอกาส 30% ที่ FED จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 หรือ QE3 ด้วยการพิมพ์เงินใหม่เพื่อเข้าซื้อตราสารหนี้สหรัฐฯ

• ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ขยับขึ้น 0.1% ในเดือนเมษายน บ่งชี้ว่าการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคอาจชะลอตัวลงในช่วงต้นไตรมาสนี้ เนื่องจากแรงหนุนจากภาวะอากาศอบอุ่นผิดปกติในฤดูหนาวจางหายไปแล้ว

อย่างไรก็ดี อุปสงค์พื้นฐานยังอาจแข็งแกร่ง โดยดัชนีการผลิตรัฐนิวยอร์กฟื้นตัวขึ้นในเดือน พฤษภาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทก่อสร้างบ้านทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี

เศรษฐกิจเอเชีย
 

• ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่สามารถซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลได้ตามเป้าหมายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่นำโครงการซื้อสินทรัพย์มาใช้เมื่อปี 2553 โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นเสนอซื้อพันธบัตรวงเงิน 6 แสนล้านเยน จากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ แต่ซื้อได้เพียง 4.80 แสนล้านเยน ชี้ให้เห็นว่าได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบมากกว่าที่สถาบันการเงินต้องการแล้ว ธนาคารกลางจึงอาจถูกบีบให้ทบทวนจุดยืนด้านนโยบายเสียใหม่

• ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเดือนมีนาคมลดลง 2.8% จากเดือนก่อนหน้า น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ว่าจะลดลง 3.5% แสดงว่าความต้องการเครื่องจักรอุตสาหกรรมเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในปีที่ผ่านมายังคงมีอยู่

• จีนยืนยันว่าไม่มีแผนเปลี่ยนสัดส่วนเงินกู้ต่อเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตาม หลังคณะกรรมการกำกับกฎระเบียบธนาคารจีน (CBRC) ตรวจสอบสาเหตุความผันผวนของอัตราการปล่อยสินเชื่อใหม่ เพื่อทำให้ธนาคารสามารถปล่อยกู้ในอัตราที่ต่อเนื่องมากขึ้น เนื่องจากอัตราการปล่อยสินเชื่อของธนาคารจีนชะลอตัวลงในเดือนเมษายนจากระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน โดยมีการปล่อยกู้ 6.818 แสนล้านหยวน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 8.00 แสนล้านหยวน

• ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้างไทยเริ่มปรับเพิ่มราคาขายที่อยู่อาศัยแล้ว 3-5% และอาจจะสูงขึ้นเกิน 10% ในทุกระดับราคาที่อยู่อาศัย เนื่องจากต้นทุนค่าแรงงานและวัสดุก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มในช่วง 8 เดือนข้างหน้า โครงการที่อยู่อาศัยแนวราบจะได้รับความสนใจมากขึ้นในการเปิดโครงการใหม่ เนื่องจากความมั่นใจของผู้บริโภคดีขึ้น

• ก.ล.ต.เร่งแก้กฎหมายฟอกเงินหลังไทยกำลังจะถูกขึ้นบัญชีดำจากคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการตามมาตรการทางการเงิน จากปัจจุบันที่ไทยถูกจัดเป็นพื้นที่สีเทาหรือเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการฟอกเงิน

ทั้งนี้ วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บัวหลวง กล่าวว่า หากไทยถูกขึ้นบัญชีดำจะมีผลกระทบมากทั้งในเรื่องของการส่งออกและนำเข้า และการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินต่างประเทศจะยากขึ้น ซึ่งจะต้องตรวจสอบทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น ทั้งยังอาจถูกปฏิเสธที่จะทำธุรกรรมด้วยก็ได้

• BOI เผยมูลค่าการลงทุนทางตรงของนักลงทุนต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้เป็น 1.55 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% จากงวดปีก่อน ทำให้คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ 6 แสนล้านบาท โดย 59% เป็นการขยายการลงทุนจากกิจการเดิมที่ได้ลงทุนอยู่แล้ว สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจสูงสุดอยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

• กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มั่นใจว่าปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจในยุโรปจะไม่กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และเชื่อมั่นว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะยังเติบโตได้ 15% ตามเป้าหมายที่วางไว้

Equity Market

• SET Index ปิดที่ 1,171.23 จุด ลดลง 13.32 จุด หรือ -1.12% มูลค่าซื้อขาย 33,391 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 172 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยยังทรงตัว ไม่หลุดระดับแนวรับที่ 1160 จุด แม้ว่าระหว่างวันจะลดลงถึงกว่า 30 จุด เนื่องจากมีความกังวลที่กรีซยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป

Fixed Income Market

• ธปท.เห็นว่ายังไม่ต้องเข้าไปดูแลค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงนี้ เนื่องจากความเคลื่อนไหวของเงินบาทในปัจจุบันยังไม่เป็นปัญหาและไม่มีผลกระทบอะไร เนื่องจากไทยมีทุนสำรองมากพอสมควร

• เงินหยวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังนักลงทุนลดความต้องการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงลง และซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น โดยบริษัทจีนเพิ่มปริมาณการถือครองดอลลาร์มากยิ่งขึ้นจากเดิมที่เมื่อได้ดอลลาร์มาก็มักจะขายออกไปในปริมาณมากให้แก่ธนาคารกลางจีน (PBOC) และธนาคารพาณิชย์ของจีนในทันทีเพื่อแปลงเป็นหยวน

อย่างไรก็ดี แนวโน้มดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงในช่วงระหว่าง -0.03 ถึง 0.01% และวันนี้จะมีการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 3 ปี วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท

Gold Corner

• นายกสมาคมค้าทองคำเชื่อว่า ราคาทองคำในตลาดโลกระยะสั้นยังเป็นขาลง และมีโอกาสปรับลดลงหลุดระดับต่ำสุดของปีก่อนที่ 1,522 เหรียญ/ออนซ์ โดยมองว่าจะปรับตัวลดลงถึงระดับ 1,500 เหรียญ/ออนซ์ เนื่องจากกองทุนในตลาดโลกขายทำกำไรเพราะไม่มีปัจจัยบวกใหม่สนับสนุน

• Bloomberg รายงานว่า นักลงทุนลดการถือครองทองคำลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยลดการถือครองในตลาดตราสารซื้อขายทองคำแล้วกว่า 30.8 ตัน และเทขายติดต่อกันนานที่สุดนับแต่ปี 2004 เนื่องจากหันไปถือครองเงินดอลลาร์แทนหลังกังวลประเด็นวิกฤตหนี้ยุโรป

 Guru Corner

• Seth Klarman ระบุว่า นักลงทุนใน Wall Street ยินดีที่จะลงทุนไปกับความผันผวนของตลาดทั้งขาขึ้นและขาลง แต่สำหรับเขาเองจะเน้นลงทุนด้วย Fundamentals เท่านั้น โดยไม่สนใจกับความผันผวนของตลาดในระยะสั้น และจะไม่ลงทุนอย่างไร้เหตุผลในภาวะที่ตลาดขึ้นกับการไหลเข้าออกของเงินทุน หรือขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากมีแต่การเก็งกำไรที่มากเกินไป เพราะตลาดอาจปรับขึ้นเพียงไม่กี่วันจากข่าวดีต่างๆ และจบลงอย่างรวดเร็วด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีจากยุโรปหรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล โดยที่ไม่มีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญเปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ยังชี้ว่า นโยบายของรัฐบาลที่กดดอกเบี้ยต่ำนานๆ เป็นการบังคับให้นักลงทุนเข้าหาสินทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ขณะที่ความเสี่ยงสูงขึ้น

- Nouriel Rubini

ถ้าประเทศเล็กๆ อย่างกรีซ ไซปรัส และโปรตุเกส ยอมปรับโครงสร้างโดยออกไปจากยูโรโซนยุโรปจะรอด แต่ถ้าปัญหาลามไปที่สเปนและอิตาลีจนไม่มีใครให้กู้ หรือให้กู้แต่ไม่เพียงพอที่จะไปพ้นปัญหาได้จริงจนสองประเทศนี้ต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน ยูโรโซนจะแตกไปเป็นเสี่ยงๆ

โลกกำลังจะเผชิญกับการชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะปะทะกับปัญหาใหญ่มากพร้อมๆ กัน 3 ด้าน จากยูโรโซน สหรัฐฯ และจีน ในปีหน้า

-Jim Rogers

ไม่มีตลาดใดในโลกที่เป็นกระทิงไปได้ตลอดกาล วงจรตลาดโภคภัณฑ์มันมาแล้วก็ไป เฉลี่ยแล้วเป็นกระทิงรอบละ 18-20 ปี ก็ไม่รู้ว่ามันจะไปเมื่อใด แต่มันยังไม่จบรอบในขณะนี้

ในปี 1918 อังกฤษร่ำรวยและมีอำนาจมากที่สุดในโลก แต่ก็ล้มละลายในเจเนอเรชันที่ 3

ไม่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะดีมากใน 2-3 ปีข้างหน้า ที่จริงแล้วปีหน้าจะย่ำแย่ และไปเละเทะที่สุดในปี 2014
กำลังโหลดความคิดเห็น