กองทุนหุ้นใหญ่ปี 54 ผลตอบแทนโดดเด่น รับเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าช่วงปลายปี "บัวหลวง" ผลงานเด่นสุด ผลตอบแทนเป็นบวกถ้วนหน้า ในขณะที่ "เอ็มเอฟซี อิสลามิก ฟันด์" มาวินผลตอบแทนสูงสุดของปีที่ 17.79% ส่วนปีนี้ ยังต้องจับตาแนวทางแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทย แต่การลงทุนในตลาดหุ้นโดยรวมยังให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น โดยเฉพาะกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น ซึ่งพบว่าให้ผลตอบแทนสูงสุดในระดับสองหลัก สูงกว่าผลตอบแทนตลาดหุ้นไทย ที่พบว่าในปี 2554 ที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนรวมทั้งสิ้นเพียง 3.69%
ทั้งนี้ จากข้อมูลผลตอบแทนของกองทุนรวมทั้งปี 2554 ที่ผ่านมา แยกเป็นกองทุนรวมหุ้นที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) นั้น พบว่า กองทุนหุ้นในพอร์ตของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด ให้ผลตอบแทนเข้าวิน 5 อันดับแรกทั้ง 5 กองทุน โดยกองทุนเปิดบัวหลวงธนคม เป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ 16.90% อันดับ 2 กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ด้วยอัตราผลตอบแทน 15.18% อันดับ 3 กองทุนเปิดบัวหลวงร่วมทุน ด้วยผลตอบแทน 14.95% อันดับ 4 กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว ด้วยผลตอบแทนที่ 14.94% และอันดับ 5 กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล ด้วยผลตอบแทน 14.64%
ในขณะที่กองทุนหุ้นทั่วไป (Equity General) พบว่า กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อิสลามิก ฟันด์ ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ด้วยผลตอบแทน 17.79% อันดับ 2 กองทุนเปิด อเบอร์ดีน สมาร์ท แคปปิตอล เพื่อการเลี้ยงชีพ ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อเบอร์ดีน จำกัด ด้วยผลตอบแทน 9.11% อันดับ 3 กองทุนเปิด อเบอร์ดีน หุ้นระยะยาว ของบลจ.อเบอร์ดีนเช่นกัน ด้วยผลตอบแทน 8.95% อันดับ 4 กองทุนเปิด อเบอร์ดีน โกรท ของบลจ.อเบอร์ดีน ด้วยผลตอบแทน 8.57% และอันดับ 5 กองทุนเปิด อเบอร์ดีน สยาม ลีดเดอร์ส ของบลจ.อเบอร์ดีนเช่นกัน ด้วยผลตอบแทนในปีที่ผ่านมาที่ 8.54%
สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ ต้องบอกว่าค่อนข้างผันผวนอย่างมาก โดยมีปัจจัยความกังวลเกี่ยวปัญหาหนี้เสียในยุโรป รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ เป็นตัวแปรสำคัญ ทั้งนี้ จากการสำรวจผลตอบแทนกองทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทน 5 อันดับแรก พบว่า กองทุนที่ให้ผลตอบแทนอันดับ 1 ได้แก่ กองทุนเปิดทิสโก้ ยูเอส อิควิตี้ ฟันด์ ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด ด้วยผลตอบแทน 3.91% อันดับ 2 กองทุนเปิด ไทยพาณิชย์ แพลทตินัม โกลบอล ฟันด์ ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด ด้วยผลตอบแทน 3.20% อันดับ 3 กองทุนเปิดแอสเซทพลัสเอสแอนด์พี 500 (ASP-S&P500) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซทพลัส จำกัด ด้วยผลตอบแทน 2.40% อันดับ 4 กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล 35 สตาร์ ฟันด์ ของบลจ.เอ็มเอฟซี ด้วยผลตอบแทน 2.34% อันดับ 5 กองทุนเปิด อเบอร์ดีน เวิลด์ ออพพอร์ทูนิตี้ส์ ฟันด์ ของบลจ.อเบอร์ดีน ด้วยผลตอบแทน 1.67%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมการลงทุนในปี 2555 นี้ ยังต้องจับตาการแก้ปัญหาหนี้เสียของกลุ่มประเทศในยุโรป โดยก่อนหน้านี้ นายวีระ วุฒิคงศิริกูล รองกรรมการผู้จัดการผู้บริหาร สายจัดการลงทุน บลจ.กรุงไทย มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 55 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงมีความผันผวน โดยเฉพาะจากวิฤตหนี้สินในยุโรป ดังนั้นจึงแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งถือเป็น สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ให้เน้นที่ตราสารหนี้ระยะสั้นก่อน ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 55 คาดว่าดัชนีฯจะเคลื่อนไหวในกรอบ 900-1,200 จุด โดยมี P/E อยู่ที่ประมาณ 12 เท่า ใกล้เคียงปีนี้ โดยหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจเข้าไปลงทุนในปีหน้านั้นได้แก่ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ, กลุ่มพาณิชย์ และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่หลายฝ่ายประเมินว่าความต้องการสินเชื่อเพื่อการบริโภคจะลดลงจากผลกระทบ จากเหตุการณ์น้ำท่วม แต่อย่างไรก็ตามก็ยังจะมีความต้องการสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูกิจการเข้ามา ช่วยชดเชย
ในขณะที่นายกรวุฒิ ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ. ยูโอบี (ไทย) มองว่า ปัญหาของยุโรปเองจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศการลงทุนในปี 2555 อย่างต่อเนื่อง ขณะที่สหรัฐเองการฟื้นตัวยังดูดีกว่าฝั่งยุโรปมากพอสมควร ส่วนจีนเองมีแนวโน้มจะซบเซายาวต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มยูโอบีเองยังให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) มากกว่าตลาด โดยให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นตลาดสหรัฐเท่ากับตลาด และให้น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าตลาดในหุ้นยุโรป ขณะเดียวกันยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากกว่าตลาดเช่นเดียวกัน และมองว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันยังมีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่นใน ภูมิภาค ทั้งนี้ หากปัญหาในยุโรปคลี่คลายแล้วเม็ดเงินลงทุนต่างชาติมีการจัดสรรกลับมาลง ทุนในตลาดหุ้นเอเชียอีกครั้ง ตลาดหุ้นไทยก็จะได้รับอานิสงส์นั้นด้วย โดยบริษัทมองเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2555 ไว้ที่ประมาณ 1,200 จุด ปรับลดลงมาจากเดิมเล็กน้อยหลังจากที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา