เหล่ากูรูประเมินเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงต่อเนื่องหลังปัญหาหนี้ยุโรปยังไม่คลี่คลายคาดต้องใช้เวลา 4-5 ปี ขณะที่สหรัฐฯยังต้องจับตาเรื่องการเลือกตั้งหากยังไม่เข้าที่เศรษฐกิจอาจเดินเข้าสู่ช่วงหน้าผาทางการคลัง พร้อมแนะรัฐบาลไทยเลิกเล่นการเมืองเตรียมรับมือความพร้อม AEC หลังเเหล่งทุนเคลื่อนไปพม่าแทน
นายสมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวสุนทรพจน์ในงาน KK Wealth Panorama ว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงมาก จากประสบการณ์วิกฤติเศรษฐกิจไทยเมื่อปี 2540 นั้นเรามองว่าปัญหาหนี้ยุโรปยังต้องใช้เวลาในการคลี่คลายประมาณ 4-5 ปี สิ่งที่เราจะต้องเจอคือความกลัวและความมั่นใจว่าจะเกิดเหตุการณ์ธนาคารล้มละลาย หรือจะมีบางประเทศออกจากการเป็นสมาชิกยุโรป ซึ่งที่ผ่านมาอียูพยายามประคับประคองปัญหาและช่วยระงับความกลัวที่นักลงทุนหลายคนกังวลโดยส่วนตัวมองว่าประเทศสมาชิก 17 ประเทศมีความเป็นอิสระต่อกัน ปัญหาและปัจจัยที่เกิดขึ้นก็แตกต่างกันซึ่งเราก็ยังมองไม่ออกว่าการแก้ปัญหาจะเป็นอย่างไร หากเปรียบเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งนั้นเรายังไม่เห็นการนำหนี้เสียออกจากระบบ ถ้าหากในช่วงนี้ข่าวดีมาก็จะทำให้ตลาดมีการปรับตัวขึ้นบ้าง
สำหรับประเทศไทยนั้นอาจจะต้องหันกลับมามองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะพึ่งพาการส่งออกเหมือนหลายปีที่ผ่านมาไม่ได้เเล้ว ต้องผลักดันนโยบายให้เติบโตจากภายใน ในส่วนการรับมือกับ AEC อีกไม่กี่ปีข้างหน้านั้นส่วนตัวมองว่าความพร้อมของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนนั้นอาจเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องจับตามองคือการเมืองระหว่างประเทศ
"ตั้งแต่จะมีการเปิดเสรี AEC จีนกับสหรัฐฯเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งประเทศที่จะได้รับประโยชน์การเปิด AEC มากที่สุดคือ ประเทศที่เล่นการเมืองระดับโลกส่งผลให้มีบทบาทรวมถึงมีเเหล่งทุนเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมากนั้นก็คือ พม่า ต้องยอมรับว่าพม่ามีแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์ แต่หลังจากที่อองซานซูจี มีการเดินสายไปทั่วโลก แหล่งทุนและความสนใจในพม่าก็มีมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ไทยเองยังมีเล่นการเมืองในประเทศกันอยู่" นายสมคิด กล่าว
นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เกียรตินาคิน จำกัด กล่าวว่า ปัญหาในยุโรปยังมีอยู่ต่อเนื่องซึ่งต้องจับตาว่าการแก้ปัญหานั้นจะมาออกมาในทิศทางไหน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงและความผันผวนค่อนข้างมาก ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯก็เติบโตค่อนข้างช้าภาวะการว่างงานก็ยังมีอยู่เช่นกัน ในส่วนของไทยเองรัฐบาลก็พยายามกระจายรายได้ มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือการกระตุ้นให้บริษัทขาดกลางและขนาดเล็กมีการระดมทุนได้มากขึ้น
ส่วนนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด มองว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลกับปัญหายุโรปแม้จะมีความหวังว่าเยอรมันนีกับ ECB จะมีแผนช่วยแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะกรีซว่าจะมีการเจรจาขอการปรับลดมูลค่าพันธบัตร หรือการทำ haircut ซึ่งหากทำได้ตามนั้นจริงนักลงทุนก็คลายความกังวลได้ แต่ถ้าหากกรีซมีปัญหาเจ้าหนี้ไม่เอาด้วยและออกจากยุโรปไป ก็คิดว่าน่าจะมีปัญหาในระดับหนึ่งแต่คงไม่หนักหนาเนื่องจากนักวิเคราะห์และตลาดมีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเช่นกัน
ทางด้านสเปนและอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 และที่ 4 ในยุโรปนั้นก็มีปัญหาเรื่องหนี้เสียเช่นกัน ซึ่งกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรปหรือ ESM จะเข้าไปซื้อพันธบัตรสเปนที่ประมูลใหม่ในตลาดแรก ส่วนตลาดรอง ECB จะเข้าไปซื้อต่อ ส่งผลให้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีลดลงจาก 6.5-7.0% เหลือ 4% หรือต่ำกว่านั้นและเช่นเดียวกับการให้ความช่วยเหลืออิตาลีซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี ซึ่งอยู่ที่ 6.0-6.5% นั้น สามารถปรับลดลงไปที่ 4% หรือต่ำกว่านั้นเช่นกัน
สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นก็ยังมีความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากต้องมีการใช้อำนาจรัฐสภาออกมาตรการลดภาษี ซึ่งหากไม่มีการต่ออายุจะเป็นการบีบให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยและโดนมาตรการรัดเข็มขัด อย่างไรก็ตาในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้จะมีการเลือกตั้งก็ต้องติดตามว่าภาพดังกล่าวจะออกมาเช่นใด ซึ่งหากสภาใหม่ยังไม่การลงมติหรือเกิดไม่พอใจผลการเลือกตั้งของบรรดานักการเมืองเก่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะเข้าสู่หน้าผาทางการคลัง ทำให้เกิดความไม่มั่นใจของผู้บริโภคและส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจเติบโตเพียง 1% ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้