xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นถูกปรับลดอันดับเครดิต! Kassetมองไม่ถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นก็อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เนื่องมาจากการชะงักงานของการผลิต และการบริโภคในประเทศ ทำให้ในเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ได้ออกมาเปิดเผยว่า

ในที่สุด Moody’s ก็ได้มีการประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่น จากระดับ Aa2 มาอยู่ที่ Aa3 โดยยังคงมีมุมมองเป็น “มีสเถียรภาพ - stable” อยู่ โดยให้เหตุผลหลักจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งนี้ ว่ามาจากยอดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลต่อ GDP ของประเทศ ที่อยู่ในระดับสูง รวมไปถึงอัตราส่วนหนี้สินของรัฐบาลต่อ GDP ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสูงที่สุดในโลก ในระดับเกือบ 200%

นอกจากนี้ Moody’s ยังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ก็จะเป็นอุปสรรคเพิ่มเติมที่ทำให้แผนการลดการขาดดุลงบประมาณ และสัดส่วนภาระหนี้ของประเทศญี่ปุ่นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากคาดการณ์ว่า รัฐบาลญี่ปุ่น จะต้องมีการใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก ในการเข้ามาฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว

หลังจากมีการประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นแล้ว ตลาดก็ไม่ได้มีการตอบรับในทางลบมากนัก โดยราคาทองคำในเช้าวันที่ 24 กรกฎาคม 2554 ก็ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ระหว่าง 1840 - 1850 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่น รวมไปถึงเอเชียเอง ปิดตลาดในช่วงเช้า แม้จะมีการปรับตัวลดลงบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรนัก โดยปิดครึ่งเช้า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลงเพียง 0.25% เท่านั้น

สาเหตุที่ตลาดไม่ได้ให้น้ำหนักกับการปรับลดน้ำหนักญี่ปุ่นมากนักเนื่องจากปัจจัยหลักๆ 2 ประการคือ การที่ตลาดได้มีการคาดการณ์การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นไว้อยู่แล้วตั้งแต่ที่ Moody’s ได้ออกมาเตือนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อีกประการคือ ตลาดให้ความสำคัญกับประเด็นมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะมีการประชุมธนาคารกลางในวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2554 มากกว่า

ทั้งนี้ เมื่อดูลึกไปถึงเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีการปรับตัวลดลงเพียงแค่ 0.30% จากไตรมาสแรก ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้เยอะมาก เนื่องจากรัฐบาล ได้เริ่มมีการกระตุ้นการใช้จ่าย และฟื้นฟูการผลิตในประเทศในช่วงปลายไตรมาส ประกอบกับภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่หยุดชะงักลงไป ก็ได้เริ่มมีการกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นในปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รวมไปถึงยอดการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยมาจากการซื้อและจับจ่าย เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือนในช่วงภัยพิบัติ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มียอดการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า จากการที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาฟื้นฟูระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค เช่นถนน บ้านเรือน ก็จะทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และช่วยในการเติบโตของประเทศ

ในส่วนของปัญหาหนี้ แม้ว่าญี่ปุ่นเอง จะเป็นประเทศที่มีหนี้ในระดับสูง แต่ทั้งนี้ หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ภายในประเทศ ที่มีการกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก (อัตราดอกเบี้ยนโยบายในญี่ปุ่น อยู่ในระดับเกือบ 0%) โดย Moody’s ยังได้ให้เหตุผลสนับสนุนการคงอันดับมุมมองเป็นมีเสถียรภาพของญี่ปุ่นว่า ได้รับปัจจัยบวกจากการที่คนญี่ปุ่นมีลักษณะเฉพาะตัวที่ยังคงเชื่อมั่นในรัฐบาลของตนมาก ทำให้รัฐบาลยังคงสามารถกู้ยืมได้เพิ่มจากการออกพันธบัตรรัฐบาล แม้อัตราผลตอบแทนจะต่ำมากก็ตาม ทำให้แม้จะมีหนี้สูง แต่ Moody’s ก็ยังคงอันดับเพดานความน่าเชื่อถือสูงสุด (Credit Ceiling Rating) ของประเทศญี่ปุ่นไว้ที่ระดับ AAA ก่อนที่ปัจจุบันจะมีการปรับอันดับความน่าเชื่อถือลงมาก็ตาม

กองทุนของ บลจ.กสิกรไทยที่มีสัดส่วนการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมี 3 กองทุนคือ K-GLOBE, K-GA และ KSFTD3YA โดยในส่วนของ K-GLOBE มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นเพียงแค่ประมาณ 3% เท่านั้น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ 8% ในขณะที่กองทุน K-GA มีสัดส่วนในหุ้นญี่ปุ่นประมาณ 6% ซึ่งในช่วงตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กองทุนทั้งสองกองทุน ได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก มากกว่าผลกระทบในญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียว

ในส่วนของกองทุนเปิดเค สมาร์ท เอฟทีดี 3 ปี เอ (KSFTD3YA) ซึ่งมีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของรัฐบาลต่างประเทศ รวมไปถึงญี่ปุ่นนั้น ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากกองทุนดังกล่าว เป็นกองทุนที่มีการถือครองจนครบกำหนดอายุ 3 ปี โดยมีเงื่อนไขว่า หากประเทศใดประเทศหนึ่งที่อ้างอิง (ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย และเกาหลีใต้) ไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ของภาครัฐก่อนระยะเวลาครบกำหนดอายุ กองทุนก็จะได้รับคืนเงินต้นพร้อมผลตอบแทนตามที่กำหนดไว้ บลจ.กสิกรไทยมองว่า โอกาสที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะผิดนัดชำระหนี้ จึงอยู่ในระดับต่ำ แม้จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมา ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุน ตราบใดที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น