xs
xsm
sm
md
lg

จับตาแผนแก้หนี้EUศุกร์นี้ คาดเห็นหุ้นทั่วโลกกลับมาเป็นขาขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล
นักวิเคราะห์กองทุนรวม แนะนักลงทุนจับตาการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ คาดมีข่าวดีออกมาหนุนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดกลับมาเป็นขาขึ้น แต่หากการประชุมล้มเหลวอาจส่งให้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกลุ่มยุโรป

นายสานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล Fund SuperMart Analyst บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราคาดว่านักลงทุนจะยังคงมุ่งความสนใจไปยังการประชุมสุดยอดยูโรโซนที่จะมีขึ้นในวันศุกร์นี้ ทำให้การปรับตัวยังคงอยู่ในกรอบจำกัดเพื่อรอความชัดเจนของแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป ซึ่งหากได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าจะได้เห็นตลาดกลับมาเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจนและเศรษฐกิจโลกมีโอกาสสูงที่จะหลีกเลี่ยงภาวะวิกฤติครั้งนี้ได้ แต่หากการประชุมล้มเหลว เราคงจะได้เห็นการปรับลดอันดับเครดิตเรตติ้งของกลุ่มยูโรโซน และความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติหนี้ยุโรปลุกลามจะมีมากขึ้น ดังนั้น เรายังคงแนะนำให้นักลงทุนระยะยาว ชะลอดูสถานการณ์ไปก่อนตามเดิม และเก็บสะสมเมื่อเห็นราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลดลงแล้วจะเป็นการดีกว่า

โดยยังคงเน้นให้สะสมกองทุนที่ลงทุนใน Emerging Market เป็นหลัก และหลีกเลี่ยงกองทุนยุโรป และกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในกลุ่มการเงิน (Financial Sector Fund)แต่สำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบความเสี่ยงเรายังมองว่าเป็นจังหวะดีที่จะถือกองทุนลุ้น “เก็งกำไร” ข่าวดีจากการประชุม ผ่านทาง IndexFunds ที่เราแนะนำต่อเนื่อง ได้แก่ ASP-S&P500 และ กองทุน ASP-HSI ของ บลจ. Asset Plus และกองทุนน้ำมัน K-OIL และ ASPOILอย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงยังคงมีสูงการเก็งกำไรยังต้องใช้ความระมัดระวัง

สำหรับนักลงทุน LTF แม้ว่า SETI จะผ่านแนวต้านสำคัญ 1,000 จุดไปได้ แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง แต่เรายังคงกังวลต่อภาพการลงทุนในช่วงต้นปีหน้า จากผลกระทบจากน้ำท่วม และเศรษฐกิจโลก ทำให้เรายังคงคำแนะนำ KSDLTF (K-Strategic Defensive LTF) สำหรับการลงทุน LTF ในช่วงที่เหลือของปีนี้

นายสานุพงศ์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองยังคงเป็นปัญหาหนี้ในยุโรป ที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยง โดยในสัปดาห์ก่อน FED และอีก 5 ธนาคารกลางของประเทศชั้นนำอาทิ ธนาคารกลางยุโรป, แคนาดา, อังกฤษ, ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมมือกันเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินยุโรป เพื่อป้องกันวิกฤติหนี้สาธารณะที่กำลังลุกลามมายังสถาบันการเงินของยุโรป ทำให้ลดแรงกดดันระยะสั้นที่เกิดขึ้นในตลาดเงินของยุโรป สินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นยุโรป และสหรัฐดีดตัวกลับแรงรับข่าวดีดังกล่าว นอกจากนี้ยังคงมีความคาดหวังที่จะได้เห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนของแผนแก้ปัญหาหนี้ยุโรปอย่างยั่งยืนในการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปในวันที่ 9 ธ.ค. เมื่อเยอรมัน และฝรั่งเศสเห็นพ้องกันเกี่ยวกับแผนแม่บทในการกำหนดวินัยด้านงบประมาณในยูโรโซน ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญของยุโรปปรับตัวขึ้นแรงในสัปดาห์ที่แล้ว

นอกจากนี้ความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปยังส่งผลดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐที่กำลังให้ความสนใจกับแนวทางการแก้ปัญหายุโรปเช่นเดียวกัน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐล่าสุดตลาดแรงงานยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการว่างงานเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวลดลงเกินคาดเหลือ 8.60% จาก 9.0% ในเดือนก่อนหน้า ลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐรอบที่ผ่านมา และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพฤศจิกายนยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 120,000 ตำแหน่ง จาก 80,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม

อย่างไรก็ตามปัญหาหนี้ยุโรปที่มีความหวังจะได้เห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นเอเชียโดยรวม แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนกลับเป็นตัวกดดันตลาดหุ้น Shanghai A-Share แม้ว่าจะมีการปรับลดการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์จีน (RRR) ลง 0.50% เหลือ 21% ก็ตาม แต่ยังคงมีแรงขายทำกำไรระยะสั้นและความกังวลด้านเงินเฟ้อในระดับสูง อาจทำให้การปรับลด RRRทำไม่ได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดหุ้นไทย SETI ได้รับอนิสงส์จากปัจจัยภายนอกทำให้ SET ผ่านแนวต้านสำคัญที่ระดับ 1,000 จุด ไปปิดที่ 1,029.37 จุด

ส่วนความร่วมมือของ FED และ 5 ธนาคารกลาง และยอดช้อปปิ้งสหรัฐช่วงวันขอบคุณพระเจ้าช่วย ทำให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง Dollar Index (DXYO) ปรับตัวลดลง 1.33% WoW หนุนราคาน้ำมันปรับพุ่งขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว แตะระดับ 100 US$/bbl. (+4.33% WoW) อีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับราคาทองคำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น +3.86%WoW ปิดที่ 1,744.39 US$/oz.

ทั้งนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 Bps. เหลือ3.25% ตามที่ได้คาดการณ์ไว้ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมต่อเศรษฐกิจรวมสร้างความเชื่อมั่น และมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้อีกหากจำเป็น ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงต่อตามแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 1 ปี ปรับลดลง -7 Bps. อยู่ที่ 3.16% ขณะที่พันธบัตรอายุ 5 ปีและ 10 ปี ปรับลดลงเช่นกัน -9 Bps. และ -8 Bps. ตามลำดับ สัปดาห์นี้เราคาดว่าจะยังคงเห็นการปรับลดลงของอัตราผลตอบแทนอยู่ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย
กำลังโหลดความคิดเห็น