xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มวงเงินเป็น1ล้านล้าน ปรับกองทุนประกันภัยช่วยSME

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คปภ.-คลัง คาดอีก 2 สัปดาห์ได้ข้อสรุปตั้งกองทุนประกันภัย หลังเปลี่ยนชื่อปรับเกณฑ์เป็น"กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ" เน้นคุ้มครองเอสเอ็มอีกับรายใหญ่เป็น 200 ล้านบาท พร้อมเพิ่มความคุ้มครองรวมเป็น 1 ล้านล้านบาท ชี้เอกชนสามารถปรับเพิ่มความรับผิดชอบเกิน 1% ได้หากต้องการ

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบและชื่อของกองทุนประภันภัยใหม่เป็น"กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ" หลังจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนองรองนายกรัฐมนตรีได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ เนื้อหาหลักๆได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยเงินกองทุนเริ่มแรกของเดิมกำหนดเอาไว้ที่ 50,000 ล้านบาท คุ้มครอง500,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เม็ดเงินจากเอกชน 2,000 ล้านบาท และรัฐบาล28,000 ล้านบาท รวมเป็น 30,000 ล้านบาท หากมีประชาชนมีความต้องการเพิ่มก็รัฐบาลก็จะนำเงินส่วนที่เหลือไปซื้อประกันภัยต่อในต่างประเทศสำหรับของใหม่ให้เพิ่มความคุ้มครองจาก 500,000 ล้านบาท เป็น 1ล้านล้านบาท

ส่วนเม็ดเงินกองทุนให้ยึดที่ 50,000 ล้านบาทเอาไว้ก่อน สำหรับภาคครัวเรือนของเดิมกำหนดความคุ้มครอง ครัวเรือนละ 100,000 บาทสำหรับของใหม่ ให้คงความคุ้มครองเอาไว้ที่ 100,000 บาท เหมือนเดิมเพราะมีจำนวนครัวเรือนในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1.3ล้านครัวเรือนซึ่งน่าจะเพียงพอกับความต้องการ

สำหรับเอสเอ็มอี ของเดิมกำหนด ความคุ้มครองเอาไว้ 20% ของทุนประกันและสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้กำหนดความคุ้มครองเอาไว้10%และไม่เกิน 50ล้านบาท ต่อราย ของใหม่ปรับเป็นเอสเอ็มอีกับภาคอุตสาหกรรมกำหนดความคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 200 ล้านบาทเพราะจำนวนเอสเอ็มอีมีอยู่ประมาณ 240,000 ราย ในจำนวนนี้ 220,000 รายมีทุนประกันคุ้มครองเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ล้านบาท ที่เหลือ มีทุนความคุ้มครอง100ล้านบาท 150 ล้านบาทและ 200 ล้านบาท ด้วย

นายประเวช กล่าวอีกว่า สำหรับการปรับรูปแบบกองทุนเนื่องจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องการให้เพิ่มความคุ้มครองสำหรับเอสเอ็มอีและรายใหญ่หรือภาคอุตสาหกรรมเป็น 200 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับระบบ ส่วนการกำหนดอัตราเบี้ยประกัน นั้น ขณะนี้ขอย้ำว่ายังไม่ได้กำหนดเพราะต้องดูอัตราเบี้ยประกันของประเทศเพื่อนบ้านด้วยว่าเป็นอย่างไรของเขามีอัตราเท่าไหร่ และมีต้นทุนเท่าไหร่ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้เช่นเดียวกันการทำประกันภัยต่อในต่างประเทศ

"ต้องรอดูว่าบริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศจะยึดเบี้ยในอัตราที่สูงอยู่หรือไม่อย่างไร หากยึดอัตราเบี้ยที่สูงก็ต้องทำการส่งเบี้ยประกันไปให้กับบริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศมากขึ้นหรือรีอินชัวเรอร์แต่เรื่องนี้รัฐบาลต้องเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติด้วยเพราะกองทุนนี้เป็นของรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับต่างชาติ"นายประเวชกล่าว

ทั้งนี้ เบื้องต้น ได้มีการหารือกับบริษัทประกันวินาศภัยในฐานะผู้ออกกรมธรรม์ และในฐานะผู้ที่เสนอขายกรมธรรม์ให้รับผิดชอบความเสียหายส่วนแรกไปไม่เกิน 1% ของความรับผิด เช่นความเสียหายอยู่ที่ 500,000 ล้านบาท บริษัทประกันภัยรับผิดไป 1% หรือ5,000 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่ง เอกชนบางรายอาจรับไปมากกว่า 1%ก็ได้ที่เหลือให้กองทุนฯรับไป แต่ขณะนี้ยังให้ยึดหลักการเดิมคือความเสียหายที่ 500,000 ล้านบาท เอาไปก่อน ส่วนความเสียหาย หรือความคุ้มครองที่ 1 ล้านล้านบาทนั้นรมว.คลังได้แสดงความคิดเห็นมาว่าควรจะเพิ่มความคุ้มครองซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปเป็นที่แน่ชัดว่าตกลงจะใช้ตัวเลขไหน

"เม็ดเงิน 50,000 ล้านบาท นั้นรัฐบาลเป็นคนให้มาประเดิมก้อนแรกส่วนของเอกชนที่รับไป1% นั้นไม่เกี่ยวกับรัฐบาลเพราะทุกกรมธรรม์ที่เสนอขายนั้น เอกชนรับเอาไว้ 1% ที่เหลือ99%ต้องส่งให้กับกองทุนเป็นผู้รับไป"นายประเวชกล่าว

นายประเวช กล่าวว่า ขณะนี้คปภ.อยู่ระหว่างดำเนินการในรายละเอียดทั้งหมดรวมถึงการสรรหาคณะกรรมการ กองทุน ประธานกองทุน และผู้จัดการกองทุนโดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์นับจากนี้จะได้ข้อสรุปทั้งหมด หรือประมาณ ต้นก.พ. ส่วนแนวทางการบริหารจัดการกองทุนนั้นจะต้องนำผลศึกษาของหลายประเทศมาดูว่ามีรูปแบบไหนบ้างแล้วนำมาประยุกต์ให้เข้ากับประเทศไทยหลังจากนั้นก็ต้องนำเสนอต่อรมว.คลังอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น