xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาหนี้อียูเริ่มส่งสัญญาณบวก แต่ระวังหุ้น-บอนด์ทั่วโลกยังผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฝ่ายวิจัยบลจ.กรุงไทย ประเมิน ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้น และตราสารหนี้ทั่วโลกยังผันผวนต่อ แนะนักลงทุนจับตาการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป พร้อมมองเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายได้ประมาณ 4.5% จับตากนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ขณะที่บล.เอเชียพลัส มองการแก้ปัญหาEU เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น

รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด ( มหาชน) มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจากที่ปัญหาน้ำท่วมได้คลี่คลายลง ประชาชนเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอย การบูรณะซ่อมแซมเริ่มต้นขึ้น ซึ่งนับเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 แต่ความรุนแรงของปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นซึ่งสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างน่าจะกดดันเศรษฐกิจไทยหลักจากแรงกระตุ้นจากการบูรณะซ่อมแซมอ่อนแรงลงไป

โดยรวมแล้วคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2555 น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4.5% แต่จากเศรษฐกิจที่โดยรวมแล้วยังอ่อนแอและแนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลงน่าจะทำให้กนง.มีพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งหนึ่งในการประชุมวันที่ 25 มกราคม นี้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นและคาดว่า กนง.น่าจะหยุดการปรับดอกเบี้ยในรอบนี้ไว้เพียงเท่านี้ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.0% ในถึงช่วงครึ่งปี แต่อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงท้ายปี 2555 เพื่อให้ดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ระดับปกติและเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่น่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีอันเป็นผลจากหลายนโยบายของรัฐบาล

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในเดือนมกราคม ฝ่ายวิจัยคาดว่าดัชนีฯแกว่งตัวอยู่ในกรอบเดิมและจะขึ้นไปทอดสอบที่บริเวณ 1,050 จุดอีกครั้ง ซึ่งจะผ่านได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของปัจจัยต่างๆที่ยังต้องติดตาม ได้แก่ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้ของกลุ่ม EU ซึ่งต้องจับตาดูการประมูลพันธบัตรของประเทศต่างๆและการประชุมร่วมกันระหว่างประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยผู้นำทั้งสองจะเจรจาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ใหม่ในการคุมเข้มวินัยด้านงบประมาณในกลุ่ม EU รวมถึงการประชุมของ 27 ชาติสมาชิกอียูในวันที่ 23 มกราคม และการประชุมสุดยอดผู้นำ EU ในวันที่ 30 มกราคมนี้

นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อประเทศฝรั่งเศสที่อาจจะถูก S&P ลดอันดับความน่าเชื่อถือลงรวมถึงอีก 6 ประเทศใน Eurozone อย่างไรก็ตามจะมีการเกร็งกำไรในหุ้นรายกลุ่มตามราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากควาวเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในประเด็นของอิหร่านและการคาดการณ์การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหลังน้ำลดเพื่อการฟื้นฟูจากผลกระทบที่เกิดจากภาวะน้ำท่วม รวมถึงปัจจัยบวกจากนโยบายที่ผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่อง

ฝ่ายวิจัยบลจ.กรุงไทย ระบุต่อว่า แนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในเดือนนี้น่าจะมีความผันผวนในกรอบแคบๆโดยอาจจะเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยในช่วงต้นเดือนจากแรงเทขายทำกำไร แต่ยังน่าจะปรับลดลงในช่วงใกล้การประชุมกนง.ในวันที่ 25 มกราคม จากการคาดการณ์ว่า กนง.จะปรับลดอกเบี้ยอีกครั้ง อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องติดตามเหตุการณ์ในยุโรปอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา หรือผลการประมูลพันธรัฐบาลประเทศต่างๆซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก

สำหรับสถานการณ์ราคาทองคำนั้น ความกังวลต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะในยุโรปยังจะเป็นปัจจัยที่กระทบการลงทุนในตลาดการเงินโลก ซึ่งรวมถึงตลาดทองคำด้วย ความกังวลที่รุนแรงขึ้นจะทำให้นักลงทุนลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและหันมาถือสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งรวมถึงทองคำด้วย

นอกจากนี้ความตรึงเครียดระหว่างอิหร่านและประเทศอื่นๆและเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึงน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนราคาทองคำในช่วงเดือนนี้ด้วย อย่างไรก็ตามการที่ราคาทองคำปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนอาจให้น้ำหนักกับทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยน้อยลง อีกทั้งการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่น่าจะได้รับประโยชน์จากปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปน่าจะจำกัด Upside ของราคาทองคำในเดือนนี้

ยุโรปเริ่มมีทางออก

ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุดของยุโรป ทางฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชียพลัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในการประชุมของผู้นำยุโรป คือ เยอรมันและฝรั่งเศส ได้ก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง โดยเตรียมจะกำหนดกรอบการดำเนินการนโยบายการคลังใหม่(budget rulebook) ซึ่งจะประกาศใน 30 ม.ค. นี้ พร้อมกับเตรียมเร่งที่จะเรียกเงินจากประเทศสมาชิกเข้ากองทุน (ราว 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) ในกลางปี 2555 ตามที่ได้ตกลงกันเมื่อ ธ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อช่วยระงับปัญหาวิกฤติการเงินในยุโรปมิให้บานปลาย ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปลายไตรมาสแรกของปี 2555 การเคลื่อนไหวเหล่านี้ถือว่าเป็นพัฒนาการเชิงบวกต่อบรรยากาศการลงทุน นอกจากที่
ก่อนหน้านี้ประเทศผู้นำเศรษฐกิจชั้นนำของโลก พร้อมใจกันที่จะอัดฉีดเงินให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกยุโรปที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยกดดันระยะสั้นยังมีอยู่ใน 2 ประเด็น

นอกเหนือจากปัญหาการเมื่อที่ใกล้เลือกตั้งใน 2 ประเทศผู้นำแล้วคือ 1. ท่าทีของ กรีซ ต่อแผนการอยู่ในกลุ่มยุโรปต่อไป พร้อมตัดลดงบประมาณให้สอดคล้องกับข้อเสนอของเจ้าหนี้ที่ให้ debt haircut 50% ตามเงื่อนไขในการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินรอบ 2 วงเงิน 159 พันล้านเหรียญยูโร ขณะที่วงเงินช่วยเหลือรอบแรก 110พันล้านเหรียญยูโรของรับไปแล้ว 7 ครั้งเป็นเงิน 50 พันล้านเหรียญฯยูโร ของกรีซ และ 2.การ Refinance หุ้นกู้ของประเทศสมาชิกในสภาพยุโรป โดยเฉพาะอิตาลี ที่ใกล้ครบกำหนด

โดยคาดว่าจะมีการออกหุน้ กู้ชุดใหม่ในวงเงิน 12 พันล้านเหรียญยูโร เป็นพันธบัตรอายุ 10 ปี ที่ตลาดคาดว่าอัตราผลตอบแทนอาจพุ่งขึ้นอีก 0.03% เป็น 7.16% เช่นเดียวกับสเปน ที่คาดว่าจะมีการออกพันธบัตรอายุ 3-4ปี ผลตอบแทน(yield curve) ราว 3.25-4.25% สิ่งเหล่านี้ยังคงกดดันค่าเงินยูโร แม้ในช่วงสั้น ค่าเงินยูโรอาจจะฟื้นตัวช่วงสั้นหลังจากที่แตะระดับต่ำสุดที่ 1.2671 เหรียญฯ โดยล่าสุดขึ้นมาที่ 1.277 เหรียญฯ อย่างไรก็ตามในสถานการณ์เศรษฐกิจในยุโรป มีแนวโน้มว่าอาจจะมีการปรับลด GDPลง และมีบางประเทศอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงโอกาสการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อทำให้มองว่าค่าเงินยูโรยังมีทิศทางขาลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งน่าจะเป็นสะท้อนว่าเศรษฐกิจโลกชะลอ และหุ้นในยุโรปน่าจะกดดันตลาดหุ้นโลกต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น