บลจ.กสิกรไทย ประเมินเศรษฐกิจอินเดีย รับผลกระทบปัญหา "สหรัฐ-ยุโรป" น้อย มั่นใจยังแข็งแกร่งและเติบโตต่อได้ ระบุ 2 กองทุนแดนภาระตะ ยังน่าสนใจ ทั้งหุ้น-ตราสารหนี้ ย้ำแม้ผันผวน แต่จับจังหวะลงทุนได้
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจอินเดียว่า ท่ามกลางกระแสการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาภาระหนี้ของยุโรป และปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯ อเมริกา ทำให้นักวิเคราะห์ทั่วโลก ต่างต้องปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลง จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ 4 -5 % กลายเป็นเติบโตได้ประมาณ 3.0% - 3.5%อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่า เศรษฐกิจจะเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวบ้าง แต่ก็ยังคงมีอัตราการขยายตัวที่ดีกว่ายุโรปและอเมริกา เช่น จีน หรืออินเดีย ที่คาดการณ์ว่ายังคงสามารถคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในระดับ 7-8% ต่อปี สวนกระแสเศรษฐกิจตกต่ำในยุโรป และอเมริกา
ทั้งนี้ เมื่อมองลึกลงไปถึงอินเดีย จะพบว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของอินเดียปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่เศรษฐกิจขยายตัวค่อนข้างสูงโดยเงินเฟ้อปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2553 และอยู่ที่ระดับเหนือ 9% ตลอดตั้งแต่ปลายปี 2553 ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ รัฐบาลอินเดียจึงได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2553 มีการปรับขึ้น ดอกเบี้ยแล้วทั้งสิ้น 11 ครั้ง โดยปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 8% เปรียบเทียบกับระดับ 5.75% ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
และผลจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอินเดียปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยล่าสุด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอินเดีย 1 ปี ณ เดือนกันยายน 2554 อยู่ที่ประมาณ 8% (ในสกุลเงินรูปี) เมื่อเทียบกับระดับประมาณ 5% ในช่วงต้นปี 2553 หรือปรับขึ้นเกือบประมาณ 3% ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
บลจ.กสิกรไทย ระบุว่า จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ดึงดูดนักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ ให้เข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การเข้าถึงการลงทุนในตราสารหนี้อินเดียสำหรับนักลงทุนสถาบันต่างชาติ มีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติ จะต้องได้รับใบอนุญาตเพื่อเข้าลงทุน (Foreign Institutional Investor) จากสำนักงาน กลต.ของอินเดียก่อน และก่อนการลงทุนแต่ละครั้ง จะต้องเข้าประมูลวงเงินลงทุน ซึ่งรัฐบาลอินเดียจะมีการกำหนดไว้แต่ละครั้ง ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดเนื่องจากผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่วงเงินที่มีให้นักลงทุนต่างชาติมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากต่างก็เข้าร่วมประมูลวงเงิน จนต้นทุนในการประมูล (ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับรัฐบาลอินเดีย) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.0% - 1.50% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่อยู่ในระดับ 0.10% - 0.30% ของวงเงินที่จะได้จากการประมูล ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ของอินเดียโดยตรง แม้จะยังคงมีผลตอบแทนที่สูง แต่เมื่อหักกับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการประมูลแล้ว ผลตอบแทนสุทธิในรูปของสกุลเงินบาทจะไม่แตกต่างจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยมากเท่าใดนัก
ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย ยังคงเชื่อมั่นในภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศอินเดีย แม้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง เนื่องจากอินเดียมีสัดส่วนการบริโภคในประเทศสูงถึง 60% ของมูลค่าจีดีพีโดยประมาณ จึงมีการพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างประเทศค่อนข้างต่ำ อินเดียจึงได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปและอเมริกาค่อนข้างน้อย
ในปี 2553 บลจ.กสิกรไทย ได้ทำการออกกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้อินเดีย 2 ปีเอ และกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 1 ปีเอ ซึ่งมีการลงทุนในตราสารหนี้ของรัฐวิสาหกิจในอินเดียโดยมีการลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าวโดยตรง เนื่องจาก ณ ขณะนั้น ต้นทุนการประมูลวงเงินยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก แต่จากต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นในครั้งนี้ บลจ.กสิกรไทยต้องการจะให้ผู้ลงทุนได้รับโอกาสจากการที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้ของอินเดียที่ยังคงอยู่ในระดับสูง จึงมีการจัดตั้งกองทุนเปิดเค สมาร์ท ซีแอลเอ็น 1 ปีเอขึ้นมา
โดยกองทุนจะทำการลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงที่เป็น Credit Linked Notes (CLN) ซึ่งออกตราสารโดยธนาคารระดับโลกที่มีฐานะทางการเงินมั่นคง และมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าว จะอ้างอิงกับความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจของอินเดีย 5 แห่ง เปรียบเสมือนกับลงทุนในหุ้นกู้ของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวทางอ้อม โดยกองทุนจะได้รับเงินต้นและผลตอบแทน ตราบเท่าที่รัฐวิสาหกิจอินเดียที่อ้างอิง ชำระเงินต้นและผลตอบแทนของตราสารหนี้ทุกประเภทตรงตามกำหนด
สำหรับรัฐวิสาหกิจทั้ง 5 แห่งที่ตราสาร CLN จะเข้าไปอ้างอิง คือ Export Import Bank of India, State Bank of India, Power Finance Corporation Limited, Rural Electrification Corporation Limited, และ Indian Oil Corporation Limited ต่างก็เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐบาลอินเดียถือหุ้นใหญ่เกินกว่า 60% ทั้งสิ้น และมีอันดับความน่าเชื่อถือเทียบเท่ากับอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลประเทศอินเดีย จึงมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ และเมื่อพิจารณาในส่วนของผู้ออกตราสาร CLN ก็เป็นธนาคารระดับโลก ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ A- ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่ารัฐบาลไทย (BBB+) ประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มเติมจากการลงทุนใน CLN เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจดังกล่าวโดยตรง การลงทุนผ่าน CLN จะให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 0.50 - 0.80% ต่อปี โดยมีความเสี่ยงที่เพิ่มเติมเข้ามา คือความเสี่ยงของผู้ออกตราสาร CLN
ทั้งนี้ ในแง่ของสภาพเศรษฐกิจอินเดียแล้ว ผลจากการที่ธนาคารกลางอินเดียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มจะมีแนวโน้มลดลง โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2554 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 9.2% และคาดการณ์ว่า ธนาคารอินเดียอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียงแค่ 1 ครั้งในปีนี้ ดังนั้น อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอินเดียก็ไม่น่าจะปรับขึ้นได้อีกมากนัก
สำหรับการลงทุนในหุ้น แม้เศรษฐกิจอินเดียจะยังคงค่อนข้างแข็งแก่รงและเติบโตได้ดี แต่ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นอินเดีย ก็ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นโลกเช่นเดียวกัน โดยตลาดหุ้นอินเดียในเดือนสิงหาคม ปรับตัวลดลงกว่า9% อย่างไรก็ดี จากมุมมองระยะยาวที่เป็นบวกของเศรษฐกิจอินเดีย ที่คาดว่าจะคลายความกังวลจากปัญหาเงินเฟ้อ ตลาดหุ้นอินเดียก็ยังคงมีแนวโน้มที่ดีในระยะยาว แต่จะผันผวนค่อนข้างมากในระยะสั้น โดยผู้ลงทุนสามารถจับจังหวะที่ตลาดหุ้นมีการอ่อนตัวเพื่อเข้าลงทุนในหุ้นอินเดีย ผ่านกองทุนเปิดเค อินเดีย หุ้นทุนได้