อเบอร์ดีนชูบอนด์ตลาดเกิดใหม่ผลตอบแทนยังดี แม้กระทบชิ่งเศรษฐกิจสหรัฐ-ยุโรปถดถอย เหตุอัตราส่วนหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมอยู่ในระดับต่ำ พร้อมประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยไทย แบงก์ชาติจะคงอาร์พิรรอบเดือนตุลาคมนี้ ก่อนปรับขึ้นอีก 0.25% ปลายปี
นายพงค์ธาริน ทรัพยานนท์ หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์การลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกว่า นักลงทุนทั่วโลกได้หันมาให้ความสนใจในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทและรัฐบาลในกลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการประกาศปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯโดยบริษัทจัดระดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor’s (S&P) จาก AAA เป็น AA+พร้อมแนวโน้มระยะยาวที่เป็นลบในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งการปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯได้ถูกประกาศออกมาพร้อมๆกับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังตามด้วยประกาศจากธนาคารกลางสหรัฐฯว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ประมาณศูนย์เปอร์เซ็นต่อไปจนถึงปี 2556
ทั้งนี้ จากสัญญาณดังกล่าว ทำให้ตลาดเกิดความผันผวนอย่างมากโดยนักลงทุนได้เทขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและสับเปลี่ยนการลงทุนมายังพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯถึงแม้ว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯจะถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือก็ตามซึ่งส่งผลทำให้อัตราผลแทนของพันธบัตร อายุ 10 ปีที่ออกโดยรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวลดลงอย่าวรวดเร็วไปอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ อัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับต่ำของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯและประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆส่งผลให้นักลงทุนมองหาการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนที่เป็นที่น่าพอใจในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทและรัฐบาลในกลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่นั้นเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะประเทศเหล่านี้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมอยู่ในระดับต่ำและมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงในขณะที่อัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้นั้นก็อยู่ในระดับสูงกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
นายพงค์ธาริน กล่าวต่อว่า ในส่วนของกองทุนเปิดอเบอร์ดีน โกลบอล อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตส์ บอนด์ ฟันด์ ซึ่งเป็นกองทุนหลักที่กองทุนเปิดอเบอร์ดีน อีเมอร์จิ้ง ออพพอร์ทูนิตี้ส์ บอนด์ ฟันด์ เข้าไปลงทุนและมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ประเทศเกิดใหม่นั้น พอร์ตการลงทุนปัจจุบันให้น้ำหนักไปที่ประเทศเกิดใหม่ในแถบละตินอเมริกา โดยมีสัดส่วนการลงทุนประมาณ 44% ของพอร์ต ในยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกาประมาณ 35% และอีก 17% ในประเทศเกิดใหม่แถบเอเชีย ซึ่งไม่รวมไทย
ทั้งนี้ การที่พอร์ตลงทุนมีน้ำหนักในแถบละตินค่อนข้างมาก เนื่องจากเรามองว่าในอนาคต หลายประเทศเริ่มมีสัญญาณการหยุดขึ้นดอกเบี้ยและลดดอกเบี้ยลงแล้ว ดังนั้น เราจึงยังคงให้น้ำหนักลงทุนมากกว่าตลาด (Over Weight) ซึ่งต่างจากตราสารหนี้ในเอเชีย ที่เราให้น้ำหนักน้อยกว่าตลาด (Under Weight) ราคาค่อนข้างแพง ประกอบกับในบางประเทศ อย่างเช่น อินโดนีเชีย ที่มีแนวโน้มการเพิ่มอันดับเครดิตไปสู่ระดับ Investment Grade รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม เรามีการเพิ่มน้ำหนักลงทุนในเวียนนาม 1% จากเดิมที่ไม่มีอยู่ในพอร์ต เนื่องจากเรามองว่าอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุดแล้ว และมีแนวโน้มลดลงในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า พร้อมกับการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางเวียดนามในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า
ส่วนความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในช่วงนี้ นายพงค์ธารินกล่าวว่า แน่นอนว่าหากเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปถดถอยอีกครั้ง ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์(คอมมอดิตี) อย่างไรก็ตาม ประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ ยังมีความแข็งแกร่งในแง่ของการแหล่งเงินทุนได้มากกว่า เพราะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามเช่นกัน เพราหากเศรษฐกิจจีนลดความร้อนแรงลงมากๆ ก็อาจจะกระทบต่อการส่งออกของประเทศในเอเชียด้วยกัน รวมถึงกลุ่มประเทศในแถบละตินและแอฟริกา ที่จีนออกไปลงทุนค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของอเบอร์ดีนเอง มองว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวแบบรุนแรงนั้นมีค่อนข้างน้อย อย่างแย่ในปีหน้าอาจจะขยายตัวในอัตรา 8% ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยของจีนเองก็มองว่าจะหยุดนิ่งแล้ว
สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย นายพงค์ธาริน กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยหลังจากนี้ ยังคาดเดาได้ยาก เนื่องจากสัญญาณจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เอง ยังไม่แน่ใจว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะมีการปรับขึ้นอีกครั้ง 0.25% ในเดือนธันวาคม โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบหน้าเดือนตุลาคม กนง.จะยังเป็นการคงดอกเบี้ยเอาไว้ก่อน ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1ครั้งในปีนี้ จะเป็นระดับที่สูงสุดแล้วหรือไม่นั้น คงต้องรอดูตัวเลขการส่งออกของไทยอีกครั้งว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าจะออกมาเป็นอย่างไร จึงจะประเมินได้อีกครั้ง สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนเปิดอเบอร์ดีน อีเมอร์จิ้ง ออพพอร์ทูนิตี้ส์ บอนด์ ฟันด์ ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (1ก.ย.) อยู่ที่ 9.59% และย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 6.48% โดยตั้งแต่วันที่ 7 กันยายนเป็นต้นไป บลจ.อเบอร์ดีน จะลดค่าธรรมเนียมการซื้อหน่วยลงทุนจากเดิม 1.50% มาอยู่ที่ 1%