ศูนย์วิจัย “รวงข้าว” แนะจับตาจุดเปลี่ยนการเมืองในยุโรป อาจทำให้วิกฤตหนี้มีโอกาสยืดเยื้อ อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะต้องมีการเจรจาเพื่อหาจุดยืนร่วมกันรอบใหม่ ทั้งเรื่องแผนโรดแมปยูโรโซน และรายละเอียดของเครื่องมือต่อสู้วิกฤต เพราะผู้นำคนใหม่ อาจมีจุดยืนที่แตกต่างไปจากรัฐบาลเดิม
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยรายงานทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยประเมินความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศสมาชิกยูโรโซนหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะกรณีล่าสุด เกิดขึ้นในฝรั่งเศส และกรีซ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้วิกฤตหนี้ยุโรปมีโอกาสลากยาวออกไป ซึ่งเท่ากับว่า สถานะของยูโรโซนย่อมจะเกิดความสั่นคลอนมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกรีซ ซึ่งมีปัญหาหนี้สาธารณะ และต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแนวทางการรักษาวินัยทางการคลัง และการยอมรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
ขณะที่จุดเปลี่ยนทางการเมืองในฝรั่งเศส สะท้อนให้เห็นว่า การชูประเด็นหาเสียงที่แตกต่างไปจากแนวทางของรัฐบาลเดิมนั้น ได้รับการตอบรับจากภาคประชาชนมากขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจยูโรโซนต้องจมอยู่กับวังวนของวิกฤต และการแก้ไขปัญหาที่ไม่จบสิ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ดังนั้น นักลงทุนคงต้องติดตามพัฒนาการวิกฤตหนี้ต่อไป เพราะแม้ว่าประเทศสมาชิกยูโรโซนได้ให้การยอมรับ และตกลงในแผนโรดแมปของแนวทางการปฏิรูประบบยูโรโซน เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืน และหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤตรอบใหม่ไปแล้ว แต่การเปลี่ยนตัวผู้นำทางการเมืองของประเทศสมาชิกหลายๆ ประเทศ ก็อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะต้องมีการเจรจาเพื่อหาจุดยืนร่วมกันรอบใหม่ ทั้งเรื่องแผนโรดแมปยูโรโซน และรายละเอียดของเครื่องมือต่อสู้วิกฤตอื่นๆ เช่น กองทุนอีเอสเอ็ม ซึ่งผู้นำคนใหม่อาจมีจุดยืนที่แตกต่างไปจากรัฐบาลเดิม
ฉะนั้น พัฒนาการของวิกฤตหนี้ยุโรปยังคงมีโอกาสพลิกผันสูง อาจเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินยูโรและสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ในระยะข้างหน้า ท่ามกลางประเด็นความกังวลที่มาจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจ การคลัง และภาคธนาคารของประเทศสมาชิกอื่นๆ ในยูโรโซน โดยเฉพาะในสเปน และอิตาลี ตลอดจนประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองที่รวมถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อนางอังเกลา แมร์เคิล ในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งครั้งใหญ่ของเยอรมนีปี 2556 ซึ่งหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในเยอรมนี ในลักษณะเดียวกันกับฝรั่งเศส ก็อาจทำให้อนาคตของวิกฤตหนี้ยุโรปเผชิญสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น