xs
xsm
sm
md
lg

แนะระยะสั้นเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง เหตุปัญหาหนี้ยุโรปยังแก้ไม่สำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิเคราะห์กองทุนรวมแนะนักลงทุนหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงไปก่อน หลังปัญหาหนี้ยุโรปยังอยู่ในแนวโน้มเชิงลบ ส่วนการลงทุนระยะยาวยังแนะนำให้เก็บกองทุนตลาดเกิดใหม่เป็นหลัก

นายสานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล Fund SuperMart Analyst บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังคงถูกกดดันจากปัญหาหนี้ยุโรปเป็นหลัก โดยมีโอกาสที่ประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโรโซน (อาทิ ฝรั่งเศส,อิตาลี, สเปน และเบลเยียม) จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ขณะที่ฝรั่งเศสโดนปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของฝรั่งเศสลงสู่ แนวโน้มเชิงลบ เนื่องจากยุโรปยังไม่มีแผนการแก้ปัญหาหนี้ของตัวเองอย่างเบ็ดเสร็จ และนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อความเป็นไปได้ที่แผนกู้วิกฤติหนี้ยุโรปจะใช้ได้ผล การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงระยะสั้นแนะนำให้ระมัดระวัง Money Market Fund อย่าง PCASH ของ บลจ. ฟิลลิป ในช่วงท้ายปี เน้นปลอดภัยไว้ก่อนจะดีกว่า

ขณะที่แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เริ่มเห็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก หลังเราแนะนำขายน้ำมันไปแล้ว ส่วนราคาทองคำสัปดาห์ที่แล้วตกลงอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มไม่ดีนัก ใครคิดจะสะสมกองทุนทองคำตอนนี้แนะนำให้ชะลอการลงทุนดู สถานการณ์ในช่วงนี้ไปก่อน แม้ว่าเรายังเชื่อว่าระยะยาวราคาทองคำยังคงปรับตัวเป็นขาขึ้นอยู่ สำหรับการลงทุนระยะยาวยังคงให้เน้นการลงทุนไปยังกองทุนที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เป็นหลัก อย่างกองทุน ABPAC (Aberdeen AsiaPacific ex Japan) บริหารโดย บลจ. อเบอร์ดีน และ T-Global Bond Fund ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศของ บลจ. ธนชาต โดยให้สะสมเมื่อเห็นราคา NAV ปรับตัวลง

ส่วนการลงทุนในกองทุน LTF แนะนำให้ลงทุน KSDLTF (K-Strategic Defensive LTF) เหมือนเดิม สำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้แม้ว่า SETปลายปียังแข็งแกร่ง แต่เรากังวลความผันผวนในต้นปีหน้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ยุโรป ผลกระทบจากน้ำท่วม และคาดว่าอาจจะได้เห็นแรงขายจากกองทุน LTF ที่ครบกำหนด

อย่างไรก็ตามแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐจะฟื้นตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ถูกบดบังโดยปัญหาหนี้ยุโรปที่ยังคงสร้างแรงกดดันต่อไป ทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่างปรับตัวลดลง โดยการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปยังคงไร้ทิศทางที่ชัดเจน ขาดเอกภาพในการแก้ไขปัญหาส่งผลให้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในกลุ่มยูโรโซนมีโอกาสถูกปรับลด รวมไปถึงธนาคารต่างๆ ทั้งในยุโรป และสหรัฐ ที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือโดย ฟิทช์ เรทติ้งส์เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบ อาทิ โดยแบงก์ทั้ง 7 แห่งประกอบด้วย โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป, ดอยซ์ แบงก์ เอจี, บาร์เคลย์, เครดิต สวิส เอจี, แบงก์ ออฟ อเมริกา คอร์ป, บีเอ็นพี พาริบาส์, ซิตี้ กรุ๊ป

ทางด้านฝั่งสหรัฐเศรษฐกิจจะยังคงแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวและหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง19,000 ราย อยู่ที่ 366,000 รายแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 แต่ตอนนี้ตลาดให้ความสำคัญกับปัญหนี้ยุโรปเป็นหลัก ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก

สำหรับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาทองคำปรับตัวลงรุนแรงหลุดระดับแนวรับสำคัญหลายตัว ทั้งเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน และแนวรับสำคัญ1,600 US$/oz. ก่อนฟื้นตัวขึ้นมาปิด 1,597.49 US$/oz. (-6.91% WoW) ทำให้แนวโน้มระยะสั้น - ระยะกลางนักลงทุนควรระมัดระวัง ส่วนราคาน้ำมันหลังการประชุมOPEC จบลงพร้อมการปรับขึ้นกำลังการผลิต และขาดรายละเอียดเพดานการผลิตน้ำมันของประเทศสมาชิกที่ชัดเจน ส่งผลให้มีความกังวลว่าอุปทานจะปรับตัวเพิ่มขึ้นราคาน้ำมันจึงปรับตัวลดลง -5.91% ปิดที่ 93.53 US$/bbl. หลุดระดับแนวรับสำคัญเช่นเดียวกับราคาทองคำ
กำลังโหลดความคิดเห็น